สงกรานต์เมืองไทยว่าร้อนแรงแล้ว สถานการณ์ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊ก ที่ถูกวุฒิสมาชิกสหรัฐฯซักถามเรื่องมาตรการป้องกันความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน ล่าสุด สำนักข่าวเดอะเวิร์จ (The Verge) รวบรวม 8 ช่วงเวลาที่ไม่ธรรมดาเมื่อ สส. และ สว. อเมริกัน เอ่ยถามแทนคนอเมริกันทั้งประเทศตลอด 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งใน 8 ช่วงเวลานี้ ทำให้เจ้าพ่อเฟซบุ๊ก ต้องเอ่ยปากขอโทษหลายครั้ง และประกาศชัดเจนว่า “เราทำธุรกิจโฆษณาครับท่าน ส.ว.”
11-12 เมษายนที่ผ่านมา ซักเคอร์เบิร์ก ขึ้นให้การต่อหน้าสมาชิกสภาสูงสหรัฐฯ เป็นเวลารวมกันกว่า 12 ชั่วโมง ที่เดอะแคปิตอล ฮิล รัฐสภาคองเกรส คำถามดุเดือดล้วนเกี่ยวกับกรณีอื้อฉาว ซึ่งทำให้ข้อมูลส่วนตัวของคนอเมริกัน 87 ล้านคนรั่วไหลจนถูกนำไปใช้ในแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด
นอกจากคำถามทางเทคนิกซับซ้อน หลายคำถามเป็นคำถามที่น่าชื่นชม เพราะฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ เลือกใช้คำถามอุปมาอุปมัยที่เผยให้เห็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย และความรู้สึกตลกปนความกดดัน ซึ่งทำให้ซักเคอร์เบิร์ก ถูกมองว่าเกือบตายคาจอทีวี ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
1. เรื่องช็อคโกแลต
ก่อนที่จะเริ่มคำถาม สว. บิล เนลสัน เล่าว่า หลังจากได้บอกเพื่อนบางรายบนเฟซบุ๊กว่าชอบรับประทานช็อกโกแลตบางชนิด ตั้งแต่นั้นมา โฆษณาช็อกโกแลตก็ปรากฏบนเฟซบุ๊กตลอดเวลา
สว. เนลสัน บอกว่า ถ้าผมไม่ต้องการได้รับโฆษณาพวกนั้นล่ะ? อย่างไรก็ตาม คำถามนี้ไม่มีคำตอบ แต่เป็นการบอกเล่าให้ทุกคนที่ร่วมฟังคำให้การ ได้เห็นภาพถึงสาเหตุที่ทำให้วุฒิสมาชิกต้องเรียกตัวเจ้าพ่อเฟซบุ๊กมาชี้แจง
2. Palantir คือ “Stanford Analytica”
สว. มาเรีย แคนท์เวลล์ พยายามเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องระหว่างเฟซบุ๊ก และเคมบริดจ์อะนาไลติกา (Cambridge Analytica) ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้ดูดข้อมูลส่วนตัวของชาวเฟซบุ๊กไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจนเกิดวิกฤตครั้งนี้
สว. มาเรีย ถามว่า ซักเคอร์เบิร์กเห็นด้วยหรือไม่ว่า บริษัทพาลานเทีย (Palantir) มักถูกเรียกว่า “Stanford Analytica.” บ่อยครั้ง โดย Palantir ที่ท่าน สว.อเมริกันพูดถึงคือ บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลที่ก่อตั้งโดยปีเตอร์ ธีล ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งเฟซบุ๊ก เพราะเป็นผู้ให้เงินลงทุนเริ่มแรก
ปีเตอร์ ธีล นั้นมีสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด โดย Palantir ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2005 ความซับซ้อนเกิดขึ้นเมื่อ Palantir มีกลุ่มทุนหนุนหลังที่ใกล้ชิดกับหน่วยข่าวกรองกลางรัฐบาลสหรัฐฯ หรือซีไอเอ (CIA) ทำให้ Palantir มีภาพความใกล้ชิดกับรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาตลอดมา
คำถามนี้ทำให้ซักเคอร์เบิร์ก เงียบไปหลายวินาที ก่อนจะตอบว่า “ท่าน สว. ครับ ผมยังไม่เคยได้ยิน” แม้ในใจอาจจะรู้ดีว่า สว. มาเรีย ต้องการอ้างอิงถึง Cambridge Analytica ซึ่งเป็นบริษัทที่ดึงข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว ผ่านแบบทดสอบส่วนตัว
3. “ท่าน สว. ครับ เราทำโฆษณา”
สว. ออร์ริน แฮตช์ คือ ผู้ทำให้ซักเคอร์เบิร์กพูดประโยคนี้ ในขณะที่ท่าน สว. พยายามสรุปว่า เฟซบุ๊กเปิดให้ใช้งานฟรีอย่างที่อ้างหรือไม่?
แต่คำถามของ สว. ออร์ริน ทำให้ผู้ฟังเกิดคำถามว่า สว. ออร์ริน เข้าใจหรือไม่ว่า เฟซบุ๊กทำธุรกิจอย่างไร และสร้างรายได้อย่างไร เพราะท่าน สว. ถามว่า “แล้วคุณจะรักษาธุรกิจที่ผู้ใช้ไม่ต้องจ่ายเงินค่าบริการได้อย่างไร”
“ท่าน สว. ครับ เราทำโฆษณา” ซักเคอร์เบิร์ก ตอบ สถานการณ์นี้เรียกรอยยิ้มเล็ก ๆ จากผู้ฟังทั่วห้องประชุม
“เข้าใจแล้ว” สว. ออร์ริน ตอบกลับทันทีว่า “ดีมาก”
4. สว. ยังคงรักเฟซบุ๊ก
วุฒิสมาชิกหลายคนพยายามใช้โอกาสทองจากการอยู่ร่วมกับซีอีโอเฟซบุ๊ก เช่น สว. รอย บลันท์ ที่เล่าว่า ลูกชายวัย 13 ปี นามว่า ชาร์ลี กำลังทุ่มเทใช้งานอินสตาแกรม (Instagram) บริการในเครือเฟซบุ๊ก ดังนั้น ชาร์ลีจึงอยากจะแน่ใจว่า พ่อได้พูดถึงเขา ในขณะที่พ่อได้พบกับซีอีโอเฟซบุ๊กที่รัฐสภา
ขณะที่ สว. ธอม ทีลลิส เล่าว่ามีเพื่อนกว่า 4,900 คนในเพจเฟซบุ๊ก ไม่มีใครเป็นกลุ่ม hater ที่โพสต์ด้วยข้อความทำให้เกลียดชัง และมีการตั้งห้องสำหรับสมาชิกครอบครัว และเพื่อนที่แท้จริงบนหน้าเพจส่วนตัว จุดนี้ สว. ธอม บอกว่า ตัวเองเป็นสมาชิกที่ชื่นชอบเฟซบุ๊กมาก และเพิ่งได้อ่านโพสต์จากน้องสาวในโอกาสวันชาติ 10 เมษายนที่ผ่านมา
ด้าน สว. เชลลี มัวร์ แคปิโต ขอให้ซีอีโอเฟซบุ๊กนำบริการไฟเบอร์มาสู่พื้นที่ชนบทในเขตเวสต์เวอร์จิเนีย หากได้เดินทางมายังเขตชนบทอีกในโอกาสหน้า เธอชี้แจงว่า บางพื้นที่ชนบทของรัฐขาดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตคุณภาพสูง คำขอนี้เปิดทางให้ซักเคอร์เบิร์กได้อ้างอิงถึงโครงการมอบอินเทอร์เน็ตฟรีโดยไม่ได้มองที่โอกาสทางการตลาดเท่านั้น จุดนี้รายงานระบุว่า ในวันที่ 2 ที่เจ้าพ่อเฟซบุ๊กขึ้นให้การรัฐสภา สมาชิกสภาคองเกรสหลายคนตัดสินใจทำแบบเดียวกัน ด้วยการขอให้ซีอีโอเฟซบุ๊กติดต่อกลับเพื่อให้เมืองของตัวเองได้ติดอินเทอร์เน็ตฟรีของเฟซบุ๊กบ้าง
5. ทำไมเฟซบุ๊กต้องแบนเพจไก่ทอด Chick-Fil-A?
สว. เท็ด ครูซ ยิงคำถามซักเคอร์เบิร์กอย่างละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลที่เฟซบุ๊กมีอคติต่อกลุ่มอนุรักษ์นิยม ท่าน สว. ตั้งข้อสังเกตจากหลักฐานที่สำนักข่าวกิซโมโด (Gizmodo) รวบรวมไว้เมื่อปี 2016 ว่า เฟซบุ๊กได้ปิดหน้าเพจ Chick-Fil-A Appreciation Day ของแบรนด์ไก่ทอด Chick-Fil-A และเมื่อเร็ววันนี้ ยังได้ปิดกั้นผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.2 ล้านราย เพราะเฟซบุ๊กให้เหตุผลว่า เนื้อหาและแบรนด์ของเพจนี้ “ไม่ปลอดภัยต่อชุมชน”
อย่างไรก็ตาม ชาวอเมริกันบนทวิตเตอร์ (Twitter) หลายคนชี้ว่า สว. ครูซ นั้นเน้นเรื่องเชนไก่ทอดมากกว่าจะไต่สวนเรื่องข่าวฉาว Cambridge Analytica นอกจากนี้ สว. ครูซ ยังถามซักเคอร์เบิร์ก เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ผู้ก่อตั้งโอคูลัส (Oculus) อย่างปาล์เมอร์ ลักกี้ (Palmer Luckey) ถูกไล่ออก เพราะความคิดเห็นทางการเมือง แต่ซักเคอร์เบิร์กปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริง
6. แอบฟัง?
สมาชิกสภาคองเกรสไม่พลาดตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อข้องใจว่า เฟซบุ๊กแอบฟังผู้ใช้ผ่านทางโทรศัพท์ โดยวุฒิสมาชิก แกรี่ ปีเตอร์ส ถามคำถามนี้ในรูปแบบใช่หรือไม่ ขณะที่ สส. แลร์รี่ บัคชอน ยกตัวอย่างลูกชายที่ชอบซื้อชุดสูต และได้เห็นโฆษณาแบบออนไลน์
“ถ้าคุณไม่ได้ฟังเราทางโทรศัพท์ งั้นใครล่ะ? และคุณมีสัญญากับบริษัทเพื่อให้ข้อมูลที่ได้รับด้วยวาจาหรือไม่?”
โดนถามซึ่งหน้าแบบนี้ เจ้าพ่อเฟซบุ๊กได้แต่ตอบว่า “ตามความเข้าใจของผม หลายกรณีอาจเป็นเรื่องบังเอิญ”
7. คุณจะทำอย่างไร ถ้าข้อมูลของคุณรั่วไหล มาร์ก?
วุฒิสมาชิก ดิก เดอร์บิน ถามคำถามเด็ดดวงจนทำให้ซักเคอร์เบิร์กหน้าเปลี่ยน โดยถามว่า “คุณซักเคอร์เบิร์ก คุณจะยินดีบอกพวกเราถึงชื่อโรงแรมที่คุณพักเมื่อคืนหรือไม่?” คำถามนี้ทำเอาเจ้าพ่อเฟซบุ๊กอึ้ง เผลอพ่นลมท่ามกลางเสียงหัวเราะของผู้ฟัง ก่อนจะบอกว่า “ไม่ครับ”
สว. ถามต่อว่า “ถ้าคุณส่งข้อความแชตในช่วงสัปดาห์นี้ คุณช่วยบอกเราได้ไหมว่าใครบ้างที่คุณส่งข้อความถึง?”
ซักเคอร์เบิร์ก ยอมรับว่า “ไม่ครับ ผมจะไม่เลือกเปิดเผยต่อสาธารณชนที่นี่” คำถามนี้ทำให้ สว. สามารถสะท้อนว่า ทำไมผู้ใช้เฟซบุ๊กจึงกังวลเกี่ยวกับการละเมิดข้อมูล และการบุกรุกความเป็นส่วนตัว เหมือนที่มาร์กเองก็หวงแหนความเป็นส่วนตัวของตัวเอง
Mark Zuckerberg was grilled on Tuesday over Facebook's ongoing data, privacy, and information scandals.
— Vox (@voxdotcom) April 11, 2018
A standout line of questioning came from Sen. Dick Durbin, who challenged Zuckerberg about his comfort level with his own personal information.
Watch the exchange: pic.twitter.com/715BoUdHP4
8. Facemash เป็นประเด็น
แทนที่จะมุ่งไปที่บริการเฟซบุ๊กปัจจุบัน สส. บิลลี ลอง เลือกถามเจ้าพ่อเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเฟซแมช (Facemash) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ซักเคอร์เบิร์ก สร้างขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะสร้างเฟซบุ๊ก โดย สส. ถามว่า ”Facemash คืออะไร และมันยังคงทำงานอยู่ไหม?”
“ไม่ครับ มีภาพยนตร์ที่พูดถึงแอปพลิเคชันนี้” ซักเคอร์เบิร์ก ตอบโดยอ้างอิงกับภาพยนตร์เรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network) ปี 2010 “เรื่องนี้ไม่ใช่ความจริง ในภาพยนตร์บอกว่า Facemash มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่จริง และไม่เคยเป็นจริง”
สส. ลอง ยังคงไม่ปล่อย ยังคงถามซักเคอร์เบิร์ก ประเด็น Facemash อีกว่า “แค่บังเอิญใช่ไหม? ช่วงเวลาแค่เหมือนกันใช่มั้ย? คุณใส่ภาพของผู้หญิงสองคน เพื่อให้คนได้โหวตกันว่า คนใดคนหนึ่งดีกว่าและน่าสนใจมากกว่า?”
สื่ออเมริกันชี้ว่า การสนทนาเรื่อง Facemash ทำให้เจ้าพ่อเฟซบุ๊กรู้สึกอึดอัดชัดเจน ก่อนที่ สส. จะให้ความเห็นว่า ซีอีโอหนุ่มมาไกลมากแล้วตั้งแต่เริ่มต้นทำ Facemash
ผู้สนใจ อ่านเพิ่มเติมเรื่องคำให้การของซีอีโอเฟซบุ๊กที่นี่.