โมไบค์ เซ็นเอ็มโอยู ร่วมเอไอเอส, ม. เกษตร และซีพีเอ็น ในการนำบริการจักรยานสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน เริ่มต้นจากใน ม. เกษตร บางเขน 360 คันภายในเดือนกันยายน ก่อนดูแนวโน้มการใช้งานเพื่อลงทุนขยายบริการเพิ่ม ตามเป้าหมายในการให้บริการ 200 เมืองภายในสิ้นปีนี้
โจ เซียะ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยีของโมไบค์ กล่าวว่า การเปิดตัวของโมไบค์ในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการนำจักรยานที่ใช้แนวคิดการแบ่งปันมาให้บริการในไทย และขอดูผลตอบรับจากการเริ่มให้บริการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อนว่าเป็นอย่างไร ก่อนให้แนวทางถึงการให้บริการในอนาคต
“ที่ผ่านมา โมไบค์จะเริ่มให้บริการจากในชุมชนเล็ก ๆ ก่อน เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งาน ก่อนขยายธุรกิจด้วยการนำจักรยานจำนวนมากเข้าไปให้บริการอย่างในอังกฤษ ที่เริ่มจากเมืองแมนเชสเตอร์ จากไม่กี่ร้อยคัน ก็เพิ่มเป็นพันคันเติบโตมากกว่า 10 เท่าตัว”
สำหรับการเข้ามาให้บริการในประเทศไทย โมไบค์ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่างเอไอเอส ในการนำเทคโนโลยี NB-IoT เข้ามาใช้งานในการส่งข้อมูลในการสั่งงานจักรยาน พร้อมกับเซ็นทรัลพัฒนา (ซีพีเอ็น) ที่เห็นถึงความสำคัญในการนำจักรยานมาใช้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่แรกในการให้บริการ
นายสุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานบริหารผลิตภัณฑ์ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ให้ข้อมูลเพิ่มว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับทางโมไบค์ จะเป็นการนำบริการ NB-IoT ที่เอไอเอส เริ่มลงทุนเข้าไปใช้งาน
“ในการใช้งาน NB-IoT เอไอเอสจะใช้คลื่นความถี่ 900 MHz มาให้บริการ โดยจะใช้แบนด์วิดท์ไม่เกิน 200 Kbps ในการรับส่งข้อมูล ดังนั้น จึงไม่กระทบกับการให้บริการเครือข่าย และที่สำคัญ คือ เป็นเทคโนโลยีที่ประหยัดพลังงาน จึงสามารถใช้ไฟจากจักรยานมาให้บริการได้”
ปัจจุบัน โมไบค์ให้บริการใน 160 เมือง จากเป้าหมาย 200 เมืองภายในสิ้นปีนี้ มีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่า 100 ล้านคน โดยในแต่ละวันมีผู้ใช้งานจักรยานกว่า 25 ล้านครั้ง จากจำนวนจักรยานอัจฉริยะ 7 ล้านคัน ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่าน IoT ส่งผลให้ในแต่ละวันมีการส่งต่อข้อมูลบนแพลตฟอร์มกว่า 20 TB
จุดเด่นของจักรยานโมไบค์ คือ ถูกผลิตขึ้นมาจากการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เป็นจักรยานสำหรับให้บริการแชร์ริ่งภายในตัวเมือง เพื่อให้รองรับทุกสภาพอากาศด้วยการใช้อะลูมิเนียมในการผลิต เพื่อให้ตัวโครงไม่เป็นสนิม ประกอบกับในเวลาปั่นจะมีการเก็บไฟไว้ เพื่อใช้เป็นไฟหน้ารถ และระบบ IoT
ขั้นตอนในการใช้งานเริ่มจากดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ลงทะเบียน หลังจากนั้น สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อปลดล็อกการใช้งาน และสามารถนำรถโมไบค์ไปคืนที่จุดให้บริการที่กำหนดไว้ได้ทันที โดยเบื้องต้นจะเปิดให้บริการฟรีก่อน 2 เดือน หลังจากนั้น จะให้บริการในราคา 10 บาทต่อ 30 นาที โดยมีค่ามัดจำในการใช้บริการ 99 บาท
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนในแง่ของการเก็บค่าบริการ เนื่องจากทาง mPay จะเป็นแค่ช่องทางในการทำธุรกรรมเท่านั้น ซึ่งต้องรอการพัฒนาแอปพลิเคชันโมไบค์ ให้สมบูรณ์ก่อนว่าจะใช้ช่องทางใดในการชำระค่าบริการ
โมไบค์จะเริ่มให้บริการครั้งแรกในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในกรุงเทพฯ เพื่อให้นิสิต คณาจารย์ และผู้มาเยือนสามารถเดินทางระหว่างสถานที่ภายในมหาวิทยาลัย ได้อย่างง่ายดาย โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นับเป็นมหาวิทยาลัยผู้นำในการผลักดันและส่งเสริมโครงการมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างแท้จริงของไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
ทั้งนี้ โมไบค์จะถูกนำมาให้บริการในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในช่วงเดือนกันยายน ราว 360 คัน ก่อนที่จะทยอยเพิ่มเป็น 500 คันภายในสิ้นปีนี้ และมีโอกาสเพิ่มจำนวนอีกหลายพันคัน เพื่อให้บริการในหลายพื้นที่ต่อไป