xs
xsm
sm
md
lg

“อีเบย์” ลุยเพิ่มผู้ขายหน้าใหม่ ปรับภาพดึงกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อีเบย์ ออกเครื่องมือช่วยดันผู้ประกอบการไทย ขายสินค้าสู่ตลาดหลักในสหรัฐฯ อังกฤษ และเยอรมนี พร้อมปรับหน้าเว็บเพิ่มสีสันครั้งใหญ่ในรอบ 3 ปี รับกลุ่มผู้ใช้มิลเลเนียลที่ผันตัวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น มั่นใจไม่กระทบเรื่องการเก็บภาษีออนไลน์ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคล

นายบุญพันธุ์ บุญประยูร ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อีเบย์ มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อีเบย์มีการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ดูเป็นวัยรุ่นมากขึ้น ภายใต้แคมเปญอย่าง “Fill your cart with color” เพื่อสื่อถึงการซื้อของว่า ไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อเสมอไป ด้วยการนำสีสันที่สดใสมากขึ้น และเพิ่มประเภทสินค้าให้หลากหลายขึ้น

“ถ้ามองย้อนไปสมัยอีเบย์ เริ่มให้บริการในประเทศไทยเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้ขายที่เข้ามาสมัครก็จะเป็นคนวัยรุ่นในช่วงนั้น ๆ ดังนั้น การปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพิ่มจับกลุ่มมิลเลเนียลที่มีศักยภาพ และจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของประเทศ ให้ทราบว่า อีเบย์สามารถเข้าถึงชีวิตประจำวันของเขาได้”

โดยในประเทศไทยได้มีการนำคอนเซ็ปต์ดังกล่าวมาต่อยอดในการสร้างเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการขายสินค้าไปสู่กลุ่มตลาดหลักในสหรัฐฯ อังกฤษ และเยอรมนี ด้วยการปรับหน้าเว็บใหม่ครั้งแรกในรอบ 3-4 ปี พร้อมนำระบบการจัดการคลังข้อมูลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขาย

“ตอนนี้อีเบย์ จะส่งเสริมผู้ขายใน 2 ส่วนด้วยกัน คือ กลุ่มผู้ขายใหม่ ด้วยการเปิดเว็บไซต์ให้ความรู้แก่ผู้ขายใหม่ มีช่องทางการติดต่อผ่าน Facebook และ Youtube ในการเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแก่ผู้ขายใหม่”

ส่วนกลุ่มผู้ขายที่มีประสบการณ์ จะเน้นไปที่การให้คำปรึกษาในการพัฒนาธุรกิจ พร้อมเข้าไปแนะนำเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพ มีการจัดโครงการอย่าง B2B2C ในการนำผู้ซื้อ-ผู้ขายให้มาเจอกัน รวมถึงการแนะนำเครื่องมือวิเคราะห์ตลาด-เทรนด์ราคาสินค้า (eBay DataLabs)

ขณะเดียวกัน ยังได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ อย่างในประเทศไทยมีจำนวนผู้ขายที่สร้างรายได้เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในแต่ละปีมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับการที่ผู้ขายส่วนใหญ่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ดังนั้น จึงไม่ได้กังวลกับมาตรการเก็บภาษีสินค้าออนไลน์ที่จะเกิดขึ้น

“เชื่อว่าผู้ขายรายใหญ่ ๆ ที่ใช้ช่องทางอีเบย์ ในการจำหน่ายสินค้าไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นนิติบุคคลที่มีการเสียภาษีรายได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว ดังนั้น การที่จะมีมาตรการเก็บภาษีออกมาในอนาคตก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ขายมากนัก”

ขณะที่ในส่วนของภาพรวมทั่วโลก อีเบย์ถือเป็นมาร์เกตเพลสที่มีผู้ซื้อจากทั่วโลกกว่า 169 ล้านคน (มีการซื้อสินค้าอย่างน้อย 1 ชิ้นในช่วงปีที่ผ่านมา) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนในแง่ของจำนวนสินค้าที่มีคนเข้ามาดู และเลือกซื้อมีมากกว่า 1.1 พันล้านชิ้น

สำหรับ จุดแข็งของอีเบย์ คือ มีระบบ Feedback ที่ให้ผู้ซื้อได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ขายมาตั้งแต่ต้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ พร้อมกับระบบการันตีคืนเงินถ้าไม่ได้สินค้าตามที่ต้องการ (Money Back Garantee) โดยผู้ขายที่ทำสถิติมีลูกค้าให้ฟีดแบ็กมากที่สุดในตอนนี้ คือ มากกว่า 8 ล้านความคิดเห็น

ในแง่ของมูลค่าสินค้าที่ทำการซื้อขายในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมกัน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยกว่า 80% ของสินค้าที่มีอยู่เป็นสินค้าใหม่ และ 67% ของผู้ขายให้บริการส่งของฟรีในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ อังกฤษ และเยอรมนี

“ตอนนี้สินค้าที่จำหน่ายในอีเบย์ เกือบ 80% จะเป็นสินค้าที่กำหนดราคาชัดเจน จะเหลืออีกราว 20% เท่านั้น ที่ยังใช้รูปแบบของการประมูล เหมือนสมัยแรกที่อีเบย์ เริ่มให้บริการ เพราะปัจจุบันก็มีลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ความต้องการของผู้ซื้อ และผู้ขายแตกต่างกัน”

นอกจากนี้ ยังพบว่าสมาร์ทโฟนกลายเป็นช่องทางสำคัญในการซื้อ-ขายสินค้า โดยมีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไปแล้วกว่า 359 ล้านครั้ง มีจำนวนสินค้าที่ขายผ่านสมาร์ทโฟน 12 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์ คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายผ่านสมาร์ทโฟนกว่า 60%

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำของทางอีเบย์ สำหรับผู้ขายใหม่ในการตั้งราคาสินค้า เพื่อจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศ ควรคำนึงถึงต้นทุนที่จะเกิดขึ้นจากค่าธรรมเนียมในการวางขายสินค้า ค่าธรรมเนียมของระบบรับชำระเงิน รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการขนส่งให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดการจำหน่ายสินค้าแล้วขาดทุน




กำลังโหลดความคิดเห็น