“อุตตม” เผยสัปดาห์หน้าเตรียมศึกษารูปแบบการจัดตั้งกองทุนรวมโครงข่ายพื้นฐานระดับชาติ สำหรับโครงการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำระหว่างประเทศ คาดได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี ก่อนเดินหน้าโครงการต้นปีหน้า ชี้เอกชน 5 รายสนใจร่วมลงทุน ส่วนโครงการเน็ตหมู่บ้านเดินเครื่องได้ทันที หวังติดตั้ง 16,000 หมู่บ้าน ภายในเดือน มิ.ย.2560 และทยอยเสร็จทั้งหมดรวม 4 หมื่นหมู่บ้านภายในสิ้นปี 2560
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงไอซีทีไปศึกษารูปแบบการจัดตั้งกองทุนรวมโครงข่ายพื้นฐานระดับชาติสำหรับการทำโครงการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำระหว่างประเทศ ซึ่งมีบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าภาพ ภายใต้กรอบงบประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยภายในสัปดาห์หน้า จะจัดให้มีการประชุมนัดแรกเพื่อศึกษารูปแบบในการจัดตั้งกองทุนรวมว่าควรจะมีรูปแบบอย่างไร เพื่อให้ทราบข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ก่อนจะเดินหน้าดำเนินการโครงการในช่วงต้นปีหน้า
แนวคิดของโครงการดังกล่าว คือ กระทรวงไอซีที เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถเข้าร่วมลงทุนได้ ซึ่งขณะนี้มีเอกชนที่แสดงความสนใจอยู่ประมาณ 5 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งกระทรวงไอซีที ก็ต้องดูรูปแบบก่อนว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ รวมถึงการวางเคเบิลใยแก้วใต้น้ำด้วยว่าต้องวางเพิ่มเติมเท่าไหร่ถึงจะรองรับการเติบโตของการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอนาคตอย่างน้อย 5 ปีข้างหน้า ขณะที่รัฐบาลเองแม้จะมีกรอบงบประมาณอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมในการลงทุนด้วยว่าจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ เพราะตามกฎของการจัดตั้งกองทุนรวม รัฐบาลสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด
ส่วนอีกโครงการที่รัฐบาลให้กรอบงบประมาณ จำนวน 15,000 ล้านบาท สำหรับโครงการขยายบรอดแบนด์หมู่บ้าน ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบนั้น สำนักงบประมาณได้ให้งบประมาณมาแล้ว ขณะนี้ได้จัดทำร่างทีโออาร์ไว้แล้ว และจะนำเข้าที่ประชุมภายในสัปดาห์หน้าเพื่อปรับแก้ให้เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา ได้สำรวจจำนวนหมู่บ้านที่ต้องวางโครงข่ายแล้ว พบว่า มีจำนวนประมาณ 4 หมื่นหมู่บ้าน ที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึง และไม่ทับซ้อนกับพื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะติดตั้งอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือน มิ.ย.2560 จะติดตั้งแล้วเสร็จ จำนวน 16,000 หมู่บ้าน และจะสามารถทยอยติดตั้งจนครบทั้งหมด 4 หมื่นหมู่บ้านภายในสิ้นปี 2560
“ช่วงเวลา 2 ปีนี้ นับเป็นปีแห่งการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศมั่นใจ และพร้อมเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ตอนนี้สิ่งที่ต่างชาติกังวลไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กฎหมาย เราก็มีการแก้ให้ โครงสร้างพื้นฐานเราก็ทำให้เสถียร นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่างๆ นำร่อง เช่น ศูนย์ดิจิตอลชุมชน ที่เชื่อมโยงในการพาประเทศไทยสู่ดิจิตอล ไทยแลนด์ เพื่อให้ต่างชาติมั่นใจว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปทางนั้น เมื่อต่างชาติมั่นใจ บรรยากาศทุกอย่างเอื้อแก่การลงทุน เขาก็พร้อมจะลงทุนในประเทศไทย นี่คือแผนที่เราวางไว้ทั้งหมด”