xs
xsm
sm
md
lg

Nokia เกิดใหม่ไฉไลกว่าเดิม? (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

จูโฮ ซาร์วีกาส (๋Juho Sarvikas) ผู้บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ เอชเอ็มดี โกลบอล
ในยุคหนึ่ง “โทรศัพท์มือถือโนเกีย” เคยไร้เทียมทาน หลายคนพกพาและติดตามซื้อโทรศัพท์ที่ปฏิวัติวงการโทรคมนาคมแบบไม่ต้องคิดมาก จนกระทั่งวันที่สมาร์ทโฟนเดินเข้ามาในชีวิตของชาวโลก บริษัทสัญชาติฟินแลนด์ก็ดิ้นรนสุดฤทธิ์ไม่ยอมแพ้ และพยายามปรับตัวให้เข้ากับยุคของการใช้เว็บไซต์บนโทรศัพท์มือถืออย่างสุดกำลัง

แต่แล้ว Nokia ก็ลงเอยกับไมโครซอฟท์ (Microsoft) ด้วยการขายแผนกอุปกรณ์มือถือให้กับ Microsoft ในปี 2013 ชีวิตคู่ของทั้ง 2 จบลงภายในเวลาไม่กี่ปี หลังจากที่ทิ้งช่วงไปครู่เดียว ชื่อ “Nokia” ก็กลับมาเกิดใหม่ภายใต้การดูแลของบริษัทเอชเอ็มดี (HMD) และกลายเป็นม้านอกสายตาที่โดดเด่นในวันนี้ที่รายใหญ่อย่างหัวเว่ย (Huawei) กำลังซวนเซ

รายงานระบุว่า HMD เป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากเอฟไอเอชโมบาย (FIH Mobile) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจ้าพ่อผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่างฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ข่าวที่ออกมาคือ Nokia ขายสิทธิ์ในการใช้ชื่อแบรนด์ให้กับ HMD บริษัทสตาร์ทอัปใหม่ที่เป็นยูนิคอร์นไปแล้วหลังจากเพิ่งเปิดตัวในปี 2016 และมีสำนักงานใหญ่ในฟินแลนด์ ขณะที่ HMD จ่ายเงินซื้อแผนกฟีเจอร์โฟนเก่าต่อจาก Microsoft ในราคา 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,701 ล้านบาท

HMD ใช้เวลา 2-3 ปีต่อมากับการปูพรมเปิดตัวโทรศัพท์มือถือที่มีราคาไม่แพงอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดเป็นความพยายามในการรักษาชื่อเสียงของ Nokia เรื่องความทนทาน ขณะเดียวกันก็ตามรอย Nokia ยุคเก่าจน HMD ลงมือแยกธุรกิจออกเป็น 2 ส่วนคือกลุ่มฟีเจอร์โฟน ที่มีหัวหอกเป็นโทรศัพท์รุ่นเก๋าแต่รองรับ 4G อย่าง 3310 และ 8110 และกลุ่มสมาร์ทโฟนที่ราคาจับต้องได้

ทำถูกต้องยอดโต 300%

การกลับมาของ Nokia ถูกมองว่าไม่ใช่แค่การใช้ประโยชน์จากชื่อแบรนด์ที่ทุกคนคุ้นเคย แต่เป็นการกลับมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผลคือ Nokia ภายใต้เงาของ HMD กำลังมีมุมมองธุรกิจที่ทันสมัยและมีโอกาสทำกำไรมากขึ้น เห็นได้ชัดจากปี 2018 ที่ยอดขายในตลาดรวมสมาร์ทโฟนซบเซา แต่ยอดผู้ใช้ Nokia กลับเติบโต 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2017

จูโฮ ซาร์วีกาส (๋Juho Sarvikas) ผู้บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ เอชเอ็มดี โกลบอล กล่าวว่าการเติบโตอย่างแข็งแกร่งทำให้ Nokia เป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนที่อยู่ในกลุ่ม 5 อันดับแรกหรือ Top 5 ที่สามารถจำหน่ายสมาร์ทโฟนได้มากที่สุดในตลาดยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ รัสเซีย และแอฟริกา ทำให้ปี 2019 บริษัทหวังจะทุ่มเทเต็มที่เพื่อขยายฐานผู้ใช้ที่มีเกิน 10 ล้านคนทั่วโลกแล้วในขณะนี้

ถึงตอนนี้ HMD ใช้วิธีขายโทรศัพท์มือถือบางส่วนโดยตรงไปยังผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงคนไทย ผ่านเว็บไซต์เช่น Shopee และร้านค้าเช่น Lazada และ JD.com แม้ว่าชาวไทยส่วนใหญ่มักจะซื้อโทรศัพท์มือถือผ่านผู้ให้บริการของตัวเอง แต่ HMD ก็ไม่หวั่นใจและเชื่อว่าช่องทางออนไลน์จะช่วยดันยอดผู้ใช้ Nokia ให้โตได้เร็วกว่าร้านออฟไลน์

ด้วยการขายออนไลน์ และการโฟกัสที่โซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม เพื่อประเมินเสียงตอบรับจากผู้บริโภค ทำให้ HMD สามารถส่งแบรนด์ Nokia ไปนั่งในสายตาคนรุ่นใหม่ได้ รวมถึงผู้บริโภคที่อาจเคยใช้ Nokia เป็นโทรศัพท์เครื่องแรก เรียกว่า HMD จะไม่พลาดตลาดเด็กวัยรุ่นที่อาจมีอายุน้อยเกินไปที่จะรู้สึกถึงยุครุ่งเรืองของ Nokia ทั้งหมดนี้ HMD เชื่อว่าจะสามารถสร้างกระแสความนิยมของแบรนด์เก่าแก่ได้สำเร็จเหมือนแบรนด์อย่าง Nintendo, Fila และ Mini ทำได้ในยุคนี้

ปัญหาคือผู้เล่นรายใหญ่อย่างแอปเปิล (Apple) และซัมซุง (Samsung) ซึ่งเป็น 2 ยักษ์ที่กำหนดทิศทางตลาดสมาร์ทโฟนโลกแบบไม่เหลือที่ให้ใคร สิ่งที่ HMD ทำคือเร่งขโมยส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือต้นทุนต่ำรายอื่น แนวคิดหลักของบริษัทคือการตกผลึกดีเอ็นเอความเป็น Nokia ยุคดิจิทัลที่จะต้องโดนใจทุกคน

“สิ่งแรกที่คนจะคิดเมื่อพูดถึงแบรนด์ Nokia คือดีไซน์และคุณภาพ ดีไซน์ในสไตล์สแกนดิเนเวียและความเป็น Nokia ทำให้การออกแบบทำได้ดีกว่า จุดที่ 2 คือเรื่องความปลอดภัยที่เป็นแกนหลักของสินค้า Nokia ข้อ 3 คือประสบการณ์การใช้งานทุกวัน บนสิ่งที่สำคัญคือสเปกเครื่องที่ทำให้ผู้ใช้ได้รับประสิทธิภาพสูงสุด และ 4 สำคัญมาก นั่นคือการใช้ระบบปฏิบัติการแบบแอนดรอยด์เพียว HMD ไปพัฒนาร่วมกับ Google ทำให้ได้รับอัปเดทที่เร็วขึ้น ซึ่งนอกจากฟีเจอร์ความปลอดภัยที่จะได้รับอัปเดทอย่างต่ำ 3 ครั้ง ผู้ซื้อก็จะได้รับอัปเดทระบบปฏิบัติการ ถือว่าเป็นการเพิ่มความเร็วให้เครื่องอย่างน้อย 2 ครั้งหลังจากซื้อ” ประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ระดับโลกของ HMD ระบุ

ปี 2019 จึงเป็นปีที HMD หวังจะทุ่มเทเต็มที่ในการแสดงจุดยืนเป็นแบรนด์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการหลากหลายของผู้บริโภคได้ครอบคลุมทุกระดับ โดยหลังจากที่โชว์สมาร์ทโฟนใหม่ 5 รุ่นที่งาน MWC 2019 เมื่อปลายกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วันนี้ Nokia เปิดตัวทุกรุ่นครบไลน์ในประเทศไทย เด่นที่สุดคือ Nokia 9 PureView รุ่นแรกของโลกที่มาพร้อมกล้องหลัง 5 ตัว เลนส์ Zeiss Optics รองลงมาเป็น Nokia 8.1, Nokia 4.2 และ Nokia 3.2 สมาร์ทโฟนรุ่นกลางที่มีปุ่มกดสำหรับเรียกใช้งาน Google Assistant แบบทันใจ ขณะเดียวกันก็คลุมฐานรุ่นเล็กด้วย Nokia 2.2 แจ้งเกิดในราคาจับต้องได้พร้อมเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

กล้อง 5 ตัวรุ่นแรกของโลก

สำหรับ Nokia 9 PureView ที่ใช้เลนส์ ZEISS Optics 5 ตัวนั้น Nokia ย้ำว่าภาพทุกภาพที่ถูกถ่ายด้วย Nokia 9 PureView จะอยู่ในโหมด HDR โดยกล้องทั้ง 5 ตัวจะทำงานร่วมกัน เพื่อเก็บรายละเอียดอย่างแม่นยำทั้งความกว้างและลึกของภาพ ก่อนจะนำมารวมกันเป็นภาพถ่ายที่มีความละเอียดสูง 12 MP จุดนี้ Nokia 9 PureView ตั้งใจตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพโดยเฉพาะ สามารถถ่ายภาพแบบ RAW “DNG” และออกแบบมาให้ผู้ใช้ตกแต่งภาพจากโทรศัพท์ได้ด้วยตนเอง ผ่านโปรแกรมแต่งภาพ Adobe Lightroom

“ที่ต้องเป็นกล้อง 5 ตัวเพราะเป็นจำนวนที่สมดุลที่สุด ระหว่างจำนวนเซ็นเซอร์ขาวดำและสี การจำลองพบว่ากล้องหลัง 5 ตัวมีความสมบูรณ์แบบที่สุดจากการทดลองหลายรอบตั้งแต่รุ่นที่มีกล้อง 3-6 ตัว แถมยังโอเคเพราะทั้งหมดสามารถรวมอยู่ในเครื่องที่แบนบาง” ประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Nokia ระบุด้วยว่า Nokia 9 PureView ถูกพัฒนานานกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นปกติ

ผู้บริหารย้ำเหตุผลที่ทำให้ Nokia ไม่เน้นการซูมหลายสิบเท่าตัวเหมือนแบรนด์คู่แข่ง ว่าการโฟกัสที่ความละเอียดภาพระดับ “ซูเปอร์เคลียร์” จะทำให้ประสบการณ์ใช้งานดีกว่าในส่วนกล้อง ดังนั้นการบุกตลาดตากล้องของ Nokia จึงเป็นการเน้นต่อยอดบนโปรแกรมอย่าง Lightroom เพื่อให้ตากล้องแต่งภาพได้ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่การซูม

ปีนี้ Nokia ยังตัดสินใจติดตั้งปุ่มกดเพื่อให้ผู้ใช้เปิดระบบ Google Assistant ได้ฉับไวมากขึ้น ปุ่มดังกล่าวจะมีในสมาร์ทโฟนของโนเกีย รุ่น Nokia 4.2 และ Nokia 3.2 เป็นต้นไป ผู้บริหารเชื่อว่าปุ่ม Google Assistant บนสมาร์ทโฟน Nokia จะเปลี่ยนแปลงวิธีใช้งานสมาร์ทโฟนไปตลอดกาล เพราะการกดหนึ่งครั้ง จะทำให้ Google Assistant พร้อมทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะทั้งการหาข้อมูลการเดินทาง, สั่งการโทร.ออก, ฟังเพลง หรือไขข้อสงสัยในชีวิตประจำวันได้อย่างง่ายดาย หากกดปุ่ม Google Assistant 2 ครั้ง จะสามารถเรียกดูประวัติการใช้งาน พร้อมระบบแนะนำอัจฉริยะที่เปลี่ยนแปลงไปตามการใช้งานจริงของ ข้อมูลการเดินทาง รวมถึงคำเตือนที่ตั้งไว้ในปฏิทินที่จะช่วยเตือนความจำไม่ให้พลาดนัดสำคัญ

นอกจากนี้ การกดปุ่ม Google Assistant ค้างไว้ จะสามารถเปิดระบบ Walkie-Talkie ให้ผู้ใช้สามารถพูดคุยและถามคำถามยาวๆ กับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งหมดนี้ผู้บริหาร HMD มองว่าการแข่งขันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการเร่งพัฒนานวัตกรรมใหม่จะช่วยให้สินค้าช่วงราคาหมื่นกลางขายได้ดีขึ้น ช่วงดังกล่าวคือตลาดกลางถึงสูงซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ตลาดที่สำคัญมากสำหรับ HMD ทำให้บริษัทมองว่าต้องมีเทคโนโลยีที่ดี มากกว่าการเสนอแค่ราคาที่จับต้องได้

“จุดที่ Nokia ต้องเร่ง เมื่อเทียบกับคนอื่นที่ค่อนข้างแข็งแรง คือการทำทุกอย่างให้ดีขึ้นเสมอ เรื่องนี้ไม่มีวันสิ้นสุด ต้องทำต่อเนื่องมากขึ้นในอนาคต ผมเชื่อมั่นในประสบการณ์ที่ผู้ใช้จะได้รับ ทั้งเรื่องเสียง วัสดุที่พรีเมียมมากขึ้นในราคาที่จับต้องได้ และหน้าจอที่จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ให้ได้ในอนาคต”

เล็งบุกตลาดผู้ใช้องค์กร

นอกจากตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในตลาดคอนซูเมอร์ Nokia ยุคใหม่ยังมีแผนบุกตลาดเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยจะเน้นจับมือกับพันธมิตรบริษัทโอเปอเรเตอร์เป็นหลัก บนจุดขายซึ่งต่างจากปกติเพราะรุ่นที่ถูกนำไปใช้ในองค์กรมักจะเป็นรุ่นเรือธงราคาสูง แต่สมาร์ทโฟนของ Nokia ที่ได้รับการแนะนำว่าเหมาะกับองค์กร (Enterprise Recommend) นั้นประกอบด้วยหลากหลายรุ่น ทำให้บริษัททั่วไปสามารถเลือกตามรุ่นที่ต้องการได้

โนเกียไม่เพียงมั่นใจว่า “ราคา” จะเป็นจุดแข็งเจาะตลาดผู้ใช้องค์กรได้ แต่ยังมีเรื่องการอินทิเกรดเข้ากับระบบขององค์กรซึ่งทำได้ง่ายในเครื่องโนเกียที่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์วัน การไม่มีโปรแกรมอื่นครอบจะช่วยทำให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนระบบได้เต็มที่

ผู้บริหาร HMD ทิ้งท้ายว่าเทรนด์สมาร์ทโฟนในอนาคตยังคงอยู่ที่ความคุ้มค่า การมีโซลูชันที่ดีกว่า และการตอบโจทย์ผู้ใช้ในเซ็กเมนต์เฉพาะได้ ที่สำคัญคือการอัปเดทซีเคียวริตี้ และการชื่อเครื่องใหม่เพื่อทดแทนเครื่องเดิมนั้นจะถูกยืดเวลาออกไป ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเปลี่ยนมือถือทุกปี

เห็นแล้วใช่ไหมว่า Nokia เกิดใหม่ครั้งนี้ไฉไลรอบด้านกว่าเดิม.


กำลังโหลดความคิดเห็น