xs
xsm
sm
md
lg

“แซตทีอี” ยิ้มรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมือถือ-ไฟเบอร์ ของไทยแลนด์ 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“แซตทีอี” มอง 5 เทรนด์สำคัญช่วยผลักดันประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 เชื่อจากนโยบายภาครัฐที่เกิดขึ้นจะทำให้มีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องไปใน 3-5 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันตั้งเป้าการเติบโตบริษัทไม่ต่ำกว่า 50% ในปีข้างหน้าต่อเนื่องจาก 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยการขยายโครงข่ายของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต

จาง เจี่ยน เพง (ซ้าย) รองประธานกรรมการ บริษัท แซตทีอี คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เป้าหมายหลักของ แซตทีอี ที่จะมุ่งไปในปี 2020 คือ การสร้างการเติบโตในระดับ 2 เท่าตัวในตลาดโลก แต่สำหรับประเทศไทยถือว่าทำได้ล่วงหน้ากับภารกิจที่วางไว้ โดยมีปัจจัยมาจากการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

“โอเปอเรเตอร์ในประเทศไทยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนของ 3G และ 4G ต่อเนื่องตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และจะยังมีการลงทุนต่อเนื่องไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น แซตทีอีที่ถือเป็น 1 ในเวนเดอร์หลักของโอเปอเรเตอร์ในประเทศไทย จึงมีการเติบโตที่ก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม แซตทีอี มองว่า ปัจจัยหลังจากการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานแล้ว คือ การขยายตัวของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในการให้บริการเชิงดิจิตอล เนื่องจากโอเปอเรเตอร์จะมีความต้องการที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามกลุ่มลูกค้า ในฐานะเวนเดอร์ที่ต้องการเป็นผู้นำตลาดนี้ก็ต้องปรับตัวรับกับความต้องการของโอเปอเรเตอร์ให้ได้

หวัง เฮลิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซตทีอี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า 3 กลยุทธ์หลักของแซตทีอี ที่จะรุกตลาดต่อไปในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า คือ การเดินหน้าสานสัมพันธ์กับโอเปอเรเตอร์ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่จำกัดเฉพาะการให้บริการโทรศัพท์มือถือ แต่รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจไฟเบอร์ที่มีการแข่งขันสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา

“ในธุรกิจโครงข่ายไฟเบอร์ แซตทีอีถือเป็นเวนเดอร์ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนมากกว่า 50% ในตลาดจากการให้บริการอุปกรณ์เครือข่ายไฟเบอร์ให้แก่เอไอเอส และ 3บีบี ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการร่วมมือกับทั้งทีโอที กสท และทรู ในการวางโครงข่ายไฟเบอร์อยู่แล้ว”

ถัดมา คือ การเข้าหาภาครัฐมากยิ่งขึ้น จากการที่มีการตั้งกระทรวงใหม่ มีการกำหนดนโยบายในการบริหารภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ที่จะมีการผลักดันบริการที่นำดิจิตอลมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ ทำให้เป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ให้บริการดิจิตอลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สุดท้าย คือ ธุรกิจคอนซูเมอร์ ในการนำดีไวซ์เข้าสู่ตลาดทั้งในส่วนของธุรกิจ B2B ที่จำหน่ายสมาร์ทโฟนร่วมกับโอเปอเรเตอร์ และการจำหน่ายสมาร์ทโฟนภายใต้แบรนด์ “แซตทีอี” ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา และจะมีการลงทุนในแง่ของการส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แซตทีอียังเปิดเผยถึง 5 เทรนด์สำคัญที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2020 ที่จะประกอบไปด้วย สิ่งเสมือนจริง (Virtuality) ข้อมูลที่เปิดกว้าง (Openness) การเลือกสรรอย่างชาญฉลาด (Intelligence) การเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายขึ้น (Cloudification) และอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Everything)

“การติดต่อสื่อสารในอนาคตจะไม่ใช่แค่การติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล แต่จะมีการสื่อสารร่วมกันกับเครื่องจักร หรือหุ่นยนต์มากยิ่งขึ้น ทำให้แต่ละองค์กรต้องมีการเตรียมความพร้อม ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในการหาบริการมาเติมเต็มอีโคซิสเตมส์ รวมถึงการนำผลิตภัณฑ์อัจฉริยะมาช่วยส่งเสริมในการทำงาน มีการจัดการข้อมูลที่ได้มาด้วยการใช้คลาวด์มาประมวลผลมากขึ้น”

ปัจจุบันในตลาดโลกสัดส่วนรายได้ของแซตทีอี จะมาจากผู้ให้บริการเครือข่าย 57.1% ธุรกิจคอนซูเมอร์ 32.4% และ ธุรกิจองค์กร 10.5% โดยเป็นรายได้ที่มาจากประเทศจีนราว 53% ถัดมา คือ กลุ่มประเทศยุโรป 25.2% เอเชีย 14.8% และแอฟริกา 7% ซึ่งการออกมารุกในตลาดโลกมากขึ้นจะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่แซตทีอี

โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา กำไรสุทธิของแซตทีอี เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา 9.8% ขณะที่รายได้รวมเพิ่มขึ้นกว่า 4.05% มาอยู่ที่ 246,540 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมา 236,890 ล้านบาท และเชื่อว่าจากกลยุทธ์ในการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลจะช่วยให้แซตทีอี สามารถสร้างการเติบโตได้ตามที่วางไว้

Company Relate Link :
ZTE
กำลังโหลดความคิดเห็น