xs
xsm
sm
md
lg

รู้หรือไม่ ไทยเรามี “Infographic พระราชทาน” ด้วยนะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กระแสการอธิบายเรื่องยุ่งยากให้เป็นเรื่องง่ายด้วยภาพที่โลกยุคใหม่ให้ชื่อเรียกกันว่า อินโฟกราฟิก (Infographic) เพิ่งฮอตฮิตในโลกออนไลน์ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีที่แล้ว หรือปี 2542 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงริเริ่มนำภาพกราฟิกมาอธิบายเรื่องยาก และเต็มไปด้วยซับซ้อนทางเคมีอย่าง “โครงการฝนหลวง” ให้เป็นเรื่องง่ายดายผ่าน Infographic

ภาพการ์ตูนที่ทรงบันทึกด้วยคอมพิวเตอร์นี้ถูกสร้างในยุคที่เทคโนโลยีมีข้อจำกัดสูงมาก การใช้คอมพิวเตอร์ทรงงานของพระราชาไอทีองค์นี้ จึงสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มที่

Infographic ฝนหลวงถูกเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า “แผนภาพ (การ์ตูน) ตำราฝนหลวงพระราชทาน” แผนภาพนี้มีเอกลักษณ์เดียวกับ ส.ค.ส. ฝีพระหัตถ์ โดยเฉพาะความเป็นสีขาว-ดำ ซึ่งเรื่องนี้ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เคยแสดงทรรศนะว่า เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงต้องการสะท้อนให้ลูกหลานไทยได้เห็นถึงตัวอย่างของความประหยัด มัธยัสถ์

“สิ่งของหลาย ๆ สิ่งแม้จะไม่มีสีสันดึงดูดตา แต่ก็มากมายด้วยความหมาย พระองค์พยายามทำทุกสิ่งให้เกิดประโยชน์ตลอดเวลา ทรงรักความเรียบง่าย ยึดมั่นในความหมาย และคุณค่าของสรรพสิ่งเป็นที่ตั้ง มากกว่าจะมองกันที่ความสวยงาม ฟุ้งเฟ้อ”

แผนภาพ (การ์ตูน) ตำราฝนหลวงพระราชทานเริ่มเป็นที่คุ้นตาของชาวไทยช่วงปี 2543 ซึ่งเป็นปีที่สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับพระราชทานพระราชบันทึกเป็นภาษาอังกฤษเรื่อง “THE RAINMAKING STORY” ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่มาของโครงการพระราชดำริฝนหลวง พระราชบันทึกนี้ทรงบันทึกโดยคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง พระราชทานผ่านกองงานส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2543

พระราชบันทึกประกอบด้วยส่วนหัวกระดาษที่แสดงรายละเอียดอย่างมืออาชีพ จุดที่น่าสนใจในสายตาของคนไอที คือ การกำหนดรหัสลำดับที่เอกสาร ซึ่งตรงกับวิธีการจัดฐานข้อมูล หรือ database ที่เป็นหัวใจหลักของโลกไอที

*** ฝีพระหัถต์ล้วน ไม่ใช่โปรแกรมสำเร็จรูป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มใช้คอมพิวเตอร์เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2529 หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช องคมนตรี ได้ซื้อคอมพิวเตอร์แมคอินทอชพลัส อันเป็นเครื่องที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย เหตุที่หม่อมหลวงอัศนีเลือกเครื่องนี้ เพราะสามารถเก็บ และพิมพ์โน้ตเพลงได้ การเรียนรู้ และการใช้งานไม่ยาก ทั้งยังอาจเชื่อมต่ออุปกรณ์พิเศษสําหรับเล่นดนตรีตามโน้ตเพลงที่เก็บไว้ได้ด้วย

ตั้งแต่นั้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในงานส่วน พระองค์ทางดนตรี โดยทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการป้อนโน้ตเพลง และเนื้อร้อง

พระองค์ทรงศึกษาวิธีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมที่เกี่ยวข้องด้วยพระองค์เอง ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าในหนังสือ “ดุจดวงตะวัน” (ปี 2538) ว่า

“เวลานี้ก็ทรงอยู่ทุกวันเลย อย่างเขียนโน้ตดนตรีนี่ไม่ได้ใช้โปรแกรมดนตรีนะ เขียนขึ้นมาเอง ใช้โปรแกรมธรรมดา คือ ของโบราณนั่นเอง เสร็จแล้วก็มาเขียน โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมดนตรีสำเร็จรูปมาเขียนโน้ตเหมือนคนอื่น นั่งเขียนเอง เวลานี้คนทำงานถวายในเรื่องนี้ คือ คุณดิสธร ลูกชายคุณขวัญแก้ว อย่างตอนนี้เวลาเขียนเรื่องต่าง ๆ ท่านก็ใช้เครื่องพิมพ์ทั้งนั้น แต่ก่อนที่ท่านจะเขียน จะแต่งเรื่องเล่น ๆ คือ เป็นการทดลอง ยุคแรก ๆ นั้นยังไม่ค่อยมีเรื่องเสียง ท่านก็ทำให้พูด สวัสดีครับ อะไรต่อมิอะไรตั้ง 10 กว่าปี นานแล้ว อีกอย่างที่ทำก็คือ วาดเป็นรูปต่าง ๆ ใช้วาดภาพ ท่านไม่ได้ใช้โปรแกรมอะไรใหม่ ๆ ทำอย่างไรก็ไม่รู้ ใช้ของโบราณนี่แหละ แล้วเอามาทำเอง”

“อย่างที่ทรงเขียนเรื่องพระมหาชนก นี่ท่านวาดได้ภาพพระมหาชนกว่ายน้ำ แล้วมีนางมณีเมขลาเหาะมา (ทรงพระสรวล) อะไรนี่ วาดได้แล้วก็วาด วาดแผนที่ ก็ไม่ได้ใช้โปรแกรมแผนที่อะไรเขียน วาดเป็นแผนที่อินเดีย แล้วท่านก็กะเอาว่า ในชาดกพูดไว้อย่างนี้ ในสมัยใหม่นี้ plot ว่า มันควรจะอยู่ตรงไหน ว่ายน้ำจากตรงไหนไปถึงไหน คนโน้นคนนี้ในเรื่องเดินทางจากไหนไปที่ไหน ขีดในแผนที่สมัยใหม่ว่า มันจะอยู่ในที่ไหน แล้วท่านก็เอาแผนที่อุตุนิยมมา แล้วก็เอามาสันนิษฐานว่า อากาศในวันนั้นควรจะเป็นอย่างไร เทียบกับตอนนั้นที่มีพายุพัดชาวประมงไปขึ้นบังกลาเทศ ท่านบอกว่า ลักษณะต้องอย่างนั้น ตอนที่ดูพระอาทิตย์ พระจันทร์ต่าง ๆ position มันคล้ายกันตรงไหน อะไรต่าง ๆ ท่านก็เอามาเทียบจากเรื่องชาดกมาเป็นเรื่องสมัยใหม่”

“ท่านก็ใช้ลงในเครื่องพวกนี้อย่างที่ทรงเพลงใหม่ ก็เห็นพิมพ์ในนั้น ดูเหมือนจะมี Word processor แต่ว่าใช้เขียน อย่างเขียนโน้ตเพลงรัก เพลงเมนูไข่ ที่เขียนใหม่ ก็ใช้เครื่องนั้น หรือพิมพ์หนังสืออะไร จะมีเรื่องมีราวอะไร ท่านก็ใช้พิมพ์ พิมพ์เองทั้งนั้น ไม่ต้องอาศัยเสมียนที่ไหน”

“แล้วก็เขียนเรื่องต่าง ๆ อย่างพระราชดำรัสตอนวันที่ 4 ธันวา ที่คนมาเฝ้าฯ พอเสร็จแล้ว ท่านก็แปลเป็นภาษาอังกฤษ ท่านแปลของท่านเอง แล้วพิมพ์ลงในนั้น พิมพ์ไว้ เวลานี้ท่านแต่ง auto-biography อยู่ แต่งถึงไหนก็ไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่เคยเห็นของท่านเลย ท่านเขียนลงในเครื่องคอมพิวเตอร์”

หนึ่งในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกเผยแพร่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัย คือ “Fontastic” พระองค์ทรงประยุกต์โปรแกรมนี้จนเกิดเป็นอักขระ หรือฟอนต์ (Font) อักษรภาษาไทย และภาษาอังกฤษหลายแบบ หลายขนาด จากตัวอักษรขนาดใหญ่ที่สุดจนถึงขนาดเล็กที่สุด รวมทั้งอักษรแบบลวดลายวิจิตรมีรูปประกอบสอดแทรกอยู่ด้วย พระองค์ทรงตั้งชื่อแบบตัวอักษรเหล่านั้น ตามที่ประทับเมื่อทรงเริ่มใช้โปรแกรม ได้แก่ ฟอนต์ภูพิงค์, ฟอนต์จิตรลดา เป็นต้น

“อย่างของ PC นี้ แต่ก่อนท่านจะใช้ CU WRITER แล้วก็เอามาทำเขียนทีละตัว ๆ เขียนภาษาสันสกฤต ซึ่งทำเอง หรือว่าตัวเขียนภาษาไทยนี่ก็ทำเอง เพราะรู้สึกว่าท่านไม่โปรดมากที่เข้าประดิษฐ์ตัวเขียนกันใหม่ ๆ ตัวเขียนที่ขีดเส้นฉวัดเฉวียนอะไรนี่ กริ้วทุกที ท่านก็จะเขียนของท่านเอง แต่ว่าที่ประดิษฐ์คำนั้น ท่านก็ใช้ software ของเดิม เพราะฉะนั้น ท่านเคยรับสั่งเมื่อมีการเฉลิมพระเกียรติอะไรกันทีหนึ่งว่า จะเอา font ของท่านเผยแพร่ ท่านจึงบอกว่า ความจริงแล้วมันไม่ถูก เพราะลิขสิทธิ์เป็นของคนอื่น ของเราเป็นแค่เอามาเขียน แต่ว่าตัวโปรแกรมเก่าเป็นของคนอื่น ท่านไม่ได้ทำมาเองตั้งแต่ต้น มันไม่ถูก แต่ว่าที่เห็นท่านเขียนเองเป็นตัวสันสกฤต (หมายถึงอักษรเทวนาครี) ไม่ได้ซื้อมาสำเร็จรูปแบบที่ว่า ใครเขาทำเอาไว้แล้ว” ส่วนหนึ่งจากหนังสือดุจดวงตะวัน

***เด็กไทยควรเดินตาม

ปฐม อินทโรดม ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ATCI ให้ความเห็นว่า ในยุคที่เด็กรุ่นใหม่คุ้นเคยกับการใช้แอปฯ ทำสารพัดสิ่ง ดูหนัง, ฟังเพลง, ตัดต่อวิดีโอ, เล่นหุ้น ฯลฯ ผ่านสมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุดอย่าง iPhone 7 ที่มีความเร็วสูงกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์อย่าง Cray-2 เมื่อ 30 ปีที่แล้วกว่า 60 เท่า ไม่ต้องพูดถึงคอมพิวเตอร์ธรรมดา ๆ อย่าง Apple Macintosh SE ที่ในหลวงใช้ทรงงานมายาวนานกว่า 20 ปี แถมด้วยความจำกัดจำเขี่ยของเทคโนโลยีในอดีตที่ไม่ได้มีแอปให้เลือกใช้มากมายเหมือนทุกวันนี้ ทำให้พระองค์ต้องทรงศึกษาการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในด้านต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง รวมถึงทรงประดิษฐ์การแสดงผลภาษาไทยเพื่อสร้างเป็น ส.ค.ส. พระราชทานให้ชาวไทยได้ชื่นใจกันทุกปี

“ยิ่งถ้าเราดู ตำราฝนหลวงพระราชทาน ก็จะยิ่งเห็นความสนพระราชหฤทัยของในหลวงต่อการใช้เทคโนโลยีได้อย่างที่คนรุ่นใหม่ไม่มีวันเทียบได้ เพราะคอมพิวเตอร์เครื่องเดิมนั้น ทรงใช้สรรสร้าง Infographic ภาพแรกในสยามประเทศ เพื่อให้ชาวไทยได้ดูเข้าใจกันง่าย ๆ ว่า ฝนหลวงเกิดมาได้อย่างไร” ปฐม กล่าว “เทคโนโลยีของในหลวง จึงไม่ใช่เพียงเครื่องมือที่ทรงใช้เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรในประเทศ แต่ยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างพอเพียง ที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์รุ่นใหม่ หรือเทคโนโลยีล่าสุดก็สามารถทรงงานได้เกินกว่าที่ใครหลายคนจะคาดคิด”

***บทความนี้ เคยเผยแพร่มาแล้วเมื่อปี 2559 สามารถอ่านฉบับเต็มได้อีกครั้ง ที่นี่***
กำลังโหลดความคิดเห็น