xs
xsm
sm
md
lg

อาลีบาบา ลุยสมาร์ทโฮม หลังขายลำโพงอัจฉริยะได้ทะลุ 1 ล้านเครื่องในเทศกาลชอปปิ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อาลีบาบา (Alibaba) จับมือบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกจากเกาะไต้หวัน มีเดียเทค (MediaTek) ร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศสำหรับเทคโนโลยี IoT แล้ว โดยการพัฒนาครั้งนี้จะครอบคลุมทั้งในส่วนของโปรโตคอลเพื่อบ้านอัจฉริยะ, ชิป IoT และฮาร์ดแวร์ด้าน AI ซึ่งมองว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะนำไปสู่โซลูชันบ้านอัจฉริยะสำหรับใช้งานทั้งในตลาดจีน และตลาดโลก ที่เริ่มเปิดรับเทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้นเรื่อย ๆ

ความร่วมมือกันครั้งนี้มีการลงนามกันอย่างเป็นทางการในงาน CES 2018 ที่สหรัฐอเมริกา และได้มีการแนะนำโซลูชัน SmartMesh ตัวใหม่ที่สามารถซัปพอร์ตการเชื่่อมต่อแบบ Many-to-Many บนเครือข่าย Bluetooth Mesh ได้

โซลูชันนี้พัฒนาจากโปรโตคอล IoT ชื่อ IoTConnect และใช้ร่วมกับชิปที่ทางอาลีบาบา กับมีเดียเทค พัฒนาขึ้น ซึ่งจะอนุญาตให้อุปกรณ์ IoT ในบ้านเชื่อมต่อโดยอัตโนมัติกับลำโพงอัจฉริยะอย่าง ทีมอลล์ จีนี่ (Tmall Genie) ของอาลีบาบาได้เลย

การเคลื่อนไหวของอาลีบาบาในครั้งนี้ส่งผลให้ตลาดสมาร์ทโฮมอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยข้อมูลจากซีออน มาร์เก็ต รีเสิร์ช (Zion Market Research) บริษัทวิจัยตลาดระบุว่า มูลค่าตลาดสมาร์ทโฮมมีแนวโน้มจะก้าวขึ้นไปแตะที่ 53,450 ล้านเหรียญสหรัฐฯภายในปี 2022 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 14.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และเป็นตลาดที่พี่น้องตระกูลค้างคาวอย่างไป่ตู้ (Baidu) อาลีบาบา และเท็นเซนต์ (Tencent) ต่างก็เข้ามาอยู่ตลาดนี้กันครบทุกแบรนด์แล้ว

การมี IoTProtocol สำหรับฝั่งผู้บริโภค ถือได้ว่าช่วยอำนวยความสะดวกอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้หลายตัวในพอร์ทัลเดียว ซึ่งเท่ากับช่วยลดความยุ่งยากในการติดตั้ง การตั้งค่าพาสเวิร์ดต่าง ๆ ลงได้ ขณะที่ในฝั่งผู้ผลิต การมีโปรโตคอลขึ้นมาเป็นการเฉพาะก็เท่ากับช่วยลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบเชื่อมต่อของอุปกรณ์ เพราะมีตัวโปรโตคอลมาตรฐานแล้ว และที่สำคัญที่สุด คือ มันจะนำไปสู่การพัฒนาบ้านอัจฉริยะที่มีผู้ช่วย AI แบบที่สั่งการได้ด้วยเสียงได้อย่างเป็นระบบ

อีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในเทศกาลชอปปิ้งของจีนนั้น อาลีบาบา สามารถทำยอดขายทีมอลล์ จีนี่ ลำโพงอัจฉริยะได้มากกว่า 1 ล้านชิ้น เฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่ ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า จีนเองก็กำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจด้านผู้ช่วยสั่งการด้วยเสียงที่น่าจับตาไม่แพ้ฝั่งสหรัฐอเมริกาที่มีแอมะซอน อเล็กซ่า (Amazon Alexa) และกูเกิล แอสซิสแทนต์ (Google Assistant) แล้วเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น