วันนี้ (9 ก.ค.) หลังจากที่หน่วยกู้ภัย #ถ้ำหลวง ชิงพาตัว 4 ผู้ประสบภัยออกมาจากถ้ำหลวงก่อนโดยไม่รออุปกรณ์ที่เรียกว่า “เรสคิว พอด” (rescue pod) ถุงอัดอากาศที่พ่อมดโลกเทคโนโลยีอย่าง “อีลอน มัสก์” เสนอให้ความช่วยเหลือ ล่าสุด อีลอน มัสก์ ปล่อยภาพความสำเร็จในการทดสอบการใช้งานถุงนี้ พร้อมย้ำว่า แม้ไม่สามารถทำประโยชน์ได้ในขณะนี้ แต่เชื่อว่า rescue pod จะมีประโยชน์แน่นอนในอนาคต
Given Chiang Rai airport hours, soonest we could’ve departed US was an hour ago, but cave now closed for diver rescue. Will continue testing in LA in case needed later or for somewhere else in future.
— Elon Musk (@elonmusk) July 8, 2018
rescue Pod หรือที่อีลอน มัสก์ ใช้คำว่า escape pod นั้น มีลักษณะเป็นถุงอัดอากาศที่ถูกออกแบบเพื่อใช้ในภารกิจช่วยเหลือ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ของไทย ผู้ออกแบบ rescue pod คือ บริษัท วิง อินแฟรเทเบิลส์ (Wing Inflatables) ซึ่งได้รับคำขอจากทีมวิศวกรสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ซึ่งนั่งเก้าอี้ผู้บริหารและสถาปนิกผลิตภัณฑ์ของเทสลามอเตอร์สคู่ไปด้วย
อีลอน มัสก์ ปล่อยภาพทดสอบการใช้งานถุงนี้โดยบรรยายวิดีโอว่าเป็นการทดสอบในสระว่ายน้ำที่แอลเอ สหรัฐอเมริกา วิดีโอนี้ได้รับความสนใจสูงมากจากชาวทวิตเตอร์ จำนวนผู้ชมทะลุ 8 แสนครั้งในเวลา 2 ชั่วโมง
Testing underwater in LA pool pic.twitter.com/CDO2mtjP2D
— Elon Musk (@elonmusk) July 8, 2018
ก่อนหน้านี้ อีลอน มัสก์ ส่งข้อความชื่นชมทีมดำน้ำผู้ให้ความช่วยเหลือ 13 ชีวิตถ้ำหลวง โดยยอมรับว่า การตัดสินใจลำเลียงผู้ประสบภัยก่อนที่มรสุมใหญ่จะมานั้น เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล พร้อมกับแชร์ข่าวจากสำนักข่าวบีบีซี ที่ระบุว่า ภารกิจลำเลียง 4 ชีวิตในถ้ำออกมาเป็นชุดแรกได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่ Rescue Pod ถูกส่งขึ้นเครื่องบินส่วนตัวของ อีลอน มัสก์ พอดี
Extremely talented dive team. Makes sense given monsoon. Godspeed. https://t.co/t5XRo3gTxK
— Elon Musk (@elonmusk) July 8, 2018
เว็บไซต์เทสลาราติ (teslarati.com) ระบุว่า เช้าวันศุกร์ที่ 6 ก.ค. แอนดริว บรานาก (Andrew Branagh) ซีอีโอ Wing Inflatables เริ่มต้นออกแบบ จัดทำ และทดสอบ Rescue Pod โดยพนักงาน 30% ของบริษัท อุปกรณ์ดังกล่าวทำจากพลาสติกโพลียูรีเทน สีดำ และสีส้ม ความยาว 7 ฟุต มีลักษณะเป็นถุงพองตัวเพราะมีการอัดอากาศผ่านอุปกรณ์ลักษณะเดียวกับท่อลำเลียงออกซิเจนในจรวดฟอลคอน (Falcon rocket) เมื่อผู้โดยสารเข้าไปในถุงอากาศนี้ ถุงจะถูกปิดผนึก แล้วถูกรัดเข็มขัดติดเข้ากับถังอากาศสำหรับดำน้ำ เพื่อให้นักดำน้ำลากจูงต่อไป
หลังจากเริ่มต้นออกแบบและผลิตเมื่อเวลา 09.30 น. การทดสอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบจึงเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 13.00 น. จากการทดสอบพบว่า ทำงานตรงกับที่วางแผนไว้ ตัวถุงมีน้ำหนักเบาพอที่จะลากจูงโดยนักดำน้ำ 2 คน (น้ำหนักเมื่อแห้งราว 40 กิโลกรัม) และเล็กพอที่จะลอดช่องหินเล็กแคบภายในถ้ำ ทีมจึงลงมือผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวเริ่มต้นที่ 5 ลำ ขึ้นเครื่องบินส่วนตัวของอีลอน มัสก์ ส่งไปยังประเทศไทย เมื่อเวลา 17.15 น. ของวันศุกร์ (6 ก.ค.) โดยอีก 8 ลำที่เหลือได้ทยอยส่งเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ก.ค. ตามมา เบ็ดเสร็จแล้ว อีลอน มัสก์ ระบุว่า ใช้เวลาพัฒนา 8 ชั่วโมง บนระยะเวลาจัดส่ง 17 ชั่วโมง
Construction complete in about 8 hours, then 17 hour flight to Thailand
— Elon Musk (@elonmusk) July 7, 2018
ไม่ว่าอย่างไร การเลือกแผน 1 ของทีมกู้ภัยถ้ำหลวงในการลำเลียงผู้ประสบภัยรอบแรกไม่ได้ทำให้อีลอน มัสก์ ยุติการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยเหลือ โดยยืนยันว่าจะพัฒนาต่อแม้จะไม่ได้ใช้งานในรอบนี้ เนื่องจากอุปกรณ์อาจเป็นประโยชน์ในสถานการณ์อนาคต เบื้องต้น มีการโพสต์ขอบคุณโรงเรียน Palisades Charter High School ที่อนุญาตให้ใช้สระว่ายน้ำของโรงเรียนในการทดสอบถุงอัดอากาศนี้.
Will do. Even if not useful here, perhaps it will be in a future situation.
— Elon Musk (@elonmusk) July 8, 2018