เปิดภารกิจ “สดช.” หน่วยงานใหม่ใต้กระทรวงทันสมัย รวมทุกโครงการสำคัญด้านดีอี ไว้ที่เดียว ตั้งแต่เน็ตประชารัฐยันเรื่องดาวเทียม พร้อมรับนโยบายตรงจากบอร์ดดีอี ที่มีนายกฯ นั่งเป็นประธาน เผย 1 ก.ย. นี้ บอร์ดดีอี เคาะคณะกรรมการกองทุนดีอีแน่นอน พบมีรายชื่อ “ฐากร” นั่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดดีอี คาดจะเป็น 1 ในคณะกรรมการกองทุนฯ แน่นอน หลัง กสทช. โอนเงินเข้ากองทุนตามกฎหมายแล้ว 1,182.86 ล้านบาท
นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงแผนการทำงานภายใต้กรมใหม่ของกระทรวงดีอีว่า หลังจากการเปลี่ยนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เป็นกระทรวงดีอี โดยมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2559
เมื่อราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559 ซึ่งสาระสำคัญนั้น นอกจากให้ยกเลิกกระทรวงไอซีที เป็นกระทรวงดีอีแล้ว ยังมีส่วนราชการระดับกรม 5 หน่วยงาน ได้แก่ 1. สำนักงานรัฐมนตรี 2. สำนักงานปลัดกระทรวง 3. กรมอุตุนิยมวิทยา 4. สำนักงานสถิติแห่งชาติ และ 5. คือ สดช.
ทั้งนี้ หลายคนอาจมองไม่เห็นภาพว่า สดช. ทำงานอย่างไร และอาจมองว่า พันธกิจหลักของ สดช. มีเพียงแค่การทำงานรองรับนโยบายจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือบอร์ดดีอี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเท่านั้น
แต่ที่จริงแล้ว สำนักเดิมที่เคยอยู่กับสำนักงานปลัดกระทรวงดีอีนั้น จะต้องถูกโยกมาทั้งคน และงาน มายังสดช. ได้แก่ 1. สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ 2. สำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3. สำนักส่งเสริมและพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และ 4. สำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำให้ สดช. มีภารกิจหลัก ๆ ที่เป็นโครงการเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายดีอีของประเทศหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการเน็ตประชารัฐ โครงการนำสายโทรคมนาคมลงดิน กิจการดาวเทียม ที่สำคัญ คือ การบริหารเงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ด้วย
ดังนั้น พันธกิจของ สดช. จึงประกอบไปด้วย 1. กำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาดีอีของประเทศ 2. เป็นแกนกลางในการส่งเสริม ประสาน และบูรณาการความร่วมมือมือ ให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ 3. วางรากฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลประสิทธิภาพสูง เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต และ 4. ส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคม
สำหรับภารกิจหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การยกระดับดัชนีดิจิตอลให้เป็นระดับสากล 2. การขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล และ 3. การขับเคลื่อนด้านรัฐบาลดิจิตอล ขณะที่ภารกิจรอง คือ ประกอบด้วย 1. กำหนดแนวทางการบริหารเงินกองทุนดีอี 2. การศึกษาผลกระทบนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศไทย 3. แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล และ 4. การทำแผนพัฒนากำลังคนดิจิตอล
นางวรรณพร กล่าวว่า งานที่เกี่ยวข้องกับโครงการดีอีทั้งหมดต้องผ่าน สดช. ก่อนที่จะนำเข้า ครม. ส่วนเรื่องการประชุมร่วมกับบอร์ดดีอีนั้น จะพยายามจัดให้มีประชุมทุก 2 เดือน โดยในวันที่ 1 ก.ย. นี้ จะเริ่มประชุม และคาดว่าจะมีการสรุปรายชื่อคณะกรรมการกองทุนดีอี
โดยในวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติรายชื่อ ตามที่กระทรวงดีอีเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดดีอีแล้ว จำนวน 8 คน ได้แก่ 1. นายสุเจตน์ จันทรังษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 3. นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์
4. นายพลเดช ปิ่นประทีป กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ 5. นายกลินท์ สารสิน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารธุรกิจ 6. นายเข็มชัย ชุติวงศ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 7. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ 8. นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาและพัฒนากำลังคน
หลังจากนี้บอร์ดดีอี จะเลือกกรรมการส่วนหนึ่งจากจำนวนนี้มานั่งเป็นกรรมการกองทุนดีอี เพื่อให้สามารถบริหารเงินกองทุนได้ หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ส่งเงินเข้ากองทุนแล้ว จำนวน 1,182.86 ล้านบาท
“สดช.กำลังจะทำดัชนีชี้วัดด้านดิจิตอลของประเทศไทยร่วมกับนิด้า คล้ายกับที่สภาพัฒน์ฯ ทำ นอกจากนี้ เรายังมีแผนการทำงานร่วมกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก ทำงานร่วมกับ OECD องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา เพื่อยกระดับการทำงานระหว่างประเทศไม่ใช่แค่ประสานกับไอทียูอย่างเดียว”
ส่วนเรื่องดาวเทียมหลังจาก ครม. บอกว่า ให้ไทยคม 7 และ 8 กลับไปอยู่ในสัญญาสัมปทานเหมือนเดิม ก็เดินหน้าประชุมร่วมกับไทยคมแล้ว และดวงต่อไปก็จะไม่ทำให้เขาเสียโอกาสแน่นอน เพราะประเทศไทยมีไทยคมเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมที่เป็นคนไทยเพียงรายเดียว
ขณะที่ความร่วมมือกับภาครัฐจะเป็นอย่างไร ต้องรอดูกันต่อไป เพราะกำลังคนที่ สดช. ต้องการนั้นเราขอ 200 คน แต่ขณะนี้มีเพียง 111 คนเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังคงต้องรอกำลังพลที่อยู่ระหว่างการขอจาก กพร. ต่อไป