“สมคิด” เนื้อเต้น โชว์ผลงาน Digital Economy จีบหัวเว่ย ใช้ไทยเป็นฐานในการรุกอาเซียนสำเร็จ กระซิบ “อุตตม” จับหัวเหว่ยเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลให้ได้ ด้านหัวเว่ย มั่นใจประเทศไทยมีเศรษฐกิจมั่งคั่ง การเมืองมั่นคง มั่นใจไทยก้าวสู้ไอซีที ฮับ ได้แน่นอน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานเปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมศูนย์ Customer Solution Innovation and Integration Experience Center (CSIC) และศูนย์ฝึกอบรมแห่งใหม่ของหัวเว่ย ว่า การที่หัวเว่ยเลือกเปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทย นับเป็นความสำเร็จของรัฐบาลในการเชิญบริษัทต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทย เพราะไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมที่สุดในการตั้งศูนย์เพื่อรุกประเทศในอาเซียน ซึ่งเรื่องนี้ตนเองได้กำชับ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ให้เจรจากับหัวเว่ยเพื่อมาเป็นพันธมิตรกับประเทศไทยให้ได้ อย่าให้พลาด เพราะหัวเว่ย เป็นบริษัทที่ใช้งบประมาณ 1 ใน 6 เพื่อลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา ทำให้เชื่อได้ว่าหัวเว่ยต้องเติบโต และเป็นบริษัทชั้นนำของโลกได้อย่างแน่นอน
การพัฒนาคนของหัวเว่ย ผ่านการร่วมมือกับสถาบันการศึกษานั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งต่อไปรัฐบาลไทยจะจับมือเป็นพันธมิตรกับหัวเว่ย ในการทำโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เนื่องจากการพัฒนาคนเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Digital Economy
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้แข่งกับสิงคโปร์ แต่ประเทศไทยโตได้แน่ แม้จะมาช้ากว่าสิงคโปร์ เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของไทยแซงหน้ามาเลเซีย และเวียดนามแล้ว เนื่องจากตอนนี้นโยบาย Digital Economy ของไทยชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการใช้งบ 20,000 ล้านบาท ในการสร้างบรอดแบนด์ และอินเทอร์เนชันแนล เกตเวย์ ที่มีความเสถียร เพื่อเป็นไอซีที ฮับ ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งการสร้างกลุ่มคลัสเตอร์ด้านไอซีที รวมถึงเศรษฐกิจ และการเมืองของไทยมั่นคง
“ผมดีใจมากที่หัวเว่ยเลือกไทย วันนี้ผมไม่รับงานไหนเลย ตั้งใจมางานนี้โดยเฉพาะ เราพร้อมอ้าแขนเปิดรับต่างชาติทุกราย เพราะไทยจะเป็นไอซีที ฮับ ได้แน่ๆ ใครจะรุกภูมิภาคนี้ต้องเลือกไทยเป็นฐาน”
ด้าน นายเดวิด ซุน ประธานบริหารบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า บริษัทได้เปิดสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทย ด้วยเงินลงทุน 400 กว่าล้านบาท บนพื้นที่ 4,380 ตารางเมตร โดยหัวเว่ย ได้รับการสนับสนุนมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศในประเทศไทย (International Headquarters : IHQ) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หลังจากดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานถึง 19 ปี
สำหรับเหตุผลในการเลือกประเทศไทยเป็นสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเห็นว่า ประเทศไทยมีนโยบาย Digital Economy ที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นไอซีที ฮับ ได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในประเทศ การเมือง และเศรษฐกิจที่มั่นคง โดยรายได้หัวเว่ยในประเทศไทยเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัทถึงกว่า 20,000 ล้านบาท หรือ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการทำธุรกิจกับ 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ได้แก่ ไทย อินเดีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา ลาว บังกลาเทศ ศรีลังกา เนปาล ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเก๊า
“สำหรับการเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลไทยคาดว่าจะมีการทำงานร่วมกันเร็วๆ นี้อย่างแน่นอน โดยหัวเว่ย จะตั้งคณะทำงานเพื่อร่วมพูดคุยกับรัฐบาลไทยโดยเฉพาะ”
นายเดวิด กล่าวว่า นอกจากนี้ สำนักงานดังกล่าวยังมีศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ CSIC (Customer Solution Innovation and Integration Experience Center) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของไทย และผลักดันให้ไทยได้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านไอซีทีของภูมิภาค เพื่อรองรับลูกค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริโภคชาวไทย ผู้ประกอบการโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่างๆ ประกอบด้วย ห้องฝึกอบรม 5 ห้อง รองรับได้กว่า 100 คน
สำหรับศูนย์ CSIC เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการการเรียนรู้เชิงนวัตกรรมระดับโลกอันทันสมัยที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้สัมผัสประสบการณ์ รวมถึงออกแบบ พัฒนา และสร้างสรรค์โซลูชัน และแอปพลิเคชันด้านไอซีทีขึ้นเองได้ ซึ่งโซนจัดแสดงภายในศูนย์ CSIC ได้รวบรวมเอาตัวอย่างแอปพลิเคชัน และบริการอื่นๆ จากลูกค้า และห้องปฏิบัติการฝ่ายวิจัยและพัฒนา (R&D) ของหัวเว่ย เอาไว้กว่า 120 รายการ เช่น 4K Video เทคโนโลยี IoT บรอดแบนด์แห่งชาติ เครือข่ายเคเบิลใต้น้ำ และโมบาย บรอดแบนด์