เครือโรงพยาบาลรามคำแหง เริ่มนำ iPad และ iPod เข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยให้แพทย์ และพยาบาล นำมาใช้ให้บริการผู้ป่วย เพื่อปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัล ดิสรัปชัน พร้อมพัฒนาแอปพลิเคชันมาช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น
นพ.สุธี ลีละเศรษฐกุล กรรมการบริหาร โรงพยาบาลรามคำแหง กล่าวว่า เป้าหมายหลักของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานภายโรงพยาบาลต้องให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพ ไอทีจะต้องเร็ว ถูกต้อง และได้ประโยชน์
“ด้วยการนำ iPad และ iPod นำมาช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล ฝ่ายเทคนิค และเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เข้าถึงข้อมูล เพื่อช่วยในการตัดสินใจรักษาคนไข้ ในรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมาเป็น iPad และพ iPod”
โดยโจทย์หลักคือการนำมาช่วยลดขั้นตอนในการตรวจรับคนไข้ และอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากร ในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วย โดยทางเครือโรงพยาบาลรามคำแหง ได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาใช้งานควบคู่ไปด้วย
เนื่องจากต้นทุนในการบริหารจัดการโรงพยาบาลที่สูงที่สุดคือค่าใช้จ่ายทางด้านบุคลากร ดังนั้นการทำให้บุคลากรโดยเฉพาะแพทย์ และพยาบาล สามารถให้บริการคนไข้ได้ สะดวก และรวดเร็วขึ้น ก็จะช่วยประหยัดต้นทุนของโรงพยาบาลได้
***ตั้งแต่ ‘เริ่มลงทะเบียนคนไข้’ ถึง ‘จ่ายยา’
การนำ iPad เข้ามาใช้งาน จะช่วยลดขั้นตอนการเวชระเบียนผู้ป่วยที่จากเดิมต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง หรือเรียกหาข้อมูลคนไข้เดิมที่เคยลงทะเบียนไว้ มากลายเป็นเจ้าหน้าที่สามารถใช้ iPad เพื่อลงทะเบียน และเรียกดูข้อมูลคนไข้ได้ทันที
ถัดมาในการเข้าไปรับการรักษา หรือพบแพทย์เบื้องต้น แพทย์ จะมีพยาบาล ที่คอยบันทึกข้อมูลคนไข้ลงไปเก็บไว้ในแอปพลิเคชัน RAM SmartOPD เพื่อให้สามาถรเรียกดูข้อมูลต่างๆ ของคนไข้ได้อย่างรวดเร็วในการรับบริการ
กรณีที่คนไข้ต้องเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาล หรือเป็นผู้ป่วยใน iPad สามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับแอปพลิเคชัน RAM SmartWard เพื่อให้แพทย์ พยาบาล และบุคคลากรทางการแพทย์ ในการจัดการคำสั่งการรักษา และเข้าถึงข้อมูลของคนไข้
ไม่ว่าจะเป็น ประวัติการรักษา การเจ็บป่วย ผลแล็บ ช่วยให้การวินิจฉัยโรค การติดตามการรักษา และการจ่ายยาทำได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการสื่อสารและอธิบายแนวทางในการรักษาแก่คนไข้เป็นไปอย่างสะดวกและเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบัน เครือโรงพยาบาลรามฯ มีการใช้งาน iPad รวมกันทั้งหมดกว่า 2,000 เครื่อง และ iPod อีก 450 เครื่อง ควบคู่ไปกับแอพพลิเคชัน RAM SmartWard และ RAM SmartOPD ในการจัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูล บริหารการรักษา รวมถึงการจ่ายยาให้แก่คนไข้
***ความท้าทาย ในการปรับเปลี่ยนระบบไอที
ชัยยุทธ ตันประทุมวงษ์ กรรมการบริหารคอมพิวเตอร์และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย-พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โรงพยาบาลรามคำแหง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ว่าได้รับโจทย์ที่ยากเพราะการที่เป็นโรงพยาบาลไม่สามารถให้เจ้าหน้าที่หยุดเพื่อทำการเทรนนิ่งได้ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลามากกว่าเดิม
แต่กลายเป็นว่าด้วยความง่ายในการใช้งานแอปพลิเคชัน และอุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐาน ทำให้จากเดิมที่คาดว่าจะใช้เวลาในการเรียนรู้ 1-2 ปี ลดลงมาเหลือไม่ถึง 6 เดือน จากการที่บุคลากรทำความเข้าใจกับอุปกรณ์ และแอปพลิเคชัน เพราะเห็นถึงความสะดวกในการใช้งาน