xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาที่โลก AR อยู่ในมือผู้บริโภค (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อพูดถึง 2 เทรนด์เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาเชื่อว่า AR และ VR ต่างเป็น 2 เทคโนโลยีที่เกิดมาคู่กัน เพียงแต่ว่าในช่วงที่ผ่านมาอาจจะไม่เห็นการนำมาใช้งานที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายๆด้าน ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน โดยมีคอนเทนต์เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้เกิดการใช้งาน

เบื้องต้น ถ้าจะให้แบ่งง่ายๆว่า AR กับ VR แตกต่างกันอย่างไร ก็คือ AR หรือ Augmented Reality จะเป็นการจำลองวัตถุ หรืออุปกรณ์ขึ้นมาแสดงผลผ่านดีไวซ์ บนพื้นที่รอบๆตัว ที่ใกล้ตัวผู้บริโภคในปัจจุบันก็จะมีอย่างการนำสติกเกอร์ หรือตัวละครแอนิเมชันต่างๆ เข้ามาแสดงผลในโหมดถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟน

ในขณะที่ VR หรือ Virtual Reality จะเป็นการจำลองสถานที่ หรือสร้างโลกจำลองขึ้นมา แล้วให้ผู้ใช้งานเข้าไปอยู่ในพื้นที่ หรือโลกดังกล่าว ซึ่งจะต้องใช้อุปกรณ์อย่างแว่น VR มาช่วยเพื่อให้การแสดงผลสมบูรณ์แบบมากขึ้น

โดยจากรูปแบบการใช้งานดังกล่าว ทำให้ในชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคจะเข้าไปสัมผัสกับ AR ได้ง่ายกว่า ผ่านอุปกรณ์ที่ทุกคนมีติดตัวคือสมาร์ทโฟน ในขณะที่ถ้าต้องการใช้งาน VR อาจจะต้องใช้งานภายในบ้าน หรือในสถานที่ที่ปลอดภัย เพราะเมื่อสวมแว่นเข้าไปแล้ว จะไม่สามารถรับรู้ถึงสิ่งที่อยู่รอบๆตัวได้

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ทำให้ AR ถูกพัฒนามาใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้น เกิดจากการที่นักพัฒนาสามารถเข้าถึงชุดโปรแกรมในการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับ AR โดยเฉพาะได้ง่ายขึ้น จากการผลักดันของแอปเปิล (Apple) ที่มีการนำเสนอ ARKit 1.0 ออกมาสู่ตลาดในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยให้การพัฒนาแอปทำได้ง่ายขึ้น

เพียงแต่ใน ARKit 1.0 จะมีข้อจำกัดในแง่ของการแสดงผลที่วัตถุจะจำกัดอยู่บนพื้นราบเท่านั้น แต่ในอัปเดต ARKit 1.5 ที่กำลังจะเปิดตัวในเร็วๆนี้ จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถกำหนดผนัง กำแพง หรือเพดานขึ้นมา เพื่อให้การใช้งานสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ใช้งาน iOS บน iPhone ที่เริ่มจาก iPhone SE, iPhone 6s iPhone 6s Plus, iPhone 7, iPhone 7 Plus ,iPhone 8 ,iPhone 8 Plus และ iPhone X รวมถึง iPad รุ่นที่ 5 และ iPad Pro ทุกรุ่น สามารถใช้งานแอปพลิเคชันที่พัฒนาจาก ARKit ได้ทันที

ทั้งนี้ แอปเปิล ระบุว่า ใน iPhone X และ iPad Pro ที่ใช้หน่วยประมวลผล Apple A11 จะให้ประสบการณ์ใช้งาน AR ได้สมบูรณ์มากที่สุด เนื่องจากหน่วยประมวลผลสามารถทำงานได้ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนๆ ทำให้แสดงผลได้รวดเร็วกว่ากัน

รวมๆแล้ว ทำให้ผู้ใช้งาน iOS หลายร้อยล้านคนจึงสามารถเข้าถึงประสบการณ์ AR ได้ง่ายขึ้น และช่วยให้นักพัฒนามีช่องทางในการผลิตแอปพลิเคชันที่น่าสนใจบนพื้นฐานของ AR ออกสู่ตลาดได้ ทั้งเพื่อความบันเทิง และยังสามารถใช้เพื่อการเรียนรู้ รวมถึงการนำเสนอธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆได้

ที่น่าสนใจคือไม่ใช่แค่ฝั่งของแอปเปิล เพียงฝ่ายเดียวที่ออกชุดพัฒนาสำหรับ AR เพราะล่าสุดทางกูเกิล ก็ได้เปิดตัวชุดพัฒนาอย่าง ARCore 1.0 ออกมาเช่นเดียวกัน โดยเพิ่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการภายในงาน Mobile World Congress 2018 ที่ผ่านมา ในการเข้าไปช่วยสนับสนุนให้นักพัฒนานำ ARCore ไปเป็นชุดโปรแกรมพื้นฐานในการพัฒนาแอปพลิเคชัน AR

เบื้องต้น กูเกิล ระบุว่า ในปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน AR และพร้อมใช้งานแอปที่พัฒนาบน ARCore หลายร้อยล้านเครื่อง จากสมาร์ทโฟน 13 รุ่น ไม่ว่าจะเป็น Google Pixel ,Pixel XL ,Pixel 2 และ Pixel 2 XL ถัดมาคือ Samsung Galaxy S8 ,S8+, Note 8, S7, S7 edge รวมถึง LG V30 ,V30+, ASUS Zenfone AR และ OnePlus 5 (นับเฉพาะที่วางขายแล้วในปัจจุบัน)

ขณะเดียวกันกูเกิล ก็เข้าไปเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนไม่ว่าจะเป็น Samsung Huawei, LG, Motorola, ASUS, Xiaomi, HMD (Nokia), ZTE, Sony และ Vivo ทำให้คาดว่าจะมีสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน AR ออกมาอีกหลายรุ่นภายในสิ้นปีนี้
ธันยาพร ศรีสกุลภิญโญ หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ โฮมไพร์ส แพลตฟอร์มตกแต่งบ้านด้วยเทคโนโลยี AR
จะเห็นได้ว่า เมื่อ 2 แบรนด์ ไอทีรายใหญ่ ร่วมกันผลักดัน AR เข้าสู่มือผู้บริโภค ก็จะทำให้ผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี AR ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น จากที่ในปีที่ผ่านมาภาพของ AR รวมถึง VR จะยังเบลอๆ แต่ในปีนี้จะเห็นถึงความชัดเจนได้มากขึ้น

***รู้จัก 3 นักพัฒนาแอป AR ที่อยู่ในเมืองไทย

แม้ว่าชุดโปรแกรมพัฒนา ARKit ของแอปเปิล จะเปิดให้นักพัฒนานำไปใช้ได้ในช่วงเดือนธันวาคมผ่านมา แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นเพียง 3 เดือน ก็เริ่มมีการนำ ARKit มาพัฒนาออกมาเป็นแอปพลิเคชันที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือนักพัฒนาเหล่านี้อาศัยอยู่ในเมืองไทย ครอบคลุมทั้งแง่ของการซื้อขายสินค้าตกแต่งบ้าน เกม และแอปที่จำลองรูปปั้นจากพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกมาอยู่ในสมาร์ทโฟน

'ธันยาพร ศรีสกุลภิญโญ' หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ โฮมไพร์ส แพลตฟอร์มตกแต่งบ้านด้วยเทคโนโลยี AR ให้ข้อมูลว่า หลังจากที่ทางแอปเปิลมีการนำ ARKit มาให้นักพัฒนาได้ใช้งาน ก็ช่วยให้สามารถทำงานได้เร็วขึ้น และเป็นการเปิดวิธีการทำงานของนักออกแบบภายในให้ทำงานได้ง่ายขึ้น

'เดิมแอปพลิเคชันของโฮมไพรส์จะทำได้แค่การแสดงรูปแบบการตกแต่งห้องด้วยรูปภาพ จากนักออกแบบที่เป็นดีไซน์เนอร์ชื่อดังต่างๆ แต่ตอนนี้ด้วยการมาของ AR ทำให้ผู้บริโภคที่ต้องการแต่งบ้าน สามารถจำลองเฟอร์นิเจอร์ต่างๆมาไว้ภายในบ้านได้ด้วยตนเองในแบบเสมือนจริงบนสมาร์ทโฟน'

โดยปัจจุบัน โฮมไพร์สมีการนำสินค้าที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในบ้านกว่า 5,000 ชิ้น จาก 50 แบรนด์ เข้ามาให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ โดยสามารถจำลองการวางสินค้าชิ้นต่างๆในบ้านได้ทันที เพื่อให้เห็นถึงความเหมาะสมของสินค้าแต่ละชนิด ซึ่งเป็นขนาดจริง และมีการแสดงราคาสินค้าชัดเจน

'การนำ AR มาช่วยของโฮมไพร์สนอกจากจะช่วยให้การแต่งบ้านทำได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ SMEs ในเมืองไทยที่มีสินค้า แต่ไม่มีช่องทางจัดจำหน่ายสามารถเข้ามาร่วมอยู่ในแพลตฟอร์ม เพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที'
แซค อัลแคมโป หัวหน้าสตูดิโอ แซนด์บ็อกซ์ ผู้ผลิตเกมบนมือถือ
Homeprise Real จึงเป็นหนึ่งในการนำเทคโนโลยี AR มาใช้กับงานออกแบบภายใน ที่ช่วยสร้างความง่ายให้แก่ผู้บริโภค และช่วยให้ได้เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านได้ตามที่ต้องการ

ถัดมา 'แซค อัลแคมโป' หัวหน้าสตูดิโอ แซนด์บ็อกซ์ ผู้ผลิตเกมบนมือถือ ที่หันมาใช้เทคโนโลยี AR ช่วยในการนำเสนอ เล่าให้ฟังถึงความสนุกที่เกิดขึ้น จากการนำ AR มาใช้งาน ด้วยการออกแบบเกมอย่าง AR Block Party หรือเกมคอนโดไม้ (Jenga) ด้วยการใช้ AR จำลองขึ้นมาบนพื้นที่จริง และใช้สมาร์ทโฟนในการควบคุม
เจคอบ เลคการ์ด ผู้ก่อตั้ง Lykke Studio ผู้พัฒนาเกมตัวต่อรูปปั้น ที่นำเทคโนโลยี AR มาใช้ในชื่อ AMON
ทำให้ในระยะเวลาอันใกล้รูปแบบการนำเสนอของเกมบนสมาร์ทโฟนจะเปลี่ยนไป ผู้เล่นจะไม่ใช่แค่นั่งเล่นเกมอยู่กับที่เฉยๆ แต่มีการขยับเคลื่อนที่ตลอดเวลา และในอนาคตเมื่อเกม AR ถูกพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ก็สามารถเล่นพร้อมกันได้หลายคน และทำให้เกิดความสนุกสนานมากขึ้นด้วย

สุดท้าย 'เจคอบ เลคการ์ด' ผู้ก่อตั้ง Lykke Studio ผู้พัฒนาเกมตัวต่อรูปปั้น ที่นำเทคโนโลยี AR มาใช้ในชื่อ AMON ที่มาจากเทพราซึ่งเป็นตำนานอียิปต์โบราณ มาเป็นโครงเรื่อง ในการจำลองรูปปั้นจากพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกมาไว้ภายในแอปพลิเคชัน และมีการใส่รายละเอียดที่คมชัด สมจริงลงไปด้วย

ทั้งนี้ รูปแบบการนำเสนอของ AMON จะใช้เทคโนโลยี AR มาใช้ในการจำลองชิ้นส่วนของรูปปั้น เพื่อให้ผู้ใช้หามุมที่ถูกต้อง เพื่อประกอบเป็นรูปปั้นของจริง เมื่อต่อเสร็จแล้วก็จะมีรายละเอียดของรูปปั้นแต่ตัวแสดงออกมา โดยในแต่ละด่านก็จะมีความยากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าวิธีการนำ AR เข้ามาประยุกต์ใช้ในการนำเสนอข้อมูลในพิพิธภัณฑ์สถานต่างๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ และเชื่อว่าในอนาคตจะได้เห็นการนำ AR มาใช้กับพิพิธภัณฑ์ในเมืองไทย หรือการจำลองสถานที่ของไทยมาแสดงผลเป็น AR ให้ได้เห็นกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น