xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอสโชว์บทบาทการทำงานสู้โควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีอีเอสเผยผลงานร่วมใจสู้โควิด-19ประสานงานทุกมิติสอดรับการใช้เทคโนโลยีช่วงโควิดเอื้อประชาชน ภาครัฐ เอกชนและบุคลากรทางการแพทย์

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่าในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีอีเอส มีบทบาทที่สำคัญหลายด้านในการทำหน้าที่ทั้งการประสานงานและการบริหารจัดการให้มีการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในภาวะที่ทุกคนต่างต้องทำงานอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อ ตลอดจนเป็นหน่วยงานหลักในการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนเพื่อนำเทคโนโลยีบริการสู่ประชาชนและสร้างงาน สร้างอาชีพบนโลกออกไลน์

***สนับสนุนใช้เน็ต-โทรฟรี

ดีอีเอส ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.),ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ(โอเปอเรเตอร์)และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต(ไอเอสพี)สนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากการโทรคมนาคมให้มากที่สุดทั้งในการทำงาน การเรียนออนไลน์และการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการอยู่บ้านโดยเปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ฟรี 10GB ภายในเวลา 30 วัน และ ผู้ใช้บริการ1คนจะได้รับสิทธิ์1หมายเลขเปิดให้ใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 10 - 30 เม.ย. 2563

รวมถึงเรื่องการแบ่งเบาภาระลดค่าใช้จ่ายค่าโทรศัพท์มือถือให้ประชาชนโดยประชาชนสามารถเข้ามาลงทะเบียนเพื่อยืนยันสิทธิ์ในการโทรฟรี 100 นาทีเป็นระยะเวลา 45 วันโดยลงทะเบียนระหว่างวันที่ 1- 15 พ.ค. 2563 เมื่อลงทะเบียนแล้วจะได้ SMS ยืนยันสิทธิ์ นับตั้งแต่วันที่ได้SMSเป็นเวลา45วันจะโทรในเครือข่ายใดก็ได้ฟรี 100 นาที ซึ่งประชาชนทุกคนจะได้สิทธิ์นี้ ยกเว้นกลุ่มที่จดทะเบียนในนามนิติบุคคล และผู้จดทะเบียนที่เป็นชาวต่างชาติ


ขณะเดียวกันยังได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดคือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) สนับสนุนการให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน ในราคาถูก โดยจัดแพ็กเกจ “เน็ตอยู่บ้าน” สนับสนุนการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) และการเรียนการสอนออนไลน์ในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา สอดคล้องกับแนวทางอยู่บ้านหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ซึ่งเป็นบริการติดตั้งอินเทอร์เน็ตสำหรับที่อยู่อาศัย(Fixed Broadband) ความเร็ว100/50 Mbps ซึ่งจะให้บริการฟรีแก่ประชาชนเป็นเวลา 3 เดือน หลังจาก 3 เดือน เสียค่าบริการเพียง 390บาทต่อเดือน ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าบริการปกติทั่วไป โดยมีระยะเวลาสัญญา 12 เดือน

สำหรับผู้ที่สมัครใช้บริการ 100,000 รายแรกโดยได้เปิดให้สมัครรับสิทธิ์แพ็กเกจดังกล่าวตั้งแต่วันที่15พ.ค. – 31ก.ค. 2563 ล่าสุดมีประชาชนสนใจขอติดตั้งแพ็กเกจดังกล่าวมาแล้ว รวม 6,601 รายแบ่งเป็น กสท โทรคมนาคม 3,713 ราย(ข้อมูล15 พ.ค.) และ ทีโอที 2,888 ราย (ข้อมูล 18 พ.ค.) และติดตั้งเรียบร้อยแล้ว 1,239 ราย

***สนับสนุนการ Work From Home

ในฐานะที่ดูแลเศรษฐกิจดิจิทัลโดยตรง ดีอีเอส จึงได้จัดเตรียมแพลตฟอร์มการทำงานออนไลน์เพื่อให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถทำงานจากที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมกับไอเอสพี 6 ราย ได้แก่ TOT,CAT,AIS,TRUE,DTACและ 3BB พร้อมทั้งผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน จำนวน 4 ราย ได้แก่ Cisco, Microsoft, Google และ LINE สนับสนุนระบบการประชุมออนไลน์(e-Meeting) สำหรับการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.onde.go.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจากระยะเวลาการเปิดให้ลงทะเบียนจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจลงทะเบียนทั้งสิ้น 865 หน่วยงาน และมีจำนวนการขอลงทะเบียนผู้ใช้งาน (Users) ทั้งสิ้น 682,152 ผู้ใช้งาน นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สดช.)ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประชาสัมพันธ์และให้คำปรึกษาเบื้องต้น โดยได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติราช การนอกสถานที่ และคู่มือการใช้งานแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องซึ่งหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการนอกสถานที่ได้ทันที

***จัดแอปและแพลตฟอร์มเพื่อการเปิดเมือง

พุทธิพงษ์ กล่าวว่า เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในขณะที่กำลังมีการคลี่คลายมาตรการต่างๆจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆเพื่อให้สามารถป้องกันการแพร่ระบาดหรือตามหาเส้นทางการเดินทางของไวรัสได้ หากเกิดการระบาดขึ้นอีกระลอก ได้แก่ แอปพลิเคชัน ‘ไทยชนะ’ เป็นแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการเปิดธุรกิจ สถานประกอบการต่างๆอย่างปลอดภัย โดยมีส่วนของร้านค้าหรือสถานประกอบการ ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมของสถานที่ให้เหมาะสม และลงทะเบียนเพื่อรับ QR Code และจัดเตรียม QR Code ที่ทางเข้าออก และจุดชำระเงิน เพื่อให้ประชาชนสามารถสแกนได้และส่วนของประชาชนซึ่งจะต้อง check in ก่อนเข้าใช้บริการในร้านค้าและ check out เมื่อออกจากร้าน


เพื่อที่จะสามารถทราบจำนวนคนที่เข้าใช้บริการในร้านแบบเรียลไทม์ได้เพื่อควบคุมจำนวนผู้ใช้งานในสถานที่ต่างๆณ เวลาหนึ่ง ไม่ให้มีความหนาแน่นมากเกินไป และนอกจากนี้หากพบว่ามีผู้ติดเชื้อมาใช้บริการ จะสามารถติดต่อผู้ที่เข้าใช้บริการในสถานที่นั้น ในเวลาใกล้เคียงกัน ให้ทราบ และมีการ quarantine ผู้มีความเสี่ยงได้ และยังสามารถใช้ QR Code ในการชำระค่าบริการ เพื่อลดการสัมผัสเงินสด และเมื่อลูกค้าทำการ check out ออกจากร้าน จะสามารถทำแบบสอบถามสั้นๆ เพื่อประเมินการป้องกันความปลอดภัยในร้านดังกล่าวได้ โดยข้อมูลที่ถูกเก็บของผู้เข้าใช้บริการจะเป็นข้อมูลแบบมีรหัส ซึ่งต้องเป็นหน่วยงานและผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้นถึงจะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้นได้ อีกทั้งได้กำหนดระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลไว้เพียง 60 วัน


โดยระบบไทยชนะได้เปิดให้ใช้งานวันแรกเมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากห้างร้าน และผู้ใช้บริการ ซึ่งในวันที่ 17 พ.ค. มีร้านค้าที่เข้าร่วม43,000ร้านค้าทั่วประเทศ และมีผู้ใช้งานทั่วประเทศ 2 ล้านกว่าคนใช้บริการเฉลี่ยประมาณ 4,000 คนใน 1 นาที และมีการปรับปรุงระบบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มบริการ ภาษาอังกฤษและภาษาจีน เป็นต้น


ขณะที่แอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ เป็นแอปให้ประชาชนประเมินตัวเอง จากการทำแบบสอบถาม และการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากประวัติของการเดินทาง การติดต่อกับผู้มีความเสี่ยง เพื่อที่จะทราบความเสี่ยงของตนเองแบ่งตามรหัสสีและจะมีการแจ้งให้ทราบหากคนที่ได้มีการติดต่อมามีการติดเชื้อ ทำให้ประชาชนรู้ความเสี่ยงของตนเองจะได้ปฏิบัติตัวได้เหมาะสม ได้รับการรักษาเร็วขึ้น และแพทย์จะรู้ความเสี่ยงของคนไข้โดยไม่สามารถปกปิดได้มีการเข้ารหัสของข้อมูล และมีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยคนจากทุกภาคส่วนในการควบคุมการเข้าถึงข้อมูล และระบบจะใช้เพื่อการประเมินความเสี่ยงโควิด-19 เท่านั้นหลังจากนั้นจะลบข้อมูลทิ้ง
แอปพลิเคชันหมอชนะ เกิดจากความร่วมมือของคนหลายกลุ่ม หลายภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ โดยดีอีเอสได้เข้ามาสนับสนุน ในการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง นอกจากนี้ แอปพลิเคชัน นี้เป็น open source ที่เปิด public ให้คนช่วยเข้ามาต่อยอดการใช้งานได้


ในส่วนของการติดตามตัวกลุ่มเสี่ยงก็มีแอปพลเคชัน ‘AOT Airports’ ใช้ติดตามนักเดินทางทุกคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจากทุกสนามบิน เชื่อมต่อกับกรมควบคุมโรคในการติดตามคนที่เข้าข่ายต้องกักตัว ในพื้นที่ต่างๆ และกระทรวงมหาดไทยได้นำไปใช้สำหรับติดตามการกักตัวของบุคคลกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ผ่าน ระบบ GPS แบบเรียลไทม์โดยความร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เพื่อให้กลไกท้องที่และท้องถิ่น สามารถป้องกันและเฝ้าระวังอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง SydeKick for ThaiFightCOVID ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล(ดีป้า) พัฒนาร่วมกับDigital Startup เพื่อติดตามและเฝ้าระวังผู้ที่จำเป็นต้อง กลับไปกักตัวเองอยู่บ้านลดความเสี่ยงการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19


นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันเพื่อการให้ข้อมูลคือ Card2U และเว็บไซต์ ThaiFightCOVID (ความร่วมมือระหว่างดีป้า บริษัท อีคาร์ทสตูดิโอ จำกัดและบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด) รวบรวมข้อมูลหลักๆ ในเว็บแอปนี้ ได้แก่1.รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศและทั่วโลก 2.ไฮไลท์ข่าวประจำวันข้อมูลประกาศรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงกระแสข่าวโซเชียล 3.ดีป้าร่วมสู้ภัยประกอบด้วยมาตรการสู้ภัยโดยดีป้า และข่าวประชาสัมพันธ์4.ร่วมค้นหาหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และถังออกซิเจน5.รายชื่อและพิกัดที่ตั้งโรงพยาบาลที่รับตรวจโควิด-19 6.สถานการณ์ผู้ป่วยหายแล้ว7.ข้อมูลพื้นที่เสี่ยง8.แหล่งรวมดิจิทัลสู้ภัยโควิด-19 และ9. รวมใจไทย flight Covid (Crowdsourcing) ประกอบไปด้วย9.1รวบรวมข่าวสาร และประกาศขอรับบริจาคจากสถานพยาบาลทั่วประเทศซึ่งดีป้ารวบรวมมาจากเว็บไซต์ข่าวและเว็บไซต์officialที่มี ความน่าเชื่อถือรวมมาอยู่ในที่เดียว เพื่อง่ายต่อการค้นหา

***สนับสนุนการตรวจ วินิจฉัย โควิด-19


พุทธิพงษ์ กล่าวว่า โซลูชั่น AI เพื่อการวิเคราะห์โรคโควิด-19 ดีอีเอส ร่วมกับบริษัท หัวเว่ย นำระบบ AI มาวิเคราะห์โควิด-19เมื่อมีการทำ CT scan เอกซเรย์ปอดคนไข้ ระบบ AI จะนำผลเอกซเรย์มาเทียบเคียงกับตัวอย่างภาพเอกซเรย์ปอดกว่า 20,000 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นเคสผู้ป่วยโควิด-19จริง กว่า 4,000 ราย จากประเทศจีน เพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นว่าคนไข้มีความเสี่ยงที่จะติดไวรัสโควิด-19 มากน้อยเพียงใด ระบบนี้มีการใช้จริงแล้วในประเทศจีน ทั้งในเมืองอู่ฮั่น และอีกหลายๆ เมือง นำมาติดตั้งให้โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลศิริราช เป็นที่เรียบร้อย

โดยเทคโนโลยี AI เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้แพทย์นำมาใช้วินิจฉัยผลตรวจ CT ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว สามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส และมีความแม่นยำสูงถึง 96% จึงลดภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ไทยได้เป็นอย่างมาก ที่สำคัญความเร็วในการส่งข้อมูลของเครือข่าย 5G จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้บุคลากรทางการแพทย์รับมือสถานการณ์ในขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะช่วยให้ระบบทางการแพทย์สามารถตอบสนองการใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ช่วยติดตามอาการ และเก็บข้อมูลคนไข้ดีขึ้น อีกทั้งช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์มีประสิทธิภาพขึ้นอีกด้วย


ส่วนทีโอทีก็ได้ดัดแปลงตู้โทรศัพท์สาธารณะ ให้กลายเป็น “COVID-19 Test Station” และมอบให้กับ โรงพยาบาลพิชัย จ.อุตรดิตถ์ รพ.สมุทรสาคร รพ.กระทุ่มแบน และ รพ.นครชัยศรี เพื่อให้แพทย์ใช้ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยตู้นี้จะเจาะช่องสำหรับสอดมือเพื่อเก็บสารคัดหลั่ง เปลี่ยนกระจกตู้โทรศัพท์เป็นแผ่นอะคริลิกใสป้องกันละอองฝอยกระเด็นถูกผู้ตรวจ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ตรวจหาเชื้อโควิด -19 ได้อย่างปลอดภัย ติดตั้งพัดลมและอุปกรณ์ส่องสว่าง เพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้งาน


ทั้งนี้ในอนาคตมีแผนจะพัฒนาร่วมกับม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำตู้โทรศัพท์ 2 ตู้มาประกบกัน มีล้อเลื่อนเพิ่มความสะดวกในการเคลื่อนย้าย ตู้หนึ่งจะเป็นตู้สำหรับแพทย์ที่มีระบบปรับอากาศ และอีกตู้สำหรับผู้ที่มารับการตรวจเชื้อโควิด แพทย์จะตรวจคนไข้ผ่านช่องที่มีถุงมือยางยื่นเข้าไป COVID-19 Test Station นี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น เป็นจุดคัดกรองคนไข้ จุดตรวจของแพทย์สนาม จุดฉีดวัคซีน และจุดจ่ายยาให้กับคนไข้ช่วยเพิ่มความปลอดภัย และลดจำนวนการใช้บุคลากรทางการแพทย์ และจะประสานไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีความต้องการใช้โดยเฉพาะ โรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

***ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

ดีอีเอส และ ดีป้า ได้เปิดพื้นที่หางานออนไลน์ผ่านกลุ่มเฟซบุ๊ก (Facebook) ในชื่อ “JOBD2U by ThaiFightCOVID-19” เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือคนตกงาน-ว่างงานจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 โดยเน้นการช่วยเหลือ ผู้ที่ถูกเลิกจ้างก่อนหน้านี้ และยังตกงาน,ผู้ที่ถูกลดค่าตอบแทน หรือไม่ได้รับเงินเดือนที่เหมาะสมเพียงพอ และคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา หรือกำลังตั้งธุรกิจและได้รับผลกระทบโควิด-19 จึงยังว่างงาน


โดยได้ทำการรวบรวมตำแหน่งงานจากบริษัทด้านดิจิทัลทั่วประเทศไทย ทั้งบริษัทไทย บริษัทข้ามชาติ มารวมในแพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อ เป็นสื่อกลางสำหรับ ผู้ที่ต้องการงานได้พบกับงานที่สนใจหรือตรงตามความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ผู้ที่ต้องการหาอาชีพใหม่เพื่อก้าวสู่การเป็นนายตัวเอง ผู้ที่กำลังมองหาหลักสูตรเรียนรู้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ และเป็นพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงดิจิทัลสตาร์ทอัปที่ต้องการเสริมทัพทางธุรกิจสามารถลงประกาศหาคนเข้าร่วมงาน โดย JOBD2U by ThaiFightCOVID-19 มีงานในสายไอที (IT) และ Digital Supporter (Non-technical) รวมถึง หลักสูตรเสริมทักษะ สร้างอาชีพ (Reskill และ Upskill) บนแพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าวเพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพภายหลังสิ้นสุดวิกฤต โควิด-19 ปัจจุบัน ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีผู้ที่สนใจเข้ามาหางานใน Facebook “JOBD2U” แล้วกว่า 2,200 คน ณ วันที่ 15 พ.ค. 2563


*** บริหารข้อมูลโควิด-19 ด้วยบิ๊ก ดาต้า

ดีอีเอสร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ดำเนินการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ โควิด-19 ทุกจังหวัดเช่นอำเภอหรือเขตที่พบผู้ติดเชื้อ, ยอดผู้ติดเชื้อสะสม, ยอดผู้ติดเชื้อรายวัน, จำนวนผู้ป่วยหายสะสม, จำนวนผู้ป่วยหายรายวัน, อาการรุนแรง, ยอดผู้เสียชีวิตสะสม, ยอดผู้เสียชีวิตรายวัน และยอดกลุ่มเสี่ยงเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง PUI เป็นต้น โดยได้นำข้อมูลดังกล่าวมาแสดงผลใน ThaiFightCovid เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลรายจังหวัด ครบจบในที่เดียว


นอกจากนี้มีการนำข้อมูลดังกล่าว รวมกับข้อมูลจากกรมควบคุมโรค มาวิเคราะห์ประมวลผล พร้อมกับจัดทำรายงานประจำวันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ 1. สถานการณ์ผู้ป่วย โควิด-19 รักษาหายแล้ว และ 2. ความสำเร็จของมาตรการจังหวัดในการป้องกันและควบคุม โควิด-19ทำให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ โควิด-19 ทุกจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประมวลผล เพื่อเตรียมพร้อมรับมือในการป้องกันและควบคุม โควิด-19


สำหรับการใช้ บิ๊ก ดาต้า เพื่อช่วยสนับสนุนการบริหารข้อมูล โควิด-19 ประกอบด้วย 1.1 บูรณาการข้อมูลด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อสนับสนุนการบริหารงานของรัฐบาลในการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคโคโรน่าไวรัส โดยมีการจัดทำ Covid-19 Data Catalog และ หน้า Dashboard แสดงผลข้อมูลในหลากหลายมิติ เช่นการเดินทางเข้าออกต่างประเทศ การผลิตและการจัดสรรหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า ทรัพยากรสาธารณสุข(เตียง/บุคลากร/ห้องปฏิบัติการ)


1.2 สนับสนุนการทำงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องของการติดตามกลุ่มเสี่ยง โดย GBDi ร่วมมือกับ กสทช. เนคเทค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการออกแบบและพัฒนาระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงข้อมูลกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 บริษัทเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูล Mobile Bigdata ประกอบการตามหากลุ่มเสี่ยงเพื่อการสอบสวนโรค


1.3 ออกแบบและพัฒนาระบบการจัดสรร State Quarantine Sites ให้กับบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศ สำหรับ ศบค. กระทรวงกลาโหม และ กองทัพไทย ใช้เพื่อการกักตัวบุคคลข้ามแดนอย่างเป็นระบบ และสร้างโมเดลวิเคราะห์และDashboard เพื่อการบริหารจัดการ และวางแผน


1.4 ขยายระบบ State Quarantine ไปเพื่อการใช้งานใน Workflow ของ Local Quarantine ซึ่งปัจจุบันใช้งานโดยเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยและ ตม.ในทุกด่านทางบกและทางน้ำ เพื่อบริหารการกักตัวของบุคคลในประเทศ


1.5พัฒนาระบบเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามด้านการศึกษาพฤติกรรมประชาชนของกรมควบคุมโรค เพื่อประเมินประสิทธิผลของมาตรการที่ออกโดยรัฐบาล และนำเสนอผลการตอบของประชาชนในรูปแบบ Dashboard ในครั้งแรกมีผู้ตอบกว่า 140,000 คน และครั้งสองอยู่ในช่วงดำเนินการ


1.6 การบริหาจัดการความช่วยเหลือให้กับแรงงานนอกระบบ หลังโควิด-19 โดยร่วมกับกระทรวงแรงงาน อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเห็นผลช่วงแรกเดือน ก.ค. 2563


1.7 จัดทำ Data integration for covid19 ดีอีเอส ร่วมกับ สภาพัฒน์ฯ และ GBDi ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีในการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลหาความช่วยเหลือสำหรับประชาชนได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย และลดความซ้ำซ้อน ทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชนได้


นอกจากนี้ยังมีการด้านการเตรียมระบบเซิร์ฟเวอร์ สำหรับรองรับการจัดเก็บข้อมูล โดย กสท โทรคมนาคม ได้พัฒนาเซิร์ฟเวอร์ และคลาวด์เพื่อรองรับการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อใช้สำหรับการบริหารข้อมูล โควิด-19 ที่จะเกิดจากแอปพลิเคชันทั้งหมด ซึ่งจะมีจำนวนมหาศาล เช่นข้อมูลการเช็คอินสถานที่ต่างๆ เพื่อให้รองรับการใช้งานของประชาชนได้ทั้งประเทศ และให้ข้อมูลทั้งหมดเก็บในประเทศไทย สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

***หนุนการทำงานบุคลากรทางการแพทย์

นอกจากนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) รับภารกิจดูแลจัดส่งหน้ากากอนามัย ไปยังบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศด้วยความเรียบร้อยและรวดเร็วที่สุด เพราะหน้ากากอนามัยถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากต่อแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับประชาชน และกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ทำให้เกิดความปลอดภัย ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยปณทได้ขนส่งหน้ากากอนามัยให้กระทรวง สาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ผ่านโครงการ ‘ส่งความห่วงใยส่งให้ สู้ภัยโควิด-19’ โดยในระหว่างวันที่ 1-28 เม.ย.2563 ได้ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 52.6 ล้านชิ้น ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข หน้ากากอนามัยจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และของกระทรวงมหาดไทย จะส่งไปยัง กทม. และผู้ว่าราชการ 76 จังหวัด นำกระจายให้กับท้องถิ่น อสม. ชุมชน และเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงต่างๆ ที่มีความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่


ด้าน กสท โทรคมนาคม ได้ทำการปรับห้องพักในอาคารหอพัก CAT สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นสถานที่พักของหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของ รพ.จุฬาภรณ์ กลุ่มที่ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งแยกจากกลุ่มที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ใช้หอพักของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นที่พัก เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และยังช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องเดินทางไกล ไม่ติดช่วงเคอร์ฟิว มีเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ ดีอีเอส ในฐานะที่กำกับดูแล กสท โทรคมนาคม ได้สนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันสนับสนุนและดูแลบุคลากรทางการแพทย์ให้ดีที่สุด


ขณะนี้เริ่มมีผู้เข้าพักแล้ว หอพักแห่งนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งเตียง ห้องน้ำ ตู้เย็น ไมโครเวฟ และระบบรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง ซึ่งจะให้บริการจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และได้จัดเตรียมอาคารที่ 2 และ 3 ไว้ เพื่อให้บริการแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความต้องการที่พักเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แจ้งให้มหาวิทยาลัยเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน หากมหาวิทยาลัยต้องถูกปรับเป็นโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วย หรือเพื่อการกักตัวในพื้นที่ของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับทุกภาคส่วน


กำลังโหลดความคิดเห็น