xs
xsm
sm
md
lg

ETDA เผยคนไทยใช้เน็ตมือถือ 6.2 ชั่วโมงต่อวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ETDA เผยปีนี้คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเพิ่มขึ้นเป็น 6.2 ชั่วโมงต่อวัน จากปีที่ผ่านมา 5.7 ชั่วโมง ขณะที่การใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมลดลงเหลือ 6.4 ชั่วโมงต่อวัน จากปีที่ผ่านมาที่ 6.9 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่นิยมใช้มากที่สุด คือ YouTube, Facebook และ LINE ขณะที่พฤติกรรมการใช้ผ่านสมาร์ทโฟน คือ การพูดคุยผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก รับชมวิดีโอ และอ่านอีบุ๊ก

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA กล่าวว่า ในการสำรวจครั้งนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 16,661 คน เป็นเพศหญิง 57.3% ชาย 41.4% เพศที่สาม 1.3% ขณะเดียวกัน ยังมีการแบ่งในส่วนของกลุ่มตัวอย่างละเอียดมากขึ้น โดยเป็นกลุ่ม Gen Y 54.4%, Gen X 36.3%, Baby Boomer 8.5% และ Gen Z 0.8%

โดยจากการสำรวจพบว่า จำนวนชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตในภาพรวม ทั้งผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ และคอมพิวเตอร์ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือคิดเป็นระยะเวลาการใช้งานเฉลี่ย 6.4 ชั่วโมงต่อวัน โดยเพศที่สาม และ Gen Y เป็นกลุ่มที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงที่สุด อยู่ที่ 48.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 53.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามลำดับ

สมาร์ทโฟนยังคงเป็นอุปกรณ์หลักที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยมีจำนวนผู้ใช้งานมากถึง 85.5% และมีจำนวนชั่วโมงการใช้งานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งทั้งจำนวนผู้ใช้งาน และจำนวนชั่วโมงการใช้งานของปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2558 มีจำนวนผู้ใช้งาน 82.1% และมีจำนวนชั่วโมงการใช้งานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.7 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น

“ปีที่ผ่านมา คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด 6.9 ชั่วโมง ในขณะที่ปีนี้ลดลงเหลือ 6.4 ชั่วโมง เนื่องมาจากมีการเพิ่มฐานการสำรวจให้กว้างขึ้น ในหลากหลายช่วงอายุมากขึ้น ทำให้ปริมาณเฉลี่ยการใช้งานลดน้อยลง แต่ในแง่ของการใช้งานบนสมาร์ทโฟนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ มาอยู่ที่ 6.2 ชั่วโมง จากเดิม 5.7 ชั่วโมงต่อวัน”

ในส่วนของช่วงเวลาเรียน/ทำงาน (08.01-16.00 น.) มีการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นอุปกรณ์อันดับ 1 ที่ใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยช่วงเวลา 08.01-12.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คิดเป็น 64.5% ขณะที่ช่วงเวลาหลังเลิกเรียน/ทำงานจนถึงเช้า (16.01-08.00 น.) สมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์อันดับ 1 ที่ใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยช่วงเวลา 16.01-20.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด คิดเป็น 68.4%

สำหรับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ คิดเป็น 29.3% ใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างการเดินทางในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่พักอาศัยในต่างจังหวัด ซึ่งมีเพียง 10.3% เท่านั้น ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตของคนกรุงเทพฯ ที่ดี และพร้อมกว่าต่างจังหวัด และตลอดจนคนกรุงเทพฯ ประสบปัญหาสภาพการจราจรที่แออัดหนาแน่นกว่าต่างจังหวัด ทำให้คนกรุงเทพฯ นิยมที่จะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่น/ใช้งานในระหว่างรถติด

กิจกรรมยอดนิยม 5 อันดับแรกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมทำผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ได้แก่ การพูดคุยผ่าน Social Network 86.8% รองลงมา เป็นการดูวิดีโอผ่าน YouTube 66.6% การอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 55.7% การค้นหาข้อมูล 54.7% และการทำธุรกรรมทางการเงิน 45.9% ตามลำดับ

ในส่วนของสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยม 3 อันดับ พบว่า อันดับแรก ได้แก่ YouTube มีผู้ใช้งานมากถึง 97.3% รองลงมา คือ Facebook และ Line มีผู้ใช้งานคิดเป็น 94.8% และ 94.6% ตามลำดับ โดยกลุ่มที่ใช้งาน YouTube มากที่สุด ได้แก่ Gen Y และ Gen Z คิดเป็น 98.8% และ 98.6% ตามลำดับ ขณะที่ 2 กลุ่มนี้ใช้ Facebook คิดเป็น 97.9% และ 93.8 % ตามลำดับ เป็นอันดับ 2 ส่วนอันดับ 3 คือ Line คิดเป็น 97.2% และ 91.4% ตามลำดับ

ในขณะที่ Line เป็นแอปพลิเคชันที่กลุ่ม Baby Boomer และ Gen X นิยมใช้ติดต่อสื่อสารมากที่สุด คิดเป็น 91.5% และ 96.2% ตามลำดับ รองลงมา คือ YouTube คิดเป็น 89.3% และ 95.3% ตามลำดับ ส่วนอันดับ 3 คือ Facebook คิดเป็น 86.5% และ 93.9% ตามลำดับ

เมื่อทำการสำรวจด้านความถี่ในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์แต่ละประเภท พบว่า Facebook ยังคงเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการใช้งานบ่อยที่สุดเป็นอันดับ 1 รองลงมา เป็น Line และ YouTube โดยมีสัดส่วนของผู้ใช้งาน คิดเป็น 84.2%, 82.0% และ 76.9% ตามลำดับ

ในด้านปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต จากผลการสำรวจพบว่า ปัญหาอันดับแรก ได้แก่ ความล่าช้าในการเชื่อมต่อ/ใช้อินเทอร์เน็ต 70.3% รองลงมา เป็นเรื่องของปริมาณโฆษณาที่มารบกวน 50.7%, การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตยาก/หลุดบ่อย 32.7% เสียค่าใช้จ่ายแพง 26.8% และการให้บริการอินเทอร์เน็ตยังไม่ทั่วถึง 21.2% ตามลำดับ

ในความคิดเห็นของผู้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ผ่านระบบ 3G/4G ปัญหาสำคัญที่สุด 3 อันดับแรกที่เกิดจากการใช้งานระบบ 3G/4G อันดับแรก เป็นเรื่องของความสิ้นเปลืองแบตเตอรี่ ต้องหมั่นคอยชาร์จ รองลงมา เป็นเรื่องของการใช้งาน 4G ในบางพื้นที่ไม่มีสัญญาณ หรือสัญญาณอ่อน และค่าใช้จ่ายในการใช้งานค่อนข้างสูง คิดเป็น 70.4%, 64.7% และ 40.2% ตามลำดับ

ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ชัดเจนในเรื่องการใช้งานอินเทอร์เน็ต ทั้งผ่านสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ พอจะสรุปได้ว่า คนส่วนใหญ่ยังคงชื่นชอบการสื่อสารจากการแชตในสังคมออนไลน์มากที่สุด ขณะที่การชม YouTube เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความบันเทิงที่เป็นที่นิยม

สำหรับการอ่านอีบุ๊ก คนไทยยังคงให้ความสำคัญเป็นอันดับ 3 ทั้งหมดช่วยให้การประเมินต่อยอดกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของทั้งภาครัฐ เอกชน และคนทั่วไป ง่ายขึ้นในการเข้าถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงเป็นกำลังใจให้วงการดิจิตอลคอนเทนต์ในการที่สร้างสรรค์งานเขียน และสื่อสร้างสรรค์ออนไลน์ต่อไป

Company Relate Link :
ETDA
เอ็ตด้าเผยพฤติกรรมผู้ใช้เน็ตปี 59 ชี้เทรนด์ใหม่มาแรง ชงรัฐ-เอกชน จับตา 3G-4G ยังต้องปรับปรุง
เอ็ตด้าเผยพฤติกรรมผู้ใช้เน็ตปี 59 ชี้เทรนด์ใหม่มาแรง ชงรัฐ-เอกชน จับตา 3G-4G ยังต้องปรับปรุง
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2559 ยุค 4 จีทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไฮไลต์ นักท่องเน็ตผ่านมือถือโต 9 เปอร์เซ็นต์ จากปี 58 ยอด 5.7 พุ่ง 6.2 ชั่วโมงต่อวัน ช่วงเวลาที่ใช้มากที่สุด 4 โมง ถึง 8 โมงเช้า เพศที่ 3 และเจน Y ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือสูงสุด เจน X ขึ้นไปเน้นไลน์ เจน Z และ Y นิยมท่องยูทิวบ์ คาดเทรนด์ใหม่ยุค 4G ชี้นักการตลาดต้องสน คนยุคนี้ท่องเน็ตเพื่อ ‘แชต ชม อ่าน’ ขณะที่การให้บริการ 3G-4G ยังต้องปรับปรุง
กำลังโหลดความคิดเห็น