xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ยเปิดทางการ OceanConnect แพลตฟอร์ม IoT ดัน 5 อุตฯหนุนไทยแลนด์ 4.0

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เอเบล เติ้ง
หัวเว่ย ประเทศไทย เปิดตัวแพลตฟอร์ม IoT “โอเชียน คอนเน็กต์” (OceanConnect) อย่างเป็นทางการครั้งแรกในไทย เผยพร้อมจับมือพันธมิตร SI ทุกกลุ่มพัฒนา IoT สู่ตลาดได้รวดเร็ว มั่นใจ IoT ดัน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของไทยให้พัฒนาเป็นบริการพื้นฐานรูปแบบใหม่ได้ชัดเจนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมย้ำว่าหัวเว่ยไม่ได้รับผลกระทบร้ายแรงจากสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา

นายเอเบล เติ้ง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวในงาน Thailand IoT Industry Summit วันที่ 7 สิงหาคม 2562 ว่าหัวเว่ยหวังที่จะเห็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม IoT ในประเทศไทยผ่านการทำงานร่วมมือกันที่มากขึ้น เพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลและประเทศไทย 4.0 ให้รุดไปข้างหน้า ส่วนนี้หัวเว่ยให้ความสำคัญกับการช่วยผลักดันอีโคซิสเต็มและการพัฒนา IoT ในไทยผ่านการสนับสนุนผู้พัฒนาระบบหรือ System Integrator (SI) บนความร่วมมือกับพันธมิตร IoT ทั้งในและต่างประเทศ

“ไทยไม่เพียงเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลระดับแถวหน้า เพราะผู้ประกอบการไทยเริ่มวางโครงข่าย IoT แล้ว หัวเว่ยคาดหวังอย่างยิ่งว่าจะมีเมืองอัจฉริยะ อุตสาหกรรมอัจฉริยะ และวิถีชีวิตอัจฉริยะ มากขึ้นต่อเนื่อง”

หัวเว่ยระบุว่าแพลตฟอร์ม OceanConnect จะเป็นโอเพ่นอีโคซิสเต็มที่ช่วยให้ SI สามารถพัฒนา IoT และเข็นออกสู่ตลาดได้รวดเร็ว ประเด็นนี้นายเฉิน โจว ประธานบริหาร ฝ่ายการตลาดและขายโซลูชัน หัวเว่ย คลาวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด แสดงความมั่นใจว่าแพลตฟอร์มนี้ถ้ามีการใช้กว้าง จะสามารถนำเอาไปใช้ได้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ชุมชนอัจฉริยะ การแพทย์ การทำงาน และจะเกิดการเชื่อมโยง IoT แบบจุดต่อจุดได้แบบที่ยังไม่เห็นในแพลตฟอร์มอื่น

“ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มนี้เหมาะติดตั้งในระบบติดตามมอเตอร์ไซค์ ซึ่งจะช่วยลดการโจรกรรมได้ หรือการพัฒนาให้เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน เราพร้อมจะจับมือกับทุกฝ่าย และวางเป้าหมายต่อยอดให้ใช้กับทุกภาคส่วนให้ได้”

เบื้องต้น หัวเว่ยยังไม่ให้ข้อมูลเชิงลึกด้านสถิติของ OceanConnect โดยระบุเพียงว่าแพลตฟอร์ม IoT จะขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ให้ก้าวไกลสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ปัจจุบัน เอไอเอส (AIS) ได้เปิดให้บริการ NB-IoT โดยใช้คลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ครอบคลุมทั่วทั้ง 77 จังหวัดในประเทศไทยแล้ว เช่นเดียวกับทรู (True Corporation) ที่เปิดให้บริการ NB-IoT ทั่วทั้งประเทศเช่นกัน จนมีการทดสอบการใช้งานบางรูปแบบ อาทิ การติดตามเด็ก ผู้สูงอายุ มิเตอร์วัดน้ำอัจฉริยะ มิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ Cow-Connected (เซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิและสภาพร่างกายของวัว) และยังมีตัวอย่างการใช้งาน (Use Case) ที่เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว เช่น การติดตามรถ ที่จอดรถอัจฉริยะ ระบบแสงไฟถนนอัจฉริยะ เป็นต้น

หัวเว่ยให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่าประเทศไทยกำลังเตรียมพัฒนาสร้างเมืองอัจฉริยะให้ได้ตามเป้าหมาย 30 เมืองใน 24 จังหวัดในราวปี 2563 และพลิกโฉมเมืองอีก 100 แห่งทั่วประเทศให้เป็นเมืองอัจฉริยะในปี 2565 โดยในปี 2562 จะมีการเชื่อมต่อ C-IoT (2G, 3G, 4G) 8 ล้านจุด และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 15 ล้านในราวปี 2565 โดยจะมี “Connected Energy” ซึ่งพัฒนามาจากการอ่านสมาร์ทมิเตอร์แบบเดิมเป็นหลัก และจะเป็นรูปแบบการเชื่อมต่อที่ใช้กันโดยส่วนใหญ่ ตามมาด้วย Connected Car และ Connected Industry

สำหรับประเทศไทย การใช้งานแอปพลิเคชันหลายอย่างผ่านทางแพลตฟอร์ม IoT และระบบคลาวด์ OceanConnect ของหัวเว่ยเกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้เปิดตัวเครือข่าย NB-IoT ไปทั่วประเทศ ที่เห็นชัดคือปีที่แล้ว (2561) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการติดตั้งระบบแสงไฟถนนอัจฉริยะ นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้เปิด OpenLab ในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนนักพัฒนาชาวไทยในการพัฒนาแอปพลิเคชัน การใช้งานอุปกรณ์ติดตามมอเตอร์ไซค์ได้มีการเปิดตัวร่วมกับบริษัท เอชไอพี โกลบอล จำกัด และกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยได้มีการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามกับมอเตอร์ไซค์ของตำรวจเพื่อบริหารงานด้านจราจร นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันจอดรถอัจฉริยะราว 1,100 ช่องจอดเมื่อตอนต้นปี 2562 รวมถึงอุปกรณ์ติดตามบุคคลสำหรับติดตามเด็กที่ใช้งานในโรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2562

การเติบโตในไทยเป็นไปตามเทรนด์ IoT โลก จากข้อมูลของ GSMA Intelligence ณ เดือนพฤษภาคม 2562 มีเครือข่าย Mobile IoT ที่เปิดใช้งานเชิงพาณิชย์แล้วทั้งสิ้น 114 เครือข่ายทั่วโลก โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีนี้และเป็นตลาด IoT ระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาและยุโรป และจะมีจำนวนการเชื่อมต่อ IoT มากที่สุดในราวปี 2568 จากการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

GSMA Intelligence ยังประเมินอีกว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะเป็นภูมิภาคที่สร้างรายได้สูงที่สุดถึงราว 3.86 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่รายได้จาก IoT ทั่วโลกจะสูงเป็นสี่เท่าถึง 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 จากการส่งเสริมของรัฐบาลและการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของการเชื่อมต่อ IoT ในภาคอุตสาหกรรม ส่วนการเชื่อมต่อ IoT ทั่วโลกจะเพิ่มสูงถึง 2.5 หมื่นล้านในราวปี 2568 และมีตัวอย่างการใช้งาน (Use Case) ของเทคโนโลยี NB-IoT ถึง 50 รูปแบบใน 40 อุตสาหกรรมทั่วโลก โดยมีจีนเป็นประเทศที่มีการใช้งานมากที่สุดในโลก

ในภาพรวม หัวเว่ยย้ำว่า IoT จะสร้างคุณค่าเพื่อประเทศไทย 4.0 เพราะ IoT ช่วยขับเคลื่อน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (S-Curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Bio chemicals) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ทั้งหมดนี้ตั้งใจให้เป็นการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานรูปแบบใหม่

สำหรับงาน Thailand IoT Industry Summit ดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้ธีม “IoT ขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ดันไทยก้าวไกลสู่เศรษฐกิจดิจิทัล” (IoT, the Engine of Thailand 4.0 to Drives Digital Economy) โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ผู้ให้บริการเครือข่ายชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมและพันธมิตรจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมงานกว่า 300 คน เพื่อแบ่งปันข้อมูลองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม IoT ให้คนไทยได้สัมผัสอย่างเป็นรูปธรรม.


กำลังโหลดความคิดเห็น