xs
xsm
sm
md
lg

JWD ทุ่ม 20 ล้านบาท เลือก SAP ยกระดับองค์กร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)
เจดับเบิ้ลยูดี ทุ่ม 20 ล้านบาท เลือก SAP Business One on HANA เชื่อมข้อมูลบริษัทลูกเป็นหนึ่งเดียว หวังผู้บริหารเรียกดูข้อมูลรวดเร็ว แม่นยำ มีประสิทธิภาพ สามารถตัดสินใจ และสร้างกลยุทธ์ได้ทันตลาด พร้อมรุก CLMV และมาเลเชีย

นายเอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ให้บริการลอจิสติกส์ และบริหารจัดการซัปพลายเชนครบวงจร ซึ่งมีบริษัทลูกอยู่ประมาณ 20 บริษัท ซึ่งปกติแล้ว เจดับเบิ้ลยูดี มีบริษัทลูกที่พัฒนาระบบไอทีให้กับบริษัทลูกอยู่แล้ว แต่ไม่มีการเชื่อมข้อมูลหลังบ้านระหว่างกัน ดังนั้น ผู้บริหารที่ทำงานอยู่บริษัทแม่จึงไม่สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อตัดสินใจดำเนินธุรกิจได้รวดเร็วให้ทันสถานการณ์การแข่งขัน ดังนั้น เจดับเบิ้ลยูดี จึงเลือกซอฟต์แวร์ SAP Business One on HANA มาเชื่อมต่อกับระบบการทำงานเดิมไม่ว่าจะเป็นระบบบริหารจัดการคลังสินค้า (WMS) ระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดพักรถยนต์ (AYMS) ระบบจัดการคลังสินค้าห้องเย็น (CCMS) และระบบจัดการการขนส่ง (TMS) ซึ่งระบบเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้เชื่อมต่อกับ SAP ได้ง่าย และรวดเร็วอยู่แล้ว

ทั้งนี้ บริษัทใช้งบประมาณในการลงทุนประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งได้ติดตั้งระบบซอฟต์แวร์ดังกล่าวในเฟสแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมใช้งานได้ภายในเดือน ก.ค.2559 ด้วยงบประมาณไม่เกิน 10 ล้านบาท กับ 4 บริษัท คือ บริษัทแม่ บริษัทเกี่ยวกับธุรกิจออโต้ ลอจิสติกส์ บริษัทเกี่ยวกับทรานสปอร์ต และเจดับเบิ้ลยูดี เอเชีย ซึ่งเป็นหัวหอกในการทำตลาดเอเชีย
นายนพดล เจริญทอง ผู้อำนวยการฝ่ายขายกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เอสเอพี ประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม หากการทำงานกับระบบในเฟสแรกไม่มีปัญหา ภายในปีนี้บริษัทจะติดตั้งในเฟสที่สองทันที ด้วยงบประมาณไม่เกิน 10 ล้านบาท กับอีก 16 บริษัทลูกที่เหลือ ซึ่งมั่นใจว่า บริษัทจะสามารถติดตั้งระบบได้รวดเร็ว เนื่องจากในเฟสแรกทำให้พนักงานคุ้นเคยกับการทำงานในระบบใหม่แล้ว ประกอบกับพนักงานบริษัทมีความทันสมัย จึงทำให้การติดตั้งระบบอีก 16 บริษัททำได้ง่าย คาดว่าจะสามารถใช้ระบบได้ภายในไตรมาสแรกปีหน้า

“สาเหตุที่เราเลือก 4 บริษัทแรกก่อนในการอิมพลิเมนต์ระบบ เนื่องจากเป็นกลุ่มบริษัทที่อยู่ในกรุงเทพฯ เหมือนกัน และมีการทำทรานเซ็กชันจำนวนมาก ดังนั้น การทำสิ่งที่ยากก่อน ต่อไปก็จะทำกับอีก 16 บริษัทที่มีระบบทรานเซ็กชันไม่มาก ก็จะง่ายขึ้น ต่อไปผู้บริหารที่อยู่บริษัทแม่ก็สามารถดึงข้อมูลจากบริษัทลูกทั้งหมดมาดูได้รวดเร็ว แม่นยำ ทำให้สามารถใช้ข้อมูลได้มีประสิทธิภาพ ตัดสินใจกลยุทธ์ทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น”

นายเอกพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากบริษัทมีธุรกิจในประเทศแล้ว บริษัทยังได้เตรียมงบ 3,000 ล้านบาท ในเวลา 5 ปี เพื่อขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ด้วย โดยได้ลงทุนไปแล้วในประเทศลาว พม่า และกัมพูชา นอกจากนี้ ยังมีแผนจะขยายไปที่ประเทศเวียดนาม และมาเลเชีย ซึ่งใน 2 ประเทศหลังจะไม่เน้นการลงทุนเอง แต่จะหาพันธมิตรที่แข็งแกร่งในประเทศนั้นลงทุนทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งระบบ SAP จะเป็นระบบมาตรฐานที่เชื่อมต่อไปยังต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ บริษัทยังได้เตรียมงบประมาณ 60 ล้านบาท ในการรุกตลาดลอจิสติกส์ เพื่อรองรับตลาดอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งมีการเติบโตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทลูกที่ทำระบบไอทีจะเป็นผู้พัฒนาโซลูชันไอทีเอง และในอนาคตก็จะนำระบบซอฟต์แวร์ของ SAP มาเชื่อมต่อด้วย

ด้าน นายนพดล เจริญทอง ผู้อำนวยการฝ่ายขายกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เอสเอพี ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมูลค่าตลาดลอจิสติกส์ในประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านบาท มีการเติบโต 7.5 % จึงมั่นใจว่า โซลูชันของเอสเอพี จะช่วยสนับสนุน และเสริมความแข็งแกร่งให้กับ เจดับเบิ้ลยูดี กรุ๊ป เพื่อมุ่งสู่การเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านลอจิสติกส์ระดับอาเซียนได้ในอนาคต และด้วยการสนับสนุนจากฮิวแมนิก้า พาร์ตเนอร์ในการติด SAP Business One on HANA ก็จะยิ่งช่วยให้การลงระบบซอฟต์แวร์รวดเร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น