xs
xsm
sm
md
lg

นักการตลาดต้องลอง 2 ฟีเจอร์ใหม่ LINE ช่วยเลือกกลุ่มเป้าหมาย แถมล้วงลึกถึงพฤติกรรมลูกค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


LINE เพิ่ม 2 ฟีเจอร์ใหม่ให้แบรนด์ที่มี Official Account ใช้สามารถเลือกกลุ่มเป้าหมายในการสื่อสารถึง รวมถึงการเพิ่มกลยุทธ์ BCRM นำพฤติกรรมลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงที่สุด ขณะที่ LINE Sticker Sponsor ยังเป็นช่องทางสร้างการเข้าถึงแบรนด์ที่มีประสิทธภาพ

นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายขายและสื่อโฆษณา ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไลน์จะสร้างรายได้จากในกลุ่มลูกค้าองค์กร หรือแบรนด์มาจาก 2 ส่วนหลัก ๆ คือ การทำ LINE Official Account (OA) เพื่อเป็นช่องทางให้แบรนด์สื่อสารกับลูกค้า และอีกส่วน คือ การทำสปอนเซอร์สติกเกอร์

“ด้วยเทรนด์การทำตลาดในยุคดิจทัลที่เปลี่ยนแปลงไป เชื่อว่า การที่แบรนด์จะสื่อสารกับผู้บริโภคได้ ต้องมีช่องทางที่หลากหลาย และเข้าถึงรูปแบบใหม่ ๆ ในการสื่อสารได้ ซึ่งเชื่อว่า OA จะกลายเป็นพื้นที่สำหรับแบรนด์ในการทำมาร์เกตติ้งเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงได้”

ปัจจุบัน รูปแบบการสื่อสารของ OA จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ การโพสต์ในหน้าจอหลักของแบรนด์ (ที่จะไปปรากฏบนไทม์ไลน์ของผู้ใช้ที่ติดตามแบรนด์) ที่เบื้องต้นกำหนดไว้ไม่เกิน 60 ครั้งแต่เดือน กับอีกส่วนคือการส่งข้อความไปหาผู้บริโภคโดยตรง

“จุดเด่นในการสื่อสาร OA ของไลน์ คือ ไม่ได้มีการจำกัดปริมาณเข้าถึงในแต่ละโพสต์ทั้งในหน้าของ OA และไทม์ไลน์ นั่นหมายความว่า เมื่อแบรนด์มีการโพสต์ข้อความ ผู้ใช้ทุกคนที่เปิดไทม์ไลน์ดูมีโอกาสเห็น ไม่เหมือนกับบางแพลตฟอร์มที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเข้าถึงลูกค้า”

ขณะที่ในการส่งข้อความหาลูกค้าโดยตรง (Rich Message) ก็มีการกำหนดไว้เบื้องต้น 25 ครั้งต่อเดือน ซึ่งถ้าหากแบรนด์เมื่อเกินจำนวนที่กำหนดก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมา ประกอบกับก่อนหน้านี้ ในการส่งข้อความโดยตรง จะเป็นการส่งหว่านหาผู้ที่ติดตามทั้งหมด ไม่สามารถเลือกส่งได้

จึงได้มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่สำหรับ OA อย่างการ Targeting (การเลือกกลุ่มเป้าหมาย) ให้ตรงกับคนที่สนใจมากที่สุด โดยเลือกได้ทั้งเพศ อายุ ระบบปฏิบัติการที่ใช้ รวมถึงระยะเวลาในการเป็นเพื่อนกับแบรนด์ เพื่อเลือกกลุ่มผู้ติดตามที่จะสร้างโอกาสเพิ่มเติมกับแบรนด์ได้

“ตอนนี้เริ่มมีบางแบรนด์นำระบบ Targeting ไปใช้แล้วในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเท่าที่ดูจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ไม่ว่าจะเป็นการคลิกดูรายละเอียดจากข้อความเพิ่มเติม หรือปริมาณการเข้าถึง ซึ่งเป็นบริการที่ได้ประโยชน์ทั้งแบรนด์ และผู้บริโภคที่จะไม่รบกวนคนที่ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย”

ขณะเดียวกัน ยังได้เพิ่มบริการอย่าง Business Connect for CRM (BCRM) เพื่อเข้าไปจัดการข้อมูลของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการซื้อสินค้าหรือบริการ ประสบการณ์ใช้งาน ในการนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจให้แก่ลูกค้าได้โดยตรง

“ไลน์ เชื่อว่า ในการทำการตลาดที่ดี ไม่ใช่แค่ว่าสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ปริมาณมาก ๆ แต่ต้องรับรู้ด้วยว่า ลูกค้าเป็นใคร มีพฤติกรรมการใช้งานอย่างไร เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีหลายแบรนด์นำความสามารถตรงนี้ของไลน์ ไปใช้ในการสื่อสารกับลูกค้าแล้ว”

อย่างไรก็ตาม รายได้หลักอีกส่วนของไลน์ที่มาจากกลุ่ม LINE สปอนเซอร์ สติกเกอร์ ซึ่งทางทีม LINE Insights ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 69,000 คน พบว่า ผู้ใช้งานไลน์กว่า 80% ให้ความสนใจกับสปอนเซอร์สติกเกอร์ โดยจะรับรู้ว่ามีสติกเกอร์ใหม่จากสัญลักษณ์แจ้งเตือนในหน้า “สติกเกอร์ช็อป” รวมถึงการส่งต่อกันในกลุ่มเพื่อน และการโปรโมตผ่านช่องทางของแบรนด์

นอกจากนี้ ยังเผยถึง 5 ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ใช้ LINE ดาวน์โหลดสติกเกอร์ของแบรนด์ คือ 1. สติกเกอร์ต้องต้องมีคอนเทนต์อินเทรนด์ ใช้ได้ทุกวัน 2. เป็นสติกเกอร์เคลื่อนไหว และมีเสียง 3. ใช้ได้ทั้งชาย และหญิง 4. ใช้โลโก้ของแบรนด์อย่างพอประมาณ และ 5. สติกเกอร์เซ็ต 16 ตัว จะได้รับความนิยมสูงสุด

“สติกเกอร์ของแบรนด์ช่วยให้ผู้ใช้รู้จักแบรนด์มากขึ้นถึง 50% และเมื่อแบรนด์จัดกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะมีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นกว่า 40% ที่สำคัญ คือ ผู้ใช้อีกมากกว่า 25% จะสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ และบริการจากแบรนด์นั้นเพิ่มมากขึ้น”

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมโฆษณาดิจิตอล (ประเทศไทย) หรือ Digital Advertising Association (Thailand) DAAT ที่พบว่า การซื้อโฆษณาบนสื่อดิจิทัลยังเป็นสิ่งเดียวที่มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพื้นที่ออนไลน์ได้กลายเป็นศูนย์กลางของผู้บริโภค และแบรนด์ต่าง ๆ

โดยในปี 2559 มูลค่าการซื้อสื่อออนไลน์เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา 17% หรือเป็นมูลค่า 9,447 ล้านบาท และคาดว่าปี 2560 จะเพิ่มขึ้นถึง 24% หรือสูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมูลค่าการซื้อสื่อโฆษณาอื่น ๆ อาจลดลงถึง 11.3% (จากข้อมูลของนีลเส็น)

“DAAT จะมีการเก็บข้อมูลเฉพาะเม็ดเงินโฆษณาที่ซื้อผ่านทางเอเจนซีเท่านั้น ทำให้ในปีที่ผ่านมา อาจจะยังไม่สะท้อนมูลค่าตลาดโฆษณาออนไลน์ที่แท้จริง เพราะที่ผ่านมา แบรนด์จะทำการซื้อตรงกับไลน์ ไม่ได้ซื้อผ่านเอเจนซี แต่หลังจากนี้ที่เห็นว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้น เชื่อว่า ส่วนใหญ่จะมาจากโฆษณาของไลน์ ที่หลัง ๆ จะมีสัดส่วนการซื้อโฆษณาผ่านเอเจนซีเพิ่มขึ้น ทำให้ตัวเลขของ DAAT เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด”
กำลังโหลดความคิดเห็น