กสท โทรคมนาคม เร่งปรับตัวรับดิจิทัล ตั้งเป้าภายใน 3 ปี สัดส่วนรายได้ที่มาจากดิจิทัลเซอร์วิสเพิ่มขึ้นเป็น 10% ของรายได้รวม ชูจุดเด่นจับมือพันธมิตร ผสานช่องทางบริการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่บุคลากรหลังบ้านต้องปรับให้เป็นดิจิทัล ควบคู่กับการสร้างช่องทางออนไลน์สื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น
นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจและบริการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งแต่ปีนี้บริษัทได้ปรับแนวทางดำเนินธุรกิจจากผู้ให้บริการโครงข่ายพื้นฐาน มามุ่งเน้นธุรกิจด้านบริการดิจิทัลมากขึ้น เพื่อยกระดับการแข่งขันขององค์กรให้ทันกับเทคโนโลยีปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน ก็ต้องสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล เป้าหมาย คือ ภายใน 3 ปี รายได้ที่มาจากบริการดิจิทัลเซอร์วิส จะโตขึ้นหนึ่งเท่าตัว จากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 4% ของรายได้รวมที่มีอยู่ประมาณ 49,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2561 บริษัทตั้งเป้าหมายมีรายได้บริการดิจิทัลอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาท หรือเติบโต 30% จากปี 2560 ที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1,100 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 10% ของรายได้ โดยรายได้จากการใช้งานดาต้า, วอยซ์, บริการดิจิทัล และดาต้าเซ็นเตอร์ ในปี 2560 อยู่ที่ 11,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้บริการดิจิทัลเป็น 30% ภายใน 3 ปี
สำหรับแนวทางในการสร้างบริการดิจิทัลของบริษัท จะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งด้านดิจิทัลในระดับโลก เช่น ผู้ให้บริการคอนเทนต์แพลตฟอร์มรูปแบบต่าง ๆ โดย กสท โทรคมนาคม มีทั้งโครงข่ายพร้อมทีมการตลาด และสำนักงานขายทั่วประเทศ
ทำให้สามารถวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าและเลือกนำเสนอบริการดิจิทัลที่สามารถตอบโจทย์ตรงความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ โดยเฉพาะกลุ่มองค์กร มุ่งเป้าหมายการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับลูกค้า เช่น การใช้ Big data ในการปรับปรุงบริการของธุรกิจบริการต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังผสานความร่วมมือข้ามธุรกิจโดยไม่จำกัดตัวเองอยู่กับด้านสื่อสารโทรคมนาคม โดยร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมบริการใหม่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เช่น ความร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์
“บริการที่จัดอยู่ในกลุ่มดิจิทัลเซอร์วิส ตอนนี้เรามีบริการ อี-บิสิเนส, บริการคลาวด์, ดาต้าเซ็นเตอร์, บิ๊กดาต้า และ IoT ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีบริการใหม่ๆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการจับมือกับพันธมิตรรายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในบริการแต่ละด้าน”
นายดนันท์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน การให้บริการหลังบ้านก็ต้องปรับเปลี่ยนให้รองรับการให้บริการที่เป็นดิจิทัลมากขึ้นด้วย พนักงานต้องสามารถเข้าใจความต้องการของลูกค้า และพร้อมนำเสนอโซลูชันที่ตรงความต้องการได้ รวมถึงการให้บริการหน้าบ้านก็ต้องปรับให้ลูกค้าสามารถติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือการสร้างแชตบอทเพื่อตอบข้อสงสัยกับลูกค้า