ทรูมูฟ เอช ชี้การวัดคุณภาพอินเทอร์เน็ตมือถือด้วยการใช้ผลความเร็วดาวน์โหลด-อัปโหลดผ่านโปรแกรมทดสอบไม่ได้ชี้ถึงคุณภาพ 4G ที่แท้จริง แต่ต้องมีปัจจัยอย่างความเสถียร และประสบการณ์ใช้งานมาช่วยด้วย ทำให้มั่นใจในผลทดสอบของ nPerf ที่ใช้หลายปัจจัยในการคำนวณ และทรูมูฟ เอช เป็นผู้นำอยู่ในขณะนี้
นายภัคพงศ์ พัฒนมาศ รองผู้อำนวยการ ด้านธุรกิจโมบายล์ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเหตุผลที่ทรูมูฟ เอช เชื่อมั่นในผลการทดสอบของ nPerf ผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต เพราะมีปัจจัยที่น่าสนใจอยู่ที่ nPerf ไม่ได้ทดสอบแค่ความเร็วในการดาวน์โหลด-อัปโหลด หรือเวลาในการเชื่อมต่อเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงการทดลองเปิดใช้งานหน้าเว็บไซต์อย่าง Google, Yahoo, Pantip รวมถึงทดลองโหลดวิดีโอสตรีมมิ่งในระดับความละเอียด 240p, 480p และ 720p มาทดสอบร่วมด้วย จนเป็นการทดสอบในหลายๆ มิติ
“ผลการดาวน์โหลดหรืออัปโหลดไม่ได้ตอบคำถามทุกอย่างเกี่ยวกับการทดสอบโมบายอินเทอร์เน็ต เพราะบางทีอาจจะมีปัญหาจากเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ ดังนั้น เมื่อมีการนำปัจจัยอื่นมาคำนวณแล้วออกมาเป็นผลคะแนนที่ชัดเจน ก็จะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการใช้งานที่แท้จริง”
จากผลการทดสอบตลอดปี 2560 และในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ทรูมูฟ เอช ยังคงเป็นผู้นำในส่วนของการเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ให้บริการมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมมากที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ทางทรูมูฟ เอช ยังได้ชี้ให้เห็นถึงภาพรวมตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยเวลานี้ว่ามีจำนวนผู้ใช้งานราว 90 ล้านราย จากประชากร 67-68 ล้านราย ทำให้ถ้าคิดเป็นจำนวนการใช้งานต่อประชากรก็จะขึ้นมาอยู่ที่ราว 130%
ยิ่งเมื่อการให้บริการ 4G ครอบคลุมมากขึ้น การใช้งานอินเทอร์เน็ตก็มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันฐานลูกค้าของทรูมูฟ เอช มีสัดส่วนลูกค้าที่ใช้งาน 4G อยู่ราว 40-45% เมื่อเทียบกับตลาดรวมจะอยู่ที่ราว 30%
“ทรูมูฟ เอช ให้ความสำคัญกับการใช้งานของลูกค้าในแง่การขยายเน็ตเวิร์ก และการลงทุนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะด้วยการมีคลื่นความถี่ที่แข็งแรงด้วยแบนด์วิดท์ที่มีถึง 55 MHz บนคลื่นความถี่ 850 900 1800 2100 MHz รายเดียวในตลาด”
จุดแข็งหลักของทรูมูฟ เอช คือ มีทั้งคลื่นความถี่สูงที่รองรับปริมาณการใช้งานจำนวนมากได้ และคลื่นความถี่ต่ำที่ช่วยให้พื้นที่ให้บริกาครอบคลุม ขณะที่บางรายที่มีเฉพาะคลื่นความถี่สูงก็จะให้บริการที่ครอบคลุมได้ยากกว่า
อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตพฤติกรรมของลูกค้าที่ใช้งานในเวลานี้ ผู้บริโภคบางรายไม่ได้ต้องการความเร็วที่สูงมาก แต่เน้นในแง่ของความเสถียรในการใช้งาน โดยเฉพาะในแง่ของประสบการณ์ใช้งานที่ดี เข้าถึงคอนเทนต์ที่ต้องการได้รวดเร็ว”
นายธนะพล จันทวสุ ผู้อำนวยการด้านปฏิบัติการโครงข่ายทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงเทคโนโลยีที่ทรูมูฟ เอช นำมาใช้งานในปัจจุบันว่า นอกเหนือจากการขยายเครือข่าย 4G+ แบบ 3CA หรือการรวมคลื่น 900 1800 2100 MHz เข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้ได้ความเร็วระดับ 300 Mbps แล้ว
ทางทรูมูฟ เอช ยังได้ขยายสัญญาณเพิ่มเติมด้วยการอัปเกรดเครือข่ายให้รองรับการส่งสัญญาณแบบ 4x4 MIMO ได้ครอบคลุมทุกจังหวัดแล้ว และกำลังขยายเพิ่มเป็น 8x8 MIMO ในพื้นที่หัวเมืองหลัก
ส่วนแผนภายในสิ้นปีนี้ คือ การนำเทคโนโลยีใหม่ FDD MASSIVE MIMO 32T32R มาให้บริการเป็นรายแรกของโลก เป็นเทคโนโลยีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานได้ดีกว่าเดิม 5 เท่า ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาภายในศูนย์เทคโนโลยีของกลุ่มทรู ร่วมกับผู้ให้บริการอุปกรณ์เครือข่ายชั้นนำ
รวมถึงเทคโนโลยี LAA (Licensed Assisted Access) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นการนำคลื่นความถี่แบบ Unlicensed มาใช้งานด้วยเทคโนโลยี Long Term Evolution (LTE) หรือการนำ WiFi มาใช้บนเทคโนโลยี 4G เพื่อเพิ่มขีดสุดแห่งความเร็วแรง โดยจะเปิดให้ลูกค้าทรู ได้สัมผัสประสบการณ์ก่อนใคร เร็วๆ นี้
“การลงทุนเทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากจะเป็นการรองรับปริมาณการใช้งานของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสบการณ์ใช้งาน และถือเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การให้บริการ 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”
ในแง่ของการพัฒนาเครือข่าย กลุ่มทรู ให้ความสำคัญว่าลูกค้าจะได้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีที่สุด และต้องการให้ลูกค้ามีความสุข ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน เพราะด้วยเทรนด์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน 50-60% ของผู้บริโภคเข้าถึงคอนเทนต์ผ่านสมาร์ทโฟนแทนโทรทัศน์ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกค้า ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของผู้ให้บริการเครือข่าย เพราะต้องคอยมอนิเตอร์ตลอดเวลาว่า ลูกค้านำไปใช้งานประเภทใดบ้าง เพื่อปรับแต่งเครือข่ายให้ตรงกับการใช้งานของลูกค้าให้มากที่สุด
“พฤติกรรมลูกค้าตอนนี้มีหลากหลายมาก ทั้งการใช้งานเว็บไซต์ ดาวน์โหลดวิดีโอ เล่นเกม เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ในระดับโลกนี้ ถ้าไม่ดีก็นำไปปรับปรุงเพื่อให้เครือข่ายตอบสนองการใช้งานของลูกค้าได้จริง”
ส่วนในอนาคต เชื่อว่าการมาของ Device ที่หลากหลาย และ IoT ที่จะมีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจำนวนมหาศาลเข้ามาเชื่อมต่อ จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพดีอยู่เสมอ
(บทความประชาสัมพันธ์)