แบตเตอรี่ Lithium-Ion (Li-ion) ที่จะติดป้าย Made In India ของอินเดีย ถือเป็นการวางแผนเพื่อยุติการพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศจีน โดยแดนโรตีสามารถฝ่าปัญหาเรื่องการขาดเทคโนโลยีที่ทำให้ต้องพึ่งพาแบตเตอรีลิเธียมไอออนจากจีน ผลจากแผนนี้จะทำให้อินเดียกลายเป็นหนึ่งในประเทศหลักที่ผลิตแบตเตอรีชาร์จไฟได้ ตามหลังสหรัฐอเมริกา และจีน ที่นั่งแชมป์โลกผู้ผลิตรายใหญ่ในขณะนี้
สินค้ากลุ่มโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์วางตัก คือ สินค้าส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มักใช้พลังงานจากแบตเตอรีลิเธียมไอออน นอกจากนี้ ยังมีสินค้ากลุ่มนาฬิกาอัจฉริยะ และกลุ่มเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์พกพาอื่น โดยจากประวัติพบว่า แบตเตอรีชาร์จไฟได้ถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกโดยโซนี่ (Sony) ในโทรศัพท์มือถือรุ่นปี 1991 ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมา การใช้งานของแบตเตอรีนี้เติบโตหลายเท่าตัว สถิติล่าสุดบันทึกว่ามีการใช้แบตเตอรี่นี้มากกว่า 33,000 ล้านชิ้นในปัจจุบัน
ปัจจุบัน จีนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรีลิเธียมไอออนรายใหญ่ที่สุดในโลก รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา หากแดนภารตะสามารถผลิตแบตเตอรีได้ อินเดียจะเข้าร่วมชิงชัยครั้งนี้ด้วยโรงงานผลิตแบตเตอรีลิเธียมแห่งแรกในประเทศ
โรงงานนี้เป็นผลจากทีมนักวิจัยชาวอินเดีย ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตแบตเตอรี Li-ion ขึ้นเอง โดยล่าสุดสถาบัน Central Electro Chemical Research Institute (CECRI) ในมืองคารายกุดิ รัฐทมิฬนาฑู ได้เซ็นเอ็มโอยูกับบริษัท RAASI Solar Power Pvt Ltd ผลจากการลงนามบันทึกความเข้าใจนี้จะทำให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีการผลิต Li-ion และจะมีการจัดตั้งโรงงานผลิตแห่งแรกของประเทศอินเดียขึ้น
รายงานระบุว่า เทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน CECRI โดย ดร. โกพู กุมาร์ (Gopu Kumar) ร่วมกับสถาบันวิจัยพัฒนาฟิซิกส์แห่งชาติ (CSIR-National Physical Laboratory) ในนิวเดลี และสถาบันวิจัยกระจก และเซรามิก (CSIR-Central Glass and Ceramic Research Institute) เมืองโกลกาตา และสถาบันเทคโนโลยีเคมีแห่งอินเดีย (CSIR-Indian Institute of Chemical Technology) ในไฮเดอราบัด ทั้งหมดนี้ถือเป็นความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีออกจากห้องปฏิบัติการ เพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมที่สำคัญของอินเดีย
สำหรับแบตเตอรีลิเธียมไอออนนั้น ถูกมองเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์มาก เนื่องจากประสิทธิภาพการพกพา และอายุการใช้งานแบตเตอรีที่พัฒนาขึ้น คาดว่าอินเดียจะได้รับผลดีในยุคที่โลกกำลังพัฒนายานยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Vehicles (EV) ซึ่งการลงมือพัฒนาและตั้งโรงงานเอง จะทำให้อินเดียได้เปรียบมากกว่าปัจจุบัน ที่อินเดียยังคงผูกติดอยู่กับประเทศจีน ด้วยการนำเข้าแบตเตอรี Li-ion เกือบ 100% เหมือนประเทศไทย