xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่ในซิลิคอนวัลเลย์เริ่มจำกัดการใช้งานเทคโนโลยีของลูก ๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจากเอเอฟพี
ขณะที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกกำลังผลักดันให้เด็ก ๆ มีบทเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นในห้องเรียนเพื่อให้เด็ก ๆ สามารถเข้าถึง หรือตอบรับต่อความต้องการของตลาดในอนาคตได้ แต่สถานการณ์ของซิลิคอนวัลเลย์นั้นกลับเริ่มตรงกันข้าม เมื่อมีพ่อแม่จำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในย่านดังกล่าวเริ่มออกมาปฏิเสธเทคโนโลยี และไม่ให้ลูก ๆ ได้เข้าถึงคอมพิวเตอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ

รายงานจาก BusinessInsider ได้ยกตัวอย่างของครอบครัวโคดูรี (Koduri) ที่ประกอบด้วยพ่ออย่างวีเจย์ โคดูรี (Vijay Koduri) อดีตพนักงานกูเกิล (Google) และแม่ มินนี ชาฮี (Minni Shahi) พนักงานแอปเปิล (Apple) ซึ่งทั้งสองคนมีลูกวัย 10 และ 12 ปี ความแตกต่างของครอบครัวนี้ คือ ไม่มีสินค้าเทคโนโลยีของบริษัทที่ทั้งพ่อและแม่ของพวกเขาทำงานอยู่ในบ้านเลย รวมถึงไม่มีวิดีโอเกมและสมาร์ทโฟนให้ใช้ด้วย เด็ก ๆ จะได้เล่นเกมสัปดาห์ละสิบนาที แต่สามารถเล่นบอร์ดเกมได้ไม่จำกัดเวลา รวมถึงในบ้านยังมีห้องสมุดขนาดใหญ่ให้เลือกอ่านได้ตามใจชอบ

พ่อแม่จากบ้านโคดูรี บอกว่า เมื่อถึงเวลาจะจัดหาสมาร์ทโฟนให้ลูกแน่ ๆ แต่แค่อยากดึงเวลานั้นออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

ที่น่าสนใจ คือ มีผลสำรวจจาก Silicon Valley Community Foundation พบว่า ในบรรดาพ่อแม่ที่อาศัยอยู่ในย่านซิลิคอนวัลเลย์ 907 คนนั้นไม่ได้เชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะมีประโยชน์สูงสุด และพ่อแม่หลายคนเริ่มกังวลว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อจิตใจและการพัฒนาการทางด้านสังคมของเด็ก ๆ

คิม แทวู (Kim Taewoo) หัวหน้าวิศวกร AI จากสตาร์ทอัปด้านแมชชีนเลิร์นนิ่ง ชื่อ One Smart Lab กล่าวว่า เราไม่สามารถมองแต่สมาร์ทโฟน และหวังว่าเราจะมีสมาธินานขึ้นได้ ตรงกันข้าม คิมเลือกที่จะสอนให้หลานของเขานั่งสมาธิตามหลักศาสนาพุทธ และเล่นเกมพัซเซิลต่าง ๆ แทนการเล่นเกมกับหน้าจอ

“บริษัทเทคโนโลยีรู้ว่า ยิ่งพวกเขาสามารถดึงเด็ก ๆ เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มของพวกเขาได้เร็วเท่าไร มันจะยิ่งกลายเป็นพฤติกรรมที่ติดตัวเด็ก ๆ ไปในระยะยาวได้มากเท่านั้น” โคดูรี กล่าว พร้อมยกตัวอย่างการที่บริษัทกูเกิลมีการผลักดันบริการ เช่น กูเกิลด็อก (Google Docs) กูเกิลชีต (Google Sheets) หรือเครื่องมือในการบริการจัดการ เช่น กูเกิล คลาสรูม (Google Classroom) เข้ามาใช้งานในโรงเรียน

โคดูรี ยกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมา เคยมีบริษัทผู้ผลิตยาสูบที่ทำการตลาดเพื่อดึงดูดให้เด็ก ๆ สูบบุหรี่ก่อนวัยอันควรมาแล้ว โดยใช้งบประมาณมากถึง 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

“สิ่งที่แตกต่างระหว่างบริษัทเทคโนโลยีกับบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ คือ บริษัทเทคโนโลยีไม่คิดว่า สิ่งประดิษฐ์ของพวกเขาเป็นอันตราย แน่นอนว่ากูเกิลจะบอกว่า เฮ้ เราเป็นคนดีนะ เรามาช่วยเด็ก ๆ เรามาช่วยบริหารห้องเรียน ไมโครซอฟท์เองก็คงจะบอกแบบนี้เช่นกัน” โคดูรี กล่าว

ไม่เฉพาะนักพัฒนารุ่นใหม่ ๆ ที่มองเห็นถึงอันตรายของเทคโนโลยี แม้กระทั่งบิล เกตส์ อดีตซีอีโอไมโครซอฟท์ ก็เคยกังวลกับพฤติกรรมลูกสาวที่เริ่มติดเกมมากเกินไป ซึ่งนำไปสู่กฎของบ้านที่จะไม่ให้เด็ก ๆ มีโทรศัพท์เป็นของตัวเองจนกว่าจะอายุ 14 ปี ขณะที่ทุกวันนี้ เด็กอเมริกันมีโทรศัพท์เครื่องแรกกันตอนอายุเฉลี่ย 10 ขวบเท่านั้น

สตีฟ จ็อบส์ และทิม คุก ซีอีโอแอปเปิล ก็เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการปฏิเสธเทคโนโลยีในบ้านเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น