xs
xsm
sm
md
lg

ไมโครซอฟท์ โยนศูนย์ข้อมูลลงทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ช่วยโลกได้แถมยังประหยัดเงิน สำหรับกรณีของไมโครซอฟท์ที่เพิ่งจะนำร่องถ่วงศูนย์ข้อมูลลงในทะเล

โครงการนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า โปรเจกต์นาติก (Project Natick) ศูนย์ข้อมูลในโครงการนี้จะทำงานอยู่ใต้ทะเลนอร์ธซี (North Sea) ความลึกมากกว่า 100 ฟุตใกล้กับหมู่เกาะออร์คนีย์ ของอังกฤษ ผลของการถ่วงลงทะเล จะทำให้ศูนย์ข้อมูลนี้ใช้พลังงานทดแทนโดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าได้เต็มที่



นอกจากนี้ การนำศูนย์ข้อมูลหรือดาต้าเซ็นเตอร์ไปติดตั้งในทะเล ยังทำให้การท่องเว็บของผู้คนในละแวกนั้นทันใจยิ่งขึ้น เนื่องจากการนำศูนย์ข้อมูลมาติดใกล้กับศูนย์ประมวล ผลจะช่วยลดระยะการส่งข้อมูลไปมาระหว่างผู้ใช้ และเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการ จุดนี้ไมโครซอฟท์ ให้ข้อมูลว่าเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก นั้น อาศัยอยู่ภายใน 150 กิโลเมตร (120 ไมล์) รอบชายฝั่งทะเล

ที่สำคัญ น้ำทะเลยังมีความเย็นที่ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการระบายความร้อนจากศูนย์ข้อมูลลงได้ ทำให้งบประมาณในการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลลดลงอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับศูนย์ข้อมูลใน Project Natick นั้นประกอบด้วยเซิร์ฟเวอร์ 864 ตัวที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ตู้นี้ถูกขนส่งออกไปในระยะประมาณ 22 กม. (14 ไมล์) จากชายฝั่ง จุดนี้ข้อมูลชี้ว่า กองทัพเซิร์ฟเวอร์ในโครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการหลายร้อยหลายพันตารางฟุต ซึ่งหากการทดสอบครั้งนี้สำเร็จ คาดว่าจะมีการปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ได้เต็มขั้นต่อไป

ในโครงการนำร่องนี้ ไมโครซอฟท์ กล่าวว่าจะใช้ศูนย์ข้อมูลเป็นเวลา 12 เดือน ก่อนอื่นจะดึงเซิร์ฟเวอร์ขึ้นมาตรวจสอบแบตเตอรี เพื่อวิเคราะห์การใช้พลังงาน ระดับความชื้น ผลกระทบเรื่องเสียงรบกวน และอุณหภูมิที่เกิดขึ้น จากนั้น ไมโครซอฟท์ จะเปิดให้ลูกค้าบางรายใช้งานศูนย์ข้อมูลนี้ หากประสบความสำเร็จ ไมโครซอฟท์ ระบุว่าจะเปิดใช้งานเซิร์ฟเวอร์ต่อไป และอนุญาตให้ลูกค้าสามารถใช้งานระบบประมวลผลของตัวเองได้เสรี

ขณะนี้ Project Natick ทดสอบในทะเลบนการอนุมัติจากรัฐบาลสก็อตแลนด์ จุดนี้ข้อมูลระบุว่า ศูนย์ข้อมูลได้รับการออกแบบมาให้พอดีกับตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการขนส่งมาตรฐาน ทำให้สามารถจัดส่งตามที่ต้องการได้

สำหรับหมู่เกาะออร์คนีย์ เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างพลังงาน 100% จากแหล่งพลังงานลม แหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ และแหล่งน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้ศูนย์ข้อมูลของไมโครซอฟท์ ซึ่งมีแหล่งจ่ายไฟผ่านเคเบิลใต้น้ำ จะไม่เพิ่มปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือวิกฤต climate change

ถ้าแนวคิดนี้สำเร็จ ศูนย์ข้อมูลใต้น้ำอาจจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ในวงการศูนย์ข้อมูล น่าเสียดายที่ไมโครซอฟท์ ไม่เปิดเผยตัวเลขค่าใช้จ่ายในโครงการศูนย์ข้อมูลใต้น้ำ มีเพียงการประกาศว่า ต้นทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์จะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าศูนย์ข้อมูลบนดินทั่วไปในระยะยาว จุดนี้โฆษกไมโครซอฟท์ มั่นใจว่า ศูนย์ข้อมูลประเภทนี้อาจนำไปสู่การลดต้นทุนด้านโครงสร้างให้เรียบง่าย ซึ่งรวมถึงการบำรุงรักษา และการใช้พลังงานที่จะน้อยลงตามไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น