“เอ็นทีที” ยกระดับดาต้าเซ็นเตอร์รับกลุ่มธุรกิจการเงิน ธนาคาร และประกันภัย ที่มีแนวโน้มการลงทุนทางด้านไอทีสูงที่สุด ด้วยมาตรฐานการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ PCI DSS หวังเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มดังกล่าวเป็น 50% ภายในสิ้นปี มององค์กรธุรกิจยังมีความจำเป็นต้องใช้ดาต้าเซ็นเตอร์แม้เข้าสู่ยุคของคลาวด์ก็ตาม
นายสุทธิพัฒน์ ลือประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทคโนโลยี บริษัท ดิจิทอล พอร์ท เอเชีย จำกัด ในกลุ่มบริษัท เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ คอร์ปอร์เรชั่น ให้ข้อมูลว่า แนวโน้มการลงทุนทางด้านไอทีของภาคอุตสาหกรรมการเงิน ธนาคาร และธุรกิจประกันภัย ถือเป็นกลุ่มที่มีการลงทุนเพิ่มมากที่สุดในช่วงนี้
“ตอนนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงินอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ดังนั้น การที่เอ็นทีที ที่ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์มองถึงโอกาสดังกล่าว จึงได้มีการเข้าไปขอใบรับรองมาตรฐานเฉพาะเกี่ยวกับระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เป็นดาต้าเซ็นเตอร์รายแรกในประเทศไทยที่รองรับมาตรฐานดังกล่าว”
สอดคล้องกับการที่ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ในการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ของเอ็นทีที จะมาจากกลุ่มลูกค้าการเงิน ธนาคาร และประกันภัยมากขึ้น จากเดิมที่อยู่ในระดับ 30-40% ในช่วงปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 50% ในสิ้นปีนี้ ที่เหลือก็จะเป็นในอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหลัก
ขณะที่สัดส่วนลูกค้าของเอ็นทีที ที่จากเดิมกว่า 80% จะเป็นองค์กรธุรกิจสัญชาติญี่ปุ่นที่ขยายสาขามาเปิดให้บริการในไทย ปัจจุบันลดลงเหลือราว 60% และจะลดลงไปเรื่อย ๆ เพราะองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในไทยเริ่มเห็นถึงมาตรฐานของการให้บริการในระดับสากล
นายเกรียงศักดิ์ จรูญศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส แผนกธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ บริษัท เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเสริมว่า เหตุผลที่ทำให้ทางเอ็นทีที เข้าไปขอรับรองมาตรฐาน PCI DSS ในการรองรับการชำระเงินผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (PCI DSS : Payment Card Industry Data Security Standard) เกิดจากในช่วงปีที่ผ่านมา ลูกค้าธนาคารหลายรายได้มีการสอบถามเข้ามา
เนื่องจาก PCI DSS ถือเป็นมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลในดาต้าเซ็นเตอร์ที่ป้องกันภัยคุกคามระดับโลก ที่มีผู้ร่วมกำหนดอย่างอเมริกันเอ็กซ์เพรส, ดิสคอเวอร์, เจซีบี, มาสเตอร์การ์ด และวีซ่า ดังนั้น ธนาคารที่ต้องการให้บริการระบบบัตรเครดิตดังกล่าว ถ้าไม่มีการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ที่ผ่านมาตรฐานเอง ก็จะสามารถใช้บริการของทางเอ็นทีที ได้
“ในกลุ่มของเอ็นทีที ทั่วโลกมีดาต้าเซ็นเตอร์ที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าวอยู่ถึง 40 แห่ง ประกอบกับเมื่อมีความต้องการเข้ามา ทำให้เกิดการลงทุน และเชื่อว่า อัตราการเติบโตของลูกค้าที่จะหันมาใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ก็ยังจะเติบโตต่อเนื่องที่ราว ๆ 30% ในแต่ละปี”
ส่วนความคืบหน้าในการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์แห่งที่ 2 (Bangkok 2 Data Center) ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ชลบุรี ล่าสุด เพิ่งปิดเฟสที่ 2 ไป มีลูกค้าเข้ามาใช้งานพื้นที่แล้วกว่า 2,000 ตร.ม. และกำลังจะเริ่มต้นเฟสที่ 3 อีก 1,000 ตร.ม. จากพื้นที่เช่าทั้งหมด 5,000 ตร.ม. ที่คาดว่าจะเต็มภายใน 5 ปีข้างหน้า
โดยจุดเด่นของ Bangkok 2 คือ การที่เป็นดาต้าเซ็นเตอร์บนมาตรฐานใหม่ภายใต้ชื่อ “Nexcenter” ภายในโครงสร้างอาคารที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์โดยเฉพาะมีระบบรองรับแผ่นดินไหว น้ำท่วม และปัญหาไฟฟ้าต่าง ๆ ได้มาตรฐาน