'ฐากร' เผย กรุงเทพมหานคร ขอ กสทช.ช่วยสนับสนุนค่าทำท่อร้อยสาย หลังเอกชนต้องการค่าเช่า 3,000-4,000 บาท ต่อกิโลท่อ ต่อเดือน วอนทำไม่ได้หากรัฐบาลไม่สนับสนุน เตรียมนำเรื่องเข้าบอร์ดดีอี เหตุเป็นนโยบายรัฐ ชี้กสทช.สามารถใช้เงินกองทุน USOช่วยเหลือได้ ตอบโจทย์ตรงจุด ขยายเน็ตเวิร์กง่าย และไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการนำท่อสื่อสารลงดินของกรุงเทพมหานครที่ดำเนินการโดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มูลค่า 25,000 ล้านบาท ว่าล่าสุดกรุงเทพธนาคมและกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมหารือร่วมกันถึงราคาค่าเช่ารายเดือน โดยกรุงเทพมหานครเสนอราคาค่าเช่ามาที่ 8,000 บาท ต่อกิโลท่อ ต่อเดือน ซึ่งราคาถูกกว่าที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้บริการนำร่องอยู่ 200 กิโลเมตร ตามที่ กสทช.กำหนดในราคา 9,000 บาท ต่อกิโลท่อ ต่อเดือน
ทว่าราคาดังกล่าวผู้ให้บริการมีความเห็นว่ายังสูงเกินไป ต้องการให้ลดราคาเหลือ 3,000 - 4,000 บาท ต่อกิโลท่อ ต่อเดือน แต่กรุงเทพมหานครไม่สามารถคิดค่าบริการในอัตราดังกล่าวได้ จึงขอให้กสทช.สนับสนุนเงินบางส่วนในการลงทุนทำท่อร้อยสายดังกล่าวด้วย ตนเองจึงมีความเห็นว่า นโยบายนี้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กำหนดเพื่อปรับทัศนียภาพและสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน จึงเห็นควรให้นำเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดดีอีในการอนุมัติให้กสทช.สามารถนำเงินกองทุน USO มาสนับสนุนได้
ส่วนเงินสนับสนุนจะเป็นเท่าใดนั้น ขอให้ กรุงเทพธนาคม และ กรุงเทพมหานคร เป็นผู้คิดสัดส่วนเงินลงทุนมาเสนอกสทช.ก่อนว่าต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ถึงจะสามารถให้บริการได้ในอัตราค่าเช่า 3,000 - 4,000 บาท ต่อกิโลท่อ ต่อเดือนได้ เพื่อให้กสทช.ทำเรื่องนำเสนอต่อบอร์ดดีอีต่อไป
'การที่กสทช.นำเงินกองทุนUSOมาใช้ในโครงการนี้นับว่าเป็นการใช้งานตรงวัตถุประสงค์ กสทช.ก็ได้ประโยชน์ เพราะเมื่อมีการจัดระเบียบสายเรียบร้อย การขยายเน็ตเวิร์กใหม่ ก็จะสะดวกขึ้น ไม่มีสายระโยงระยาง และไม่มีอันตรายเกิดกับประชาชน' นายฐากร กล่าว
ทั้งนี้ ในวันที่ 6 ม.ค. 63 สำนักงาน กสทช. ได้ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งประชุมร่วมกันเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารปี 2563 ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีก่อน มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาสายสื่อสารที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ด้วยการรื้อถอนสายสื่อสารและอุปกรณ์ที่ไม่ใช้งานออกจากเสาไฟฟ้า และมัดรวบสายให้เรียบร้อย เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ และสร้างความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
โดยพื้นที่แรกที่จะมีการจัดระเบียบสายสื่อสารซึ่งได้ดำเนินการในวันนี้ คือเส้นทางถนนพหลโยธิน ซอย 7 (ซอยอารีย์) ตั้งแต่บริเวณต้นซอยจนถึงหน้าสำนักงานสรรพากรทั้งสองฝั่ง รวมระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางที่เป็นส่วนต่อขยายจากถนนพหลโยธินที่มีการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินไปแล้ว ตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าวถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ