xs
xsm
sm
md
lg

AIS ชวนร่วมรณรงค์ปลูกจิตสำนึกใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอไอเอส ชวนเชิญทุกครอบครัวมาร่วมรณรงค์ปลูกจิตสำนึกในการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ในช่วงวันหยุดยาว ด้วยชุดการเรียนรู้ 8 ทักษะการเอาตัวรอดและรับมือภัยบนโลกออนไลน์ สนับสนุนมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ฉลาดใช้ดิจิทัล”

นัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน นั้นควรควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์


ดังนั้นการเสริมภูมิคุ้มกัน และจิตสำนึกบนโลกออนไลน์ จะเป็นการสร้างเกราะกำบังที่แข็งแกร่งทั้งในด้านภูมิปัญญา (Intellectual) และด้านจิตใจ อีกทั้งถือเป็นการติดอาวุธเสริมทักษะของคนไทยในยุคแห่งดิจิทัล (Digital Nation) อีกด้วย

พบเด็กไทยเสี่ยงภัยบนโลกออนไลน์มากขึ้น

จากรายงานของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ระบุว่า ในปี 2562 เด็ก Generation Z มีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตในวันหยุดเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ชั่วโมง 1 นาทีต่อวัน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เยาวชนที่ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงผลกระทบอีกด้านที่ตามมาคือ ภัยบนโลกไซเบอร์

โดยผลสำรวจดัชนีชี้วัดความปลอดภัยบนสื่อออนไลน์สำหรับเด็ก (COSI ; Child Online Safety Index) ซึ่งจัดทำโดยสถาบัน DQ (DQ Institution) ที่เอไอเอสได้ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ นำชุดการเรียนรู้ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล DQ มาให้คนไทยได้ใช้งานฟรีนั้น ได้เผยผลสำรวจ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมเด็กและเยาวชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 - 2562 จำนวน 145,426 คน ใน 30 ประเทศสมาชิก พบว่าจำนวน 2 ใน 3 ของเด็ก กำลังเผชิญอันตรายในโลกไซเบอร์

จากผลสำรวจในประเทศไทย พบว่า เด็กไทยมีความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ที่น่าเป็นห่วง 3 ประการ ได้แก่ 1. การถูกรังแกบนออนไลน์ (Cyberbullying) เช่น การโพสต์ดูหมิ่นกลั่นแกล้ง การร่วมกันเพิกเฉยและชักชวนให้คนอื่นไม่คบหาพูดคุยด้วยในออนไลน์ 2. การกระทำที่จะทำให้เสียชื่อเสียง (Reputation Risks) เช่น การโพสต์ประจานล้อเลียน การโพสต์รูปหรือคลิปที่แอบถ่ายหรือไม่เหมาะสมเพื่อสร้างความขบขัน ให้ผู้อื่นอับอาย และ 3. ความเสี่ยงในการติดต่อออนไลน์ (Risky Contacts) เช่น การถูกล่อลวงเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สิน หรือข้อมูล และการล่อลวงเพื่อทำไปสู่การคุกคามในชีวิตจริง

ทั้งนี้ ยังพบอีกว่าเด็กไทยควรได้รับการพัฒนาความสามารถในการใช้สื่อและอุปกรณ์ดิจิทัล ใน 4 ประการ ได้แก่ 1. การสร้างอัตลักษณ์ออนไลน์ (Digital Citizen Identity) ใช้ตัวตนจริงบนโลกออนไลน์ไม่ปลอมแปลงโปรไฟล์, 2. การรับมือเมื่อถูกรังแกออนไลน์ (Cyberbullying Management) สามารถรับมือและจัดการกับการถูกรังแกบนโลกออนไลน์ได้อย่างเหมาะสม, 3. การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) สามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลที่ปรากฏในโลกออนไลน์ได้ และ 4. การจัดการกับข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management) สามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้อย่างเหมาะสม

ขณะเดียวกัน รายงานชุดนี้ระบุว่า ประเทศไทยมีได้คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานใน 2 เรื่องคือ 1. Access คือ มีความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้าน Digital Infrastructure ที่ดีและเสถียร ผู้คนในประเทศสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ดี และ 2. Cyber Security Infrastructure นโยบายของรัฐบาล รวมถึงจริยธรรมของผู้ประกอบธุรกิจด้านโทรคมนาคม มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างป้องกันเด็กจากภัยในโลกออนไลน์

แม้ว่าการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันจะยังไม่มีวัคซีนในการรักษา แต่เราสามารถช่วยกันหยุดการแพร่ระบาดของภัยในไซเบอร์ที่แฝงมาในรูปแบบต่างๆ และกำลังคุกคามชีวิตประจำวันของเยาวชนโดยเฉพาะในยุคที่กิจวัตรประจำวันกำลังผูกติดกับโลกดิจิทัลอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยวัคซีนที่ชื่อว่า DQ

แนะเร่งพัฒนาทักษะความฉลาดทางดิจิทัล DQ ให้เด็กไทย


ด้วยเหตุนี้ “โครงการอุ่นใจไซเบอร์” จึงขอร่วมรณรงค์ให้ทุกครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน เพื่อชี้แนะ ดูแล และส่งเสริมให้บุตรหลาน มีความตระหนักรู้ถึงภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง หากใช้ดิจิทัลอย่างไม่ระมัดระวัง รวมถึงสร้างจิตสำนึกในการใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ใน 8 ด้านหลัก ได้แก่


1. Digital Identity (อัตลักษณ์ออนไลน์) ตัวตนในโลกออนไลน์ให้เหมือนตัวจริง คิด พูด ทำ อย่างถูกต้อง
2. Digital Use (ยับยั้งชั่งใจ) สามารถควบคุมเวลาตัวเอง ในการใช้งานหน้าจอต่างๆ ได้
3. Digital Safety (เมื่อถูกรังแกออนไลน์) รู้ตัวเมื่อถูกกลั่นแกล้งคุกคาม และสามารถรับมือพร้อมวางตัวได้เหมาะสม
4. Digital Security (ท่องเน็ตอย่างปลอดภัย) สามารถปกป้องตัวเองโดยใช้รหัสผ่านที่แข็งแกร่ง พร้อมทั้งสามารถแยกแยะโปรแกรมหลอกลวง Spam, Scam และ Phishing ได้
5. Digital Emotional Intelligence (ใจเขา - ใจเรา) คิดถึงความรู้สึกของคนอื่น ไม่ด่วนตัดสินใครบนโลกออนไลน์
6. Digital Communication (รู้ถึงผลที่จะตามมา) สิ่งที่เคยโพสต์ในออนไลน์ ถึงลบแล้วก็จะยังคงอยู่เสมอ และทำให้เราเดือดร้อนในวันข้างหน้าได้
7. Digital Literacy (คิดเป็น) แยกแยะข่าวสารได้ ว่าข่าวไหนเป็นข้อมูลเท็จ ข่าวไหนเป็นจริง
8. Digital Right (รู้สิทธิและความเป็นส่วนตัว) รู้จักสิทธิมนุษยชนและสามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวได้

ทางเอไอเอส ได้ร่วมกับสถาบัน DQ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล ที่ศึกษาและวิจัยพัฒนาชุดการเรียนรู้ DQ สำหรับเด็กทั่วโลก โดยเปิดให้ทุกครอบครัว ทุกเครือข่าย (ไม่เฉพาะระบบเอไอเอส) สามารถเข้าไปเรียนรู้ทักษะความฉลาดทางดิจิทัล DQ ที่จำเป็นทั้ง 8 ด้าน ในรูปแบบของอินเตอร์แอคทีฟมัลติมีเดีย และแอนิเมชันสนุกๆ ได้ที่เว็บไซต์ www.ais.co.th/dq โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น