xs
xsm
sm
md
lg

คาดกฎหมายอีคอมเมิร์ซคลอดไตรมาสแรกปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เปิดร่าง กม.อีคอมเมิร์ซ ปรับ 9 ประเด็นสำคัญ คาดภายในไตรมาสแรกปีหน้าประกาศใช้ ด้านเอกชนชี้ กม.พัฒนาช้า วอนเร่งปรับให้ทันความเปลี่ยนแปลง

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กล่าว กล่าวในการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ว่า ครั้งนี้เป็นการแก้ไขครั้งที่ 2 แล้ว คาดว่าหลังจากนี้จะใช้เวลา 1 สัปดาห์ในการรวบรวมความคิดเห็นเพื่อเสนอต่อ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรึ (ครม.) ต่อไป จากนั้น คาดว่าจะใช้เวลาประมาณเดือนครึ่ง เพื่อนำเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติ (สนช.) โดยมั่นใจว่า ภายในไตรมาสแรกปี 2561 จะสามารถบังคับใช้กฎหมายได้

สำหรับจุดมุ่งหมายของร่างแก้ไขฉบับนี้ คือ การวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีประสิทธิภาพ มั่นคงปลอดภัย และได้มาตรฐานสากล ไม่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ โดยเพิ่มเติมมาตรการทางมาตรฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายประกอบด้วย 9 ประเด็น คือ

1. ปรับปรุงเกณฑ์การลงลายมือชื่อในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยเปิดช่องให้สามารถพิจารณาจากวิธีการที่ใช้ในการลงลายมือชื่อนั้นเอง และพยานหลักฐานอื่นได้นอกเหนือจากการพิจารณาวิธีการที่น่าเชื่อถือที่กำหนดในปัจจุบัน 2. เพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อรองรับการทำสัญญาผ่านระบบข้อมูลอัตโนมัติ ตามแนวทางของ United Nations Convention on the Use of Electronic Communications in International Contracts (UNCECC)

3. เพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อรองรับกรณีการ Input Error ตามแนวทางของ UNCECC 4. เพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่า การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เป็นการทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ให้มีผลเป็นการเชิญชวนให้ทำคำเสนอ ตามแนวทางของ UNCECC 5. กำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อไม่ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐแห่งใดแห่งหนึ่งดูแลเป็นการเฉพาะ

6. กำหนดให้ธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทขึ้นทะเบียนมีกระบวนการตรวจสอบแบบ Pre Audit แทน Post Audit เพื่อให้กำกับดูแลให้ธุรกิจบริการมีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งปรับกระบวนการในการกำกับดูแลในขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งในส่วนการแจ้งให้ทราบ การขึ้นทะเบียน และการอนุญาตให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

7. ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีการปรับบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ให้มีการประกันสิทธิประชาชนในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่มากขึ้นตามข้อกังวลของภาคส่วนต่าง ๆ 

8. กำหนดให้ชัดเจนว่า ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ รวมถึงการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐประเภทใดบ้าง เพื่อให้นำหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้บังคับได้ แต่ปรับให้กรณีการดำเนินงานของศาล และองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี และการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท สามารถเลือกดำเนินการตามความเหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ของตน 

และ 9. ปรับองค์ประกอบคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อคล่องตัวในการทำงาน พร้อมทั้งปรับอำนาจหน้าที่คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้รับกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ด้าน นายวรวุฒิ อุ่นใจ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาครัฐไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของอีคอมเมิร์ซ สิ่งที่ร่างกฎหมายเขียนเป็นสิ่งที่เอกชนพยายามผลักดันมากว่า 10 ปี การพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะต้องเชื่อมโยงกับอีไฟแนนซ์ อีลอจิสติกส์ และอีอินฟอร์เมชัน ที่สำคัญ โครงสร้างการทำงานของภาครัฐจะต้องเอื้อต่อการทำงานระหว่างราชการ และเอกชน

ขณะที่ นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซผู้ก่อตั้ง TARAD.com กล่าวว่า งานพัฒนาอีคอมเมิร์ซจะต้องสร้างสมดุล และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน ถ้าคนที่อยู่ในระบบนิเวศน์การพัฒนาอีคอมเมิร์ซจะรู้และเข้าใจว่า ทิศทางที่เราจะไปเป็นยังไงการพัฒนาจะเกิดประสิทธิภาพ เมื่อเอกชน กับรัฐทำงาน ใกล้ชิดกัน การปรับตัวจะเท่าทันความเปลี่ยนแปลง และควรชวนคนรุ่นใหม่มาทำงานด้วย เพื่อจะได้เกิดสิ่งใหม่ ๆ แบบที่คนรุ่นเก่าไม่เคยรู้

ส่วน นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ร่างกฏหมายที่ออกมาถือว่าช้ามาก และไม่ได้ช่วยอะไรภาคเอกชนเลย ปัญหาข้อพิพาททางกฎหมายเกิดขึ้นมากมาย งานกฎหมายเยอะมากแต่กฏหมายช้า อย่างไรก็ดี ยังมีจุดดีที่เข้ามายืนยันการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และช่วยให้นำพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการคลี่คลายข้อพิพาท ซึ่งไทยยังขาดหน่วยงานแลผู้เชี่ยวชาญในการนำพยานหลักฐานไปใช้ในศาล

อย่างไรก็ตาม นายมุขเมธิน กลิ่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ปัญหาของคดีที่ใช้เทคโนโลยีอาจมาสู่ศาลได้ตลอดเวลา ศาลควรให้ความสนใจกับข้อพิพาท และคดีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อให้ตามความเปลี่ยนแปลงได้ทัน ปัญหาตอนนี้ คือ การขาดผู้เชี่ยวชาญในการนำเสนอพยานหลักฐานในศาล ถ้าเรามีผู้เชี่ยวชาญ และระบบนำเสนอพยานหลักฐานที่ทันสมัย จะช่วยศาลได้มาก การแสวงหากฏเกณฑ์ที่แน่นอนมาดูเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องไม่แน่นอน เป็นเรื่องลำบาก แต่ศาลจะพยายามถ่ายทอดความรู้และทำความเข้าใจให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
กำลังโหลดความคิดเห็น