โนเกีย เชื่อมั่นไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางดิจิตอลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ในการนำเทคโนโลยี IoT และความปลอดภัยสาธารณะสู่ไทย เพื่อช่วยภาครัฐนำพาประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล มั่นใจการควบรวมกับอัลคาเทล-ลูเซ่น จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่บริษัท
เซบาสเตียน โลรองท์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย โนเกีย กล่าวว่า โนเกียค่อนข้างให้ความสำคัญกับประเทศไทย เพราะมองว่าด้วยภูมิประเทศของไทยที่เหมาะจะเป็นศูนย์กลางของดิจิตอลในภูมิภาคนี้ ทำให้ต้องมีการร่วมมือกับทั้งทางผู้ให้บริการเครือข่าย (โอเปอเรเตอร์) ที่มีภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงภาครัฐต่างๆ ที่จะนำเสนอระบบความปลอดภัยสาธารณะ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น
“เดิมโนเกียจะเน้นการให้บริการในกลุ่มธุรกิจเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นโมบายเน็ตเวิร์ก ฟิกซ์เน็ตเวิร์ก คอร์เน็ตเวิร์ก และการวิเคราะห์ข้อมูล แต่ด้วยเทรนด์ของเทคโนโลยีที่กำลังมุ่งไปสู่การให้บริการผ่านแพลตฟอร์มมากขึ้น จึงมีการเพิ่มธุรกิจที่เป็นซอฟต์แวร์เข้ามาเสริมเพื่อให้บริการเป็นแพลตฟอร์ม IoT เพิ่มเติมไปจากเดิม”
แน่นอนว่าสัดส่วนรายได้หลักของโนเกียยังมาจากธุรกิจอุปกรณ์เครือข่ายเกิน 50% ดังนั้น การมาของโซลูชันเกี่ยวกับ IoT อุปกรณ์บริหารจัดการเชื่อมต่อ รวมถึง สมาร์ทโฮม ถือเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูง และจะกลายเป็นอนาคตของบริษัทต่อไป ทำให้ต้องมีการปรับวิสัยทัศน์มาเป็นการช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสมกับเน็ตเวิร์กในทุกรูปแบบ พร้อมกับผลักดันให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ
โดยแกนหลักของทิศทางที่โนเกียจะมุ่งไป คือ ธุรกิจ IoT (Internet of Things) เพราะจากข้อมูลที่ระบุว่า ภายในปี 2020 จะมีอุปกรณ์เคลื่อนที่ในโลก 2-5 หมื่นล้านอุปกรณ์ จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 7 พันล้านอุปกรณ์ จึงทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายจำเป็นต้องหาโซลูชันที่จะมาช่วยบริหารจัดการอุปกรณ์ดังกล่าว
ในจุดนี้โนเกียได้พัฒนา “โนเกีย อิมแพค แพลตฟอร์ม” ขึ้นมาเพื่อเป็นโซลูชันในการบริหารจัดการอุปกรณ์ IoT ที่สามารถใช้ในการจัดเก็บข้อมูล ประมวลผลการทำงาน บริหารจัดการ วิเคราะห์ข้อมูล และระบบรักษาความปลอดภัยแบบ End-to-End ซึ่งถือเป็จุดแข็งของโนเกีย หลังจากควบรวมกับทางอัลคาเทล-ลูเซ่น ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในตลาดการรักษาความปลอดภัยในที่สาธารณะ ที่ใช้ความสามารถโครงข่าย LTE (AirScale Radio) ของโนเกีย ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบ IoT คลาวด์ ที่สามารถลดค่าใช้จ่ายให้แก่โอเปอเรเตอร์ในการบริหารจัดการถึง 50% จากความสามารถใหม่ไม่ว่าจะเป็นขนาดที่กะทัดรัดขึ้น ประหยัดพลังงานมากขึ้น แต่ให้ประสิทธิภาพในการใช้งานมากกว่าเดิม
ขณะที่สถานการณ์ในการควบรวมระหว่างโนเกีย กับอัลคาเทล-ลูเซ่น ตั้งแต่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการหาพื้นที่เพื่อจัดตั้งสำนักงานใหญ่ร่วมกัน เนื่องจากปัจจุบันยังมีการแยกออฟฟิศทำงานอยู่ แม้ว่าในส่วนของระบบจะเชื่อมต่อฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ และลูกค้าเข้าด้วยกันเรียบร้อยแล้วก็ตาม
“การควบรวมในครั้งนี้ถือว่าง่ายกว่าครั้งที่โนเกียเคยรวมกิจการกับรายเก่า เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้ไม่ต้องมีความกังวลในการจัดการหลังบ้าน และสามารถให้ความสำคัญกับลูกค้าด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และโซลูชันที่ครบวงจรมากยิ่งขึ้นในฐานลูกค้าเดิม และการหาลูกค้าใหม่”
ปัจจุบันในตลาดโลก โนเกียถือเป็นผู้นำอุปกรณ์เครือข่ายเคลื่อนที่ ขณะที่ในกลุ่มฟิกซ์เน็ตเวิร์ก คอร์เน็ตเวิร์ก (ไอพี) และธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูล อยู่ในอันดับที่ 2 ส่วนในตลาดประเทศไทย ก็ร่วมมือกับทุกผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศไทยในส่วนของอุปกรณ์เครือข่าย ก่อนจะเริ่มขยายมาเป็นผู้ให้บริการโซลูชัน
Company Relate Link :
Nokia