xs
xsm
sm
md
lg

4 เทรนด์เนื้อแท้ปี 2017

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางเทรนด์เทคโนโลยีมากมายนับไม่ถ้วน ต่อไปนี้ คือ 4 เทรนด์เนื้อล้วนไม่เอาน้ำ ที่คาดว่าจะมีพัฒนาการสุดขีดในปี 2017 และจะส่งผลถึงการใช้ชีวิตของทุกคนในอนาคตอย่างคาดไม่ถึง

แน่นอนว่า 1 ใน 4 เทรนด์ร้อนของปีหนีไม่พ้นระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งสามารถคว้าแชมป์ผู้เล่นเกมโกะ (Go) ที่สามารถวางแผนได้ซับซ้อนที่สุดในโลกไปครองได้แล้ว ยังมีระบบเสมือนจริง Virtual Reality และ Augmented Reality ที่อาจมีบทบาทในวงการแพทย์มากขึ้น รวมถึงทิศทางการพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะให้มีความอัจฉริยะยิ่งกว่าเดิม

***มาแน่ Virtual Reality

ปากกาเซียนบันทึกไว้แล้วว่า ตลาดอุปกรณ์สวมศรีษะที่ผู้ใช้จะหลุดเข้าไปในโลกเสมือนอย่าง VR นั้น จะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2020 เรียกว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ปี 2017 จะเป็นปีที่ปูทางสู่อนาคตสดใสของโลก VR

นับจากปี 2015 เรื่อยมาจนถึงปี 2016 เราเห็นอุปกรณ์ VR แพร่หลายขึ้นอย่างชัดเจน การเปิดตัวอุปกรณ์อย่างการ์ดบอร์ด (Cardboard) ในปี 2014 จนถึงเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่เปิดตัวอุปกรณ์ “โอคูลัสลิฟต์” (Oculus Rift) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทั่งเอชทีซี (HTC) ที่เปิดตัวอุปกรณ์อย่าง “ไวฟ์” (Vive) เมื่อเดือนเมษายน

ด้านซัมซุง (Samsung) นั้น เปิดตัวอุปกรณ์ “เกียร์วีอาร์” (Gear VR) ก่อนที่โซนี่ (Sony) จะเปิดตัว “เพลย์สเตชันวีอาร์” (PlayStation VR) ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ล่าสุด คือ เดือนพฤศจิกายน กับกูเกิล (Google) ที่ส่งท้ายปีด้วยการเปิดตัวรุ่นใหม่ตัวจริงของ Cardboard ในชื่อ “เดย์ดรีมวิว” (Daydream View)

รายชื่อยักษ์ใหญ่ไอทีเหล่านี้เป็นเครื่องการันตีว่า VR คือ เทคโนโลยีที่ “มาแน่นอน” ในปี 2017 โดยเจ้าพ่ออย่างไมโครซอฟท์ (Microsoft) นินเทนโด (Nintendo) และควอลคอมม์ (Qualcomm) ต่างล้วนมีข่าวลือพร้อมพัฒนาฮาร์ดแวร์เทคโนโลยี VR แต่ยังไม่มีรายละเอียดใด

อย่างไรก็ตาม ความพร้อมของอุปกรณ์ทำให้เกิดแรงกดดันเรื่องคอนเทนต์ หรือเนื้อหาวิดีโอเสมือนจริง จุดนี้ผู้ผลิตอย่างทั้ง Google, Oculus, HTC, Sony, Samsung และเอเซอร์ (Acer) ต่างเปิดตัวอุปกรณ์ และระบบเพื่อเอื้อให้วิดีโอ VR มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ขณะที่ Google, Oculus และแบรนด์อเมริกันอย่าง Valve เริ่มเปิดศักราช “VR marketplaces” ตลาดให้บริการคอนเทนต์เสมือนจริงเรียบร้อยแล้ว

ถึงบรรทัดนี้วางเดิมพันได้เลยว่า โลกของ VR จะมีความเด่นชัดแน่นอนในปีหน้า

***Augmented Reality กำลังตามไป

ปี 2016 ซึ่งเป็นปีทองของเกม AR อย่างโปเกมอนโก (Pokémon Go) สะท้อนว่า เทคโนโลยีที่แสดงภาพกราฟิกบนวิวจริงถนนจริงนั้น เป็นประสบการณ์ที่ถูกใจคนยุคไอที แน่นอนว่า ความสำเร็จนี้แสดงถึงพัฒนาการของ AR ที่จะไม่หยุดนิ่ง และจะหาทางแทรกซึมเข้าถึงทุกคนทุกเพศทุกวัยมากขึ้น

เรื่องนี้ซีอีโอแอปเปิล “ทิม คุก” (Tim Cook) เคยประเมินว่า AR จะมีโอกาสเติบโตมากกว่า VR เนื่องจากความแนบเนียนในการแสดงภาพกราฟิกที่ผู้ใช้สามารถใช้ชีวิตปกติร่วมไปด้วยได้ แต่ VR ต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่าง และหลุดเข้าไปในโลกเสมือน โดยไม่ได้รับรู้โลกภายนอก

กรณีของแอปเปิล แม้จะยังไม่มีการเปิดตัวสินค้าใดที่เข้าข่าย AR แต่ย้อนไปในปี 2015 แอปเปิลประกาศซื้อกิจการบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี AR ชื่อ “Metaio” จุดนี้ทำให้มีการคาดหวังว่า เราอาจได้เห็นคุณสมบัติใหม่ หรือสินค้าใหม่จากแอปเปิล ที่เกี่ยวกับ AR ในอนาคต

เรื่องนี้น่าสนใจมาก เมื่อพิจารณาร่วมกับข่าวลือในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แอปเปิล ถูกลือว่า กำลังพัฒนาแว่น AR สไตล์เดียวกับกูเกิลกลาส (Google Glass) ของกูเกิล ขณะเดียวกัน ยังมีการวิเคราะห์ว่า การอัปเดตคุณสมบัติใหม่ในไอโอเอส (iOS) เรื่องการปรับให้กล้อง iPhone 7 มีความสามารถดีขึ้นนั้น อาจเอื้อให้มีการเพิ่มคุณสมบัติด้าน AR ในอนาคตก็ได้

*** อวสานคนขับรถ

แม้จะถูกมองเป็นเรื่องไกลตัวคนไทย แต่ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่จะได้รับรู้ว่า ยานยนต์ที่ไร้คนขับนั้น จะแจ้งเกิด และถูกผลิตมากขึ้นในปีหน้า ซึ่งไม่เพียงการพัฒนารถเพื่อผู้บริโภคทั่วไป แต่เทรนด์ของรถอัตโนมัติกลับร้อนแรงในรูปบริการเช่ารถผ่านแอปพลิเคชั่น

ยิ่งใกล้ปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่มีการคาดหมายว่า รถอัจฉริยะไร้คนขับจะได้ฤกษ์ออกวิ่งบนท้องถนน ก็ยิ่งมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นมากมาย เช่น Google ที่จับมือกับฟอร์ดมอเตอร์ (Ford Motor) และอูเบอร์ (Uber) ออกมาประกาศความร่วมมือในการผลักดันกระบวนการต่างๆ สำหรับรองรับการออกสู่ตลาดของรถอัจฉริยะให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่คู่แข่งของ Uber อย่างค่ายลิฟต์ (Lyft) ก็มีการจับมือกับวอลโว่ (Volvo) ทำโครงการถนนปลอดภัยด้วยรถอัจฉริยะไร้คนขับด้วยเช่นกัน

ขณะที่ประเทศไทยกำลังลุ้นกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์ ประกาศลงนามกับสตาร์ทอัปชื่อ “นูโตโนมี” (nuTonomy) เริ่มทดสอบรถแท็กซี่ไร้คนขับเมื่อเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ขณะที่บริษัทเดลฟี (Delphi Automotive) บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติสหรัฐอเมริกา ก็ยื่นข้อเสนอขอส่งรถแท็กซี่อัตโนมัติที่สามารถรับส่งผู้โดยสารในย่านธุรกิจมาให้บริการในสิงคโปร์ เช่นกัน คาดว่า รถแท็กซี่อัตโนมัติไร้คนขับนี้จะสามารถลดค่าโดยสารจากเฉลี่ย 3 เหรียญสิงคโปร์ต่อไมล์ ลงเหลือเพียง 90 เซ็นต์สิงคโปร์ต่อไมล์ เลยทีเดียว

แต่เหนืออื่นใด การประชุมเวิลด์อิโคโนมิกฟอรัม (World Economic Forum) ได้ระบุว่า ต้องมี 3 กระบวนการนี้เสียก่อน รถไร้คนขับจึงจะสามารถเปิดศักราชได้ ประเด็นแรก คือ ความรับผิดจากการใช้สินค้าที่มีการติดตั้งระบบอัจฉริยะลงไปต้องมีการระบุให้ชัดเจน, สอง ต้องมีการเซ็ตอัปเครือข่ายอินเทอร์เน็ตขึ้น เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านั้นเข้าถึงได้ และสาม เป็นเรื่องของตัวบทกฎหมายที่จะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันในระดับโลก



*** ปัญญาประดิษฐ์ครองเมือง

นับจาก AI ถูกสร้างขึ้น ระบบอัจฉริยะที่สามารถเรียนรู้ และพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นได้ต่อเนื่องนั้น ถูกนำไปใช้งานในหลายจุดประสงค์ แต่วันนี้แบรนด์เริ่มนำ AI มาเพิ่มความประทับใจให้งานบริการลูกค้า ทำให้เกิดเป็นระบบตอบโต้อัตโนมัติที่รวดเร็ว และทันใจเรียลไทม์

ผลการสำรวจจากฟอร์เรสเตอร์รีเสิร์ช พบด้วยว่า หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ AI จะเข้ามาแย่งงานพลเมืองอเมริกัน ได้ถึง 6% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะอยู่ในรูปของการบริการอัตโนมัติ เช่น แท็กซี่-รถบรรทุกไร้คนขับด้วย

การวิจัยพบว่า ตลาดที่ AI จะมีอิทธิพลมากขึ้น คือ ธุรกิจลอจิสติกส์ ฝ่ายบริการหลังการขาย และระบบขนส่งมวลชน ซึ่งการเข้ามาของแรงงานหุ่นยนต์เหล่านี้จะมาพร้อมความเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์ และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ทำให้มันสามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้อย่างลื่นไหล โดยจะเห็นได้ว่า ค่ายเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทุกวันนี้ต่างมี AI เป็นของตัวเองกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอแล็กซา (Alexa) จากอเมซอน (Amazon) หรือคอร์ทานา (Cortana) ของไมโครซอฟท์ รวมถึงสิริ (Siri) ของแอปเปิล และกูเกิลนาว (Google Now)

ทุกวันนี้ AI แต่ละตัวมีความสามารถเพิ่มขึ้นตลอดเวลา สามารถเปิดการทำงานด้วยเสียง หรือข้อความ และสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ระบบผู้ช่วยไฮเทค AI สามารถปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในบ้าน ปิ้งขนมปังสำหรับอาหารมื้อเช้า และสามารถกล่าวต้อนรับพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่เมื่อเดินเข้ามาที่บ้านได้อัตโนมัติ

อีกรายที่ต้องพูดถึงคือไอบีเอ็ม วัตสัน (WATSON) เทคโนโลยีที่ทำให้ระบบสามารถเข้าใจสภาพแวดล้อมทั้งหมด จากเดิมข้อมูลกว่า 88% ที่เกิดขึ้นคอมพิวเตอร์จะไม่สามารถเข้าใจ แต่วัตสัน สามารถเข้าใจ และวิเคราะห์ความรู้สึก ตลอดจนตอบโต้ และให้คำแนะนำที่เหมาะสมให้กับคู่สนทนาได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น นอกจากนี้ วัตสันยังสามารถเรียนรู้ และสั่งสมองค์ความรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเพิ่มความสามารถ และเข้าใจบริบทของมนุษย์มากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้ ต้องยกความดีให้กับระบบแวดล้อมของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นได้อย่างลื่นไหลไร้รอยต่อ ทั้งระบบเปิดเว็บไซต์ หรือเบราว์เซอร์ ตลาดสมาร์ทโฟนที่ขยายตัวฉุดไม่อยู่จนอาจเข้าถึงประชากรโลกกว่า 70% ในปี 2020 ยังมีพัฒนาการของระบบบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนอุปกรณ์โมบาย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเบื้องหลังของเทรนด์ไอทีในทุกปี
กำลังโหลดความคิดเห็น