สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ชี้แจงแนวทาง ตามข้อเสนอมาตรการขอความช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ จากสมาคมการค้า เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ หลังร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทย ระบุพร้อมน้อมรับ ทุกความคิดเห็นและคำแนะนำ ย้ำชัด โลกปรับ เราต้องเปลี่ยน เมื่อเจอโควิด-19 เราจะร่วมมือก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
ต่อกรณีที่ สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่: Thailand Tech Startup Association (TTSA) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรื่องขอความอนุเคราะห์มาตรการการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ หรือ Tech Startup วานนี้ โดยมีข้อเสนอใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย
1. ขอให้มีการออกมาตรการสนับสนุนและผลักดันให้ใช้บริการของสตาร์ทอัพไทย เพื่อช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลทางเศรษฐกิจแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในยุคหลังโควิด-19
2. ขอให้มีมาตรการในการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของธุรกิจ Tech Startup เช่น การให้เงินทุนสนับสนุน (Grant) เงินกู้ผ่อนปรน (Soft Loan) กรณีพิเศษ โดยมีเงื่อนไขที่เหมาะสมกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ตามระดับความจำเป็นและความเหมาะสมเฉพาะธุรกิจเป็นรายๆ ไป เนื่องจากรูปแบบโมเดลธุรกิจอาจไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ผ่อนปรนแบบปกติได้ คุ้มครองพนักงานและการจ่ายเงินเดือนจ้างพนักงานที่มีทักษะสูง
3. ขอให้มีการออกเครื่องมือเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการควบรวมในธุรกิจ Tech Startup จากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ นักลงทุน และผู้ร่วมลงทุน
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยภายหลังรับชมการถ่ายทอดสด การร่วมแสดงความคิดเห็นถึงแนวทางการพัฒนาและประคับประคองสตาร์ทอัพไทยให้รอดพ้นวิกฤตโควิด-19 ผ่านทางเพจ Thailand Tech Startup Association เมื่อเวลา 20.00 น. วานนี้ว่า ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดย ดีป้า พยายามขับเคลื่อนแวดวง Tech Startup ไทยมาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ พร้อมส่งเสริมให้เติบโตสู่ระดับสากล ควบคู่ไปกับกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลฝีมือคนไทยมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันและการดำเนินธุรกิจ
พร้อมกันนี้ ดร.ณัฐพล ยังได้ชี้แจงข้อเสนอที่ 1 ในจดหมายเปิดผนึกว่า ดีป้า ส่งเสริมให้ Tech Startup ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Service Provider) สามารถเข้าร่วมดำเนินโครงการตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม (depa Digital Transformation Fund) และการส่งเสริมและสนับสนุนคูปองดิจิทัล เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa mini Transformation Voucher) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ Tech Startup สามารถขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งแม้จะมี Tech Startup หลายรายที่ประสบปัญหา แต่ยังมีความต้องการจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในการลดต้นทุนและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ทำให้ Tech Startup ไทย มีโอกาสเติบโตสูงขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้ส่งเสริมให้ Tech Startup สัญชาติไทยรวมตัวกันพัฒนาบริการที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์ม Thai Delivery เพื่อพัฒนาบริการให้เกิดผลต่อผู้บริโภคในวงกว้าง
ส่วนกระบวนการเชิงนโยบาย ดีป้า ได้จัดทำข้อเสนอในการพัฒนากลไกการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อส่งเสริม Tech Startup ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
สำหรับข้อเสนอที่ 2 นั้น ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ดีป้า ใช้กลไกการร่วมลงทุนกับ Tech Startup ทั้งในระยะเริ่มต้นธุรกิจและระยะเติบโตให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ การปรับเปลี่ยนธุรกิจ และการขยายธุรกิจในรูปแบบ Convertible Grant ซึ่งมีลักษณะเงินลงทุนที่ Tech Startup สามารถ แปลงสภาพเป็นหุ้น หรือสามารถคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยในอัตราต่ำได้ โดย ดีป้า ได้ปรับแผนและ มีงบประมาณเบื้องต้นในการดำเนินงานกว่า 100 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือ Tech Startup ทั้งในระยะเริ่มต้นธุรกิจและระยะเติบโต จำนวนกว่า 60 รายทั่วประเทศ พร้อมร่วมทำงานกับ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ในการออกวงเงินสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพสู้ภัยโควิด-19 ภายใต้กองทุน InnoBridge Fund มูลค่า 50 ล้านบาทที่จะร่วมลงทุนกับ Tech Startup ในลักษณะการออกหุ้นกู้ เพื่อให้ Tech Startup สามารถดำเนินและขยายธุรกิจได้ในช่วงโควิด-19
โดยการดำเนินการในระยะถัดไป ดีป้า อยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารในกำกับของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยในการผลักดันให้เกิดสินเชื่อดอกเบื้อต่ำ (Soft loan) เพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีและ Tech Startup โดยเฉพาะ ซึ่งจำเป็นต้องมีเกณฑ์เฉพาะที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจประเภทดังกล่าว
ส่วนข้อเสนอที่ 3 ดีป้า อยู่ระหว่างการหารือ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการลงทุนและควบรวมธุรกิจ Tech Startup ที่มีศักยภาพ โดยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ นักลงทุน และผู้ร่วมลงทุน ซึ่งอาจส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกิจการลงทุน (Holding company) ที่ส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันในกลุ่ม Tech Startup ของไทย รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการพิจารณาควบรวม แลกหุ้น (Share Swap) หรือลงทุนร่วมกันเอง เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพสูงของคนไทยให้สามารถแข่งขันกับแพลตฟอร์มต่างประเทศได้
นอกจากนี้ ดีป้า ยังมุ่งผลักดันให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมสำหรับสตาร์ทอัพไทย ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 คณะกรรมการฯ มีมติมอบหมายให้ ดีป้า เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ดำเนินการเรื่องที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การสร้างมาตรการและสิทธิประโยชน์เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับ Tech Startup จดจัดตั้งบริษัท และดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในบริบทการแข่งขันทางการค้าและบริการที่เป็นธรรม เร่งกระบวนการพิจารณาและผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหุ้นกู้แปลงสภาพ การทยอยให้หุ้น สิทธิที่จะซื้อหุ้นในราคาที่กำหนด และการแก้ไขเงื่อนไขในหุ้นบุริมสิทธิ
พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมาย ดีป้า ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินการในการจัดตั้ง Regulatory Sandbox สำหรับธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัลรายอุตสาหกรรม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้นระหว่างสตาร์ทอัพไทยและสตาร์ทอัพต่างชาติที่มาประกอบธุรกิจในประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยเพิ่มมากขึ้นจากการแก้ไขกฎหมายให้มีความชัดเจนและเหมาะสมต่อการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกมากขึ้น
“ดีป้า น้อมรับทุกความคิดเห็นและคำแนะนำ และจะนำมาพัฒนาการดำเนินงานต่อไป ซึ่งขณะนี้ ไม่เพียงแต่พี่น้องสตาร์ทอัพไทยเท่านั้น หากแต่ทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ดีป้า สัญญาว่าจะสานต่อการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และเมื่อโลกปรับ เราต้องเปลี่ยน เมื่อเจอโควิด-19 เราจะร่วมมือก้าวผ่านวิกฤตไปด้วยกัน” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวทิ้งท้าย