ตามข่าวลือ Google เทเงินซื้อผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีรายใหญ่ “เอชทีซี” (HTC) มูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท วางเป้าขยายความพร้อมในการพัฒนาโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ลำโพง และอุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งจะเสริมแกร่งด้วยบริการดิจิทัลเต็มสูบในอนาคต
21 กันยายน 2017 กูเกิล ออกแถลงการณ์ว่า บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการซื้อทีมงานบริษัทเอชทีซี ซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิตสมาร์ทโฟนพิกเซล (Pixel) ให้กูเกิลในช่วงก่อนหน้านี้ สำหรับการซื้อกิจการครั้งนี้ ข้อตกลงของทั้ง 2 บริษัท ระบุว่า กูเกิลจะได้รับใบอนุญาตที่ไม่ผูกขาดเฉพาะ หรือ non-exclusive license สำหรับทรัพย์สินทางปัญญาของ HTC ในไต้หวัน อันจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโทรศัพท์ Pixel ในอนาคตต่อไป
แถลงการณ์ของทั้งกูเกิล และเอชทีซี ย้ำว่า กูเกิลมีความจริงจังกับการออกแบบอุปกรณ์บนแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่อแข่งขันกับแอปเปิล (Apple) และแอมะซอน (Amazon) ในการต่อสู้กันเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีในวิถีชีวิตของผู้คน
“สำหรับกูเกิล ข้อตกลงนี้จะเสริมความแข็งแกร่งของกูเกิลในธุรกิจสมาร์ทโฟน และการลงทุนโดยรวมในธุรกิจฮาร์ดแวร์เกิดใหม่” แถลงการณ์กล่าว
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กูเกิลให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ นำระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ไปใช้ รวมถึงบริษัทอย่างเอชทีซี ของไต้หวัน นโยบายนี้เกิดขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่า ผู้คนจะใช้เครื่องมือค้นหา อีเมล แผนที่ บริการวิดีโอยูทูป (YouTube) และซอฟต์แวร์อื่นของกูเกิล บนสมาร์ทโฟน และฮาร์ดแวร์อื่น แต่การเปลี่ยนแปลงเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เมื่อกูเกิลหันมาประทับตราแบรนด์ตัวเองบนสมาร์ทโฟน และลำโพงเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต นั่นคือ สมาร์ทโฟนที่เอชทีซี ผลิตให้ในชื่อ Pixel ซึ่งกูเกิลออกแบบมาเมื่อปีที่แล้วจนนำไปสู่การเปิดตัวดีลซื้อขายกิจการครั้งนี้
แม้ว่าระบบปฏิบัติการ Android จะถูกใช้ในสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์เคลื่อนที่อื่น มากกว่า 4 ใน 5 ทั่วโลก แต่ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จนอาจเป็นความเสี่ยง ทำให้บริการของกูเกิลไม่ได้ถูกเน้นย้ำ หรือถูกดีดออกจากชุดแอปพลิเคชันที่ติดตั้งไว้ล่วงหน้าในสมาร์ทโฟนค่ายอื่น
อีกเหตุผลที่ทำให้กูเกิลตั้งสินค้าเดินหน้าสร้างสายพานการผลิตสมาร์ทโฟนตัวเองจริงจัง คือ ภาวะคุกคามเรื่องรายได้โฆษณาออนไลน์ และไม่มีสายพานการผลิตสมาร์ทโฟนเอง อาจทำให้กูเกิลมีความสามารถในการเพิ่มยอดขายโฆษณาให้กับบริษัทแม่ “อัลฟาเบ็ต” (Alphabet) ได้ต่างกัน เนื่องจากผู้คนในยุคนี้ใช้เวลามากขึ้นในสมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อื่น ๆ แทนการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
ที่สำคัญ นักวิเคราะห์เชื่อว่า ไอโฟน (iPhone) ของแอปเปิล และผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์อื่น ที่ได้รับความนิยม ทำให้กูเกิลมีแรงจูงใจในการพัฒนาโทรศัพท์ราคาสูงของตัวเอง เพื่อเป็นแพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือสำหรับผลิตภัณฑ์ และโฆษณา ของตัวเองต่อไป
อย่างไรก็ตาม ดีลกูเกิลซื้อเอชทีซี ถือเป็นการหวนคืนสู่ตลาดฮาร์ดแวร์ที่น่าประหลาดใจไม่น้อย เนื่องจาก 3 ปีที่แล้ว กูเกิลเพิ่งขายหน่วยธุรกิจสมาร์ทโฟนของเจ้าพ่ออเมริกันอย่างโมโตโรลา (Motorola) ไป แต่ก็ขายทิ้งไป และเปลี่ยนใจกลับมาซื้อเอชทีซี อีกครั้งในที่สุด