“พี่กรณ์ ทำไมปีนี้ค่าเม็ดเลือดไหมทุกตัวต่ำกว่าปีที่แล้วอีกล่ะ”
คุณไหม-ดุสิตา ธรรมสถิตพร ถามสามีที่เป็นแพทย์เสียงหลง พร้อมกับโชว์ผลการตรวจเลือดครั้งล่าสุดให้ดู เพราะจากที่เธอเป็นพยาบาลดูแลผู้ป่วยมะเร็งมา 4 ปี สามีจึงวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นผลกระทบจากเคมีบำบัดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ฉะนั้นหากเธอยังฝืนใช้ชีวิตขึ้นเวรครั้งละ 12 ชั่วโมงแบบนี้ ไม่แน่วันหนึ่งอาจเป็นคนไข้เสียเอง แล้วใครจะคิดว่า แค่เมล่อนหวานๆ จะสามารถสร้างรายได้ให้เธออาทิตย์ละมากกว่าครึ่งแสน
กู้ชีวิตนางฟ้าชุดขาวเข้าสู่เส้นทางราชินีแห่งแตง
“ไหม เป็นพยาบาลประจำอยู่ที่ศูนย์มะเร็ง ขึ้นเวรครั้งละ 12 ชั่วโมง กลับถึงบ้านก็หมดแรง อย่าว่าแต่เวลาของครอบครัวเลย ขนาดตัวเองจะทานข้าวยังไม่มีเวลาเลย พอตรวจสุขภาพค่าเม็ดเลือดทุกตัวตกลงทุกปี แฟนเป็นหมอจึงบอกให้ไหมลาออกจากงาน เพื่อให้เวลากับตัวเอง และครอบครัว คิดหนักเลย เพราะตลอด 4 ปีที่เป็นพยาบาล ทำงาน 12 ชั่วโมงแล้ว ต้องมาอยู่บ้านเฉยๆ จะไหวไหมเนี่ย
ระหว่างนั้น ไหม มีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุ่น แล้วได้ลองทานเมล่อนเป็นครั้งแรกในชีวิต หวาน อร่อย ประทับใจมากจนต้องกลับมาเล่าให้ฟัง เขาบอกว่า เมล่อนปลูกที่เมืองไทยได้นะ ไหม จึงไปหาข้อมูลก็พบว่า ที่เทพมงคลฟาร์มเมล็ดพันธุ์ อยู่ที่มหาสารคาม เจ้าของชื่อคุณมงคล เปิดโรงเรียนสอนผู้ที่สนใจอยากปลูกเมล่อน ชื่อว่า “โรงเรียนเกษตรกรไทยไม่จน” ไหม จึงลองไปเรียน ก็คิดว่าเมล่อนนี่ละ น่าจะเป็นอาชีพที่มาแทน อย่างน้อยก็สมกับที่ตั้งใจไว้ว่า จะทำธุรกิจขายสุขภาพดี
“เริ่มจากขอเงินคุณพ่อ 2 ล้าน เพื่อสร้างโรงเรือนปลูกเมล่อน ท่านเดินหนีเลย ไหม จึงขอเมล่อนของคุณมงคล มาลองทำตลาดดู พอขายได้จริง ท่านจึงยอม จากนั้น ไหม โทรตามคุณมงคล ตอนหลังยกให้เป็นครูเลย เขามาดูที่ ซึ่งไหม ขอที่นาเก่าแก่ของพ่อแม่แฟนที่นครนายก มาสร้างโรงเรือน ครูใช้เวลาเดือนเดียว ถมดิน เตรียมดิน เตรียมร่องปลูก สร้าง 10 โรงเรือน ท้าทายมาก จากที่ไม่มีความรู้เลย ต้องถามผู้รู้ตลอดเวลา ล้มลุกคลุกคลานจนเวลาผ่านไป 1 ปี 1 เดือน เริ่มทำเป็นธุรกิจ ตั้งชื่อว่า “พ.ฟาร์ม” เพราะคุณพ่อไหม (ไพบูลย์) ทำฟาร์มหมูอยู่ที่ปราจีนฯ จึงใช้ “พ่อหมูกอดเมล่อน” เป็นสัญลักษณ์ จาก 10 โรงเรือนก็ขยายเป็น 16 โรงเรือน เน้นที่ความหลากหลายของเมล่อน หลักๆ จะเป็นแสนหวาน จันทร์ฉาย ภูไท ไข่ทองคำ และฮามิกัว หรือแตงทิเบต หมุนเวียนไป เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าถึงความหลากหลายของรสชาติ
“ไหม มองว่า กลไกตลาดเดิมๆ ที่ผ่านมา คือ เกษตรกรขายผลิตผลให้กับพ่อค้าคนกลาง ถูกกดในราคาที่ต่ำมาก จึงคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้พ่อค้าคนกลางมายุ่งกับเรา นับเป็นความโชคดีที่โรงเรือนของไหม วิวดี ล้อมรอบด้วยภูเขา ติดๆ กันก็เป็นทุ่งนา ยิ่งหน้านาเขียวขจีสวยงามมาก จึงเปิดเป็นคาเฟ่ไม้ไผ่ จำหน่ายเมล่อน และขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเมล่อน หากเป็นหน้าเก็บเกี่ยว ลูกค้าสามารถเข้ามาตัดผลได้เอง แม้ไหม หลีกหนีพ่อค้าคนกลางได้ แต่สิ่งที่ไม่คาดคิด คือ ความที่เมล่อนเป็นพืชคุณหนู อ่อนแอ ศัตรูพืชตัวสำคัญ คือ ไรแดง หากเป็นช่วงที่หยุดยา มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายหน้าฟาร์มอย่างต่ำ 30% ยิ่งสวนของไหม เปิดให้ลูกค้าเข้าชมด้วย ครั้งหนึ่งลูกค้าไม่ปิดประตูโรงเรือน ไรแดงเข้าทั้งโรง เสียหายหมด เก็บผลผลิตไม่ได้เลย
“แต่อย่างใด ไหม ก็ภูมิใจในสิ่งที่สร้างมากับมือ ได้ลง Unseen Tour in Thailand ไหม จำได้ว่า กดไลก์เพจนี้ตั้งแต่เรียน ม.ปลายกับ “ชิลไปไหน” แล้วนั่งดูทั้งวันเลย คิดว่าวันหนึ่งฟาร์มฉันจะได้ลงบ้าง เชื่อไหม ทุกอย่างที่เคยฝันวันนี้เป็นจริง ได้ลงทั้ง 2 เพจเลย อย่างน้อยก็ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า เป็นเกษตรกรไม่จำเป็นต้องจนเสมอไป เชื่อไหม ตอนนี้ไหมมีรายได้อาทิตย์ละ 50,000-60,000 บาท มากกว่าที่เป็นพยาบาลอีก”
ไม่ต้องแลกเมล่อน ไม่ต้องเสียเงิน เมล่อน พ.ฟาร์ม ก็ออนไลน์ได้
“ไหมใช้โซเชียลมีเดียมาทำธุรกิจด้วย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทำเพจของตัวเอง ยอมเสียเงินโปรโมตเพจบ้าง แต่เหมือนไม่ยั่งยืน จึงลองส่งข้อความแนะนำตัวไปที่เพจท้องถิ่น โดยขอแลกเมล่อน 2 ลูก กับการให้พี่ช่วยเขียนโปรโมต หรือบอกข้อมูลลงในเพจ จนได้มาเจอดีแทค ที่ร่วมกับกรมส่งเสริมฯ เข้ามาสอนหลักสูตรเกษตรเชิงพาณิชย์ วิทยากรบอกว่า เราเป็นเด็กรุ่นใหม่ ยังพัฒนาได้อีกเยอะ แล้วก็จริง แม้ไหม เคยสร้างเพจมาก่อน แต่พอได้เรียนรู้วิธีที่เป็นองค์ความรู้จริงๆ ที่เห็นชัดเจน คือ การโปรโมตโพสต์ เช่น วันแม่ที่ผ่านมา ไหม ปล่อยกิจกรรม “All you can eat” จากที่ผ่านมา ไหมจะโปรโมตเพจ ตอนนี้โปรโมตโพสต์เลย
นอกจากนั้น ดีแทค ยังสอนเกี่ยวกับทฤษฎี 9 ช่อง สำหรับถ่ายรูป รวมถึงวิธีการแต่งรูป การดึงคำพูดมาใช้ ซึ่งมีประโยชน์จริงๆ มีประสิทธิภาพทางการตลาดสูงมาก เรียกว่าลงทุนต่ำกว่าจ้างเน็ตไอดอล หรือลงโฆษณาในหนังสือเสียอีก เห็นได้ชัดเจนเลยว่า เพจมีคนเข้ามาดู เข้ามาไลก์เยอะขึ้น มีคนเข้ามาเที่ยวที่ฟาร์มเพิ่มขึ้น ช่วงนี้ไหมจึงเน้นทำการตลาดในเฟซบุ๊กเป็นหลัก โดยย้ำกับลูกค้าเสมอว่า ให้โทรมาเช็กผลผลิตกับไหมก่อน จะได้ไม่ผิดหวัง เพราะกำลังผลิตตามแพลน คือ หนึ่งอาทิตย์มี 150-200 ลูก ตอนนี้เรามีเครือข่ายที่เป็นลูกฟาร์มสามารถดึงมาได้ถึง 400-500 ลูก
ไหม ไม่หวังมาก ขอแค่ยอด like หมื่นเดียวพอ แล้วให้หมื่นนั้น วนกลับมาบ่อยๆ ก็อยู่ได้แล้ว ยังหวังแค่ผู้บริโภคในนครนายก มองเห็น พ.ฟาร์ม ชวนเพื่อนมาเที่ยว เมื่อซื้อของไปฝากผู้ใหญ่ก็ให้คิดถึงเมล่อน พ.ฟาร์มว่า
“ได้ให้สุขภาพดีกับผู้ใหญ่และคนที่เขารัก”
คลิกไลก์เพจ “พ.ฟาร์ม” ได้ที่ >> www.facebook.com/PorFarm/
(พื้นที่ประชาสัมพันธ์)