โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) ผู้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์ให้กับโตโยต้า จัดการแข่งขันประกวดเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์จำลองไร้คนขับ (Annual Student Meeting on Automotive Embedded System หรือ AMAS) ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 หวังเพิ่มบุคลากรของไทยด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ควบคุมยานยนต์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับนักศึกษาตั้งเป้าให้ไทยเป็นฐานในการพัฒนาซอฟต์แวร์ควบคุมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
งานนี้ บริษัทโตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมมือกับ บริษัทโตโยต้า ทูโช เด็นโซ อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ประกอบด้วย สมาคมสมองกลฝังตัวไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท เทคซอร์สซิสเต็ม (ไทยแลนด์) จัดงานประกวดเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์จำลองไร้คนขับ AMAS เป็นการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขัน 12 ทีมจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, FIBO ภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ
มาซามิ อิคุระ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ บริษัท โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตและพัฒนายานยนต์ที่มีความสำคัญอย่างมาก แต่จะทำอย่างไรให้ระดับความสามารถของไทยก้าวไปสู่การแข่งขันระดับโลก คำตอบ คือ การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์จัดการภายในรถยนต์ จะสามารถเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยไปสู่ระดับโลกในอนาคตอันใกล้ ทำให้ทางบริษัทมองเห็นถึงความสำคัญในการให้ความรู้กับภาคการศึกษาในประเทศไทย เพื่อเป็นการบ่มเพาะและสร้างบุคลากรทางด้านการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่ต่อไปจะเป็นเหมือนกับสมองสั่งการยานยนต์ในอนาคต
“หากไทยสามารถนำหน้าประเทศอื่นได้ก่อนก็จะสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันเป็นอย่างมาก และสามารถพัฒนาไปสู่ศูนย์กลางในการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับยานยนต์ที่เป็นอนาคตที่สำคัญของโลกต่อไป”
การจัดการแข่งขัน AMAS เป้าหมายหลักอยู่ที่การเพิ่ม และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์ โดยบริษัทโตโยต้า ทูโชฯ ได้เข้ามาสนับสนุน ทั้งด้านอุปกรณ์ คือ รถจำลอง และชิ้นส่วนต่าง ๆ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ให้กับทีมนักศึกษาเพื่อพัฒนาระบบซอฟต์แวร์โดยพัฒนาตามรูปแบบ Model Base Development Base (MBD)
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลกในแง่ของกำลังการผลิตรถยนต์ที่ประมาณ 2 ล้านคัน มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3% โดยเฉลี่ย แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกวันนี้ มากกว่าครึ่งของโลกนั้น คือ รถยนต์นั่งที่มีความต้องการ และกำลังเปลี่ยนแปลงระบบข้างในที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี และเชื่อมกันด้วยซอฟต์แวร์
บริษัทวิจัย Zion Market Research ประมาณการมูลค่าตลาดระบบซอฟต์แวร์สำหรับยานยนต์ทั่วโลกจะมีมูลค่าประมาณ 159,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะถีบตัวสูงขึ้นถึง 225,340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2021 หรือเติบโตเฉลี่ยในระดับ 6% ต่อปี โดยปัจจุบัน แหล่งพัฒนาซอฟต์แวร์เหล่านี้ยังกระจุกตัวอยู่ในประเทศเดิม ๆ ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, เยอรมนี จีน และญี่ปุ่น
จากผลสำรวจล่าสุดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) พบว่า ตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (embedded software) ในประเทศไทย ปี 2559 มีมูลค่าตลาดรวม 5,277 ล้านบาท โดยกลุ่มที่มีการเติบโต คือ ส่วนของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นสมองกลฝังตัวเพื่อใช้กับสินค้าของบริษัท โดยมีฐานะเป็นหน่วยผลิตภายใน (in-house producer) มีจำนวนผู้ประกอบการพุ่งสูงขึ้น ซึ่งโตโตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี้ เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวแบบหน่วยผลิตภายใน (in-house producer)
มาซามิ กล่าวว่า ปัจจุบัน ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีการพูดถึงยานยนต์อัจฉริยะที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง หรือ Autonomous Car หรือยานยนต์ไร้คนขับ (Self Driving) โดยปัจจุบันเริ่มได้เห็นความสามารถของรถยนต์ที่มีขายอยู่ทั่วไป แต่ยังอยู่ในรูปแบบกึ่งอัตโนมัติ โดยบริษัทวิจัยการ์ตเนอร์คาดการณ์ว่า Autonomous Car จะเพิ่มจำนวนขึ้น 25% ในปี 2030 ในประเทศที่มีความพร้อม สำหรับประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถพัฒนารูปแบบการใช้งานภายใต้กฎหมายไปถึงระดับใด แต่ทางโตโยต้า ทูโชฯ ได้ดำเนินการสนับสนุนให้ประเทศไทย เป็นแหล่งพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบยานยนต์อัจฉริยะที่สำคัญของโลกต่อไป
สำหรับรูปแบบการแข่งขัน Annual Student Meeting on Automotive Embedded System หรือ AMAS เป็นการแข่งขันประกวดซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์จำลองไร้คนขับ โดยคัดเลือกนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศเข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งก่อนแข่งขันทางบริษัทได้จัดอบรมให้กับผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา เพื่อถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาใช้กับซอฟต์แวร์ ระบบควบคุมรถยนต์ โดยที่มีโจทย์ให้บรรดาทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันนั้นสร้างซอฟต์แวร์ระบบควบคุมรถยนต์จำลองให้สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองผ่านสิ่งกีดขวางไปยังจุดที่กำหนด
มาซามิ สรุปทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ต้องการให้เกิดจากโครงการประกวด AMAS ปี 2 คือ การเปิดโอกาสและกระจายความรู้สู่ภาคการศึกษาของประเทศไทยในเรื่องของซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์ ซึ่งสามารถต่อยอดการพัฒนาไปสู่เทคโนโลยียุคใหม่อย่าง Autonomous Car หรือรถยนต์ไร้คนขับได้ในอนาคต และเมื่อประเทศไทยสามารถเปลี่ยนตัวเองจากศูนย์กลางในการผลิตไปสู่ศูนย์กลางในการพัฒนาทั้งแง่ของการผลิตและสร้างซอฟต์แวร์ยานยนต์เพื่ออนาคตได้แล้ว เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาชั้นนำของโลกได้อย่างไม่ยาก
สำหรับทีมที่ชนะการแข่งขัน คือ ทีมนักศึกษาจาก LKB48 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะได้รับโอกาสให้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของโตโยต้า และเดนโซในญี่ปุ่น ทีมรองชนะเลิศ คือ ทีม Double E จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้เงินรางวัล 10,000 บาท และทีม Antman จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับรางวัลถึง 2 รางวัล คือ รางวัลที่สาม ได้เงินรางวัล 5,000 บาท และรางวัลพิเศษ คือ รางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม (Good Design Award) ได้เงินรางวัล 5,000 บาท