ความวุ่นวายของการประมูลคลื่น 900 MHz ดูเหมือนจะยังไม่จบง่ายๆ แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศให้จัดประมูลรอบใหม่ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ และขยายระยะเวลาเยียวยาลูกค้าบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ระบบ 2G คลื่น 900 MHz ออกไปจนถึง 30 มิ.ย.จากเดิมที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้คุ้มครองถึงวันที่ 14 เม.ย.แล้วก็ตาม
หากไล่เรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะพบข้อพิรุธหลายประการ บ่งบอกถึงการใช้อำนาจแบบมิชอบ มีการกระทำส่อให้เห็นถึงการเอื้อประโยชน์อย่างชัดเจน เริ่มจาก 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์' เลขาธิการกสทช.ที่เป็นจิ๊กซอว์สำคัญในหมากกระดานนี้ ในวันก่อนหน้าที่คำสั่งตามมาตรา 44 จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา ฐากร บอกว่า นอกจากร่างเงื่อนไขการประมูลรอบใหม่และการขยายระยะเวลาเยียวยาลูกค้าแล้วยังมีการทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) บางอย่างของเอกชนเกิดขึ้นด้วย โดยเลขาธิการกสทช.ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดให้รับทราบเพียงอ้างว่าต้องการให้การประมูลราบรื่นและบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไม่ฟ้องร้องต่อศาล
โดยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 900 MHz ระหว่าง เอไอเอส และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น กับ บริษัท เรียล มูฟ จำกัด และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โดยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฟ้องร้องต่อศาล หลังจากที่ ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล ทำหนังสือร้องสอดต่อศาลปกครอง กรณีที่เอไอเอสขอขยายระยะเวลาเยียวยาจากเดิมที่ศาลให้คำสั่งสิ้นสุดการเยียวยาในวันที่ 14 เม.ย.รวมถึงทรูยังได้ร้องขอความเป็นธรรมกับคสช.และกสทช.ด้วย
แต่ร่างเอ็มโอยู ที่ถูกเปิดเผยผ่านโซเชียลมีเดีย @NBTCnews เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา กลับไม่ได้เป็นไปตามนั้น !!!
ทั้งนี้เนื้อหาร่างเอ็มโอยู ฉบับตบทรัพย์ ระบุไว้ 2 ข้อ คือ 1.ทั้ง 2 ฝ่ายยินยอมให้กสทช.เป็นผู้ตรวจสอบการโอนย้ายผู้ใช้บริการของกลุ่มบริษัทเอไอเอสไปยังกลุ่มบริษัททรู โดยสำนักงานกสทช.จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาและตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว โดยมีรองเลขาธิการ กสทช.สายงานกิจการโทรคมนาคม เป็นประธานคณะทำงาน และให้มีผู้แทนจากกลุ่มบริษัทเอไอเอสและกลุ่มบริษัททรูร่วมเป็นคณะทำงานด้วย ทั้งนี้หากผลการพิจารณาของสำนักงานกสทช.เป็นประการใดแล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะรับไปปฎิบัติโดยพลัน โดยไม่โต้แย้งหรืออุทธรณ์ผลการพิจารณาดังกล่าวของสำนักงานกสทช.ไม่ว่าในกรณีใด และขอสละสิทธิ์เรียกร้องใดๆอันเกิดขึ้นจากการตรวจสอบและการชี้ขาดของสำนักงานกสทช.
2.เอดับบลิวเอ็น ตกลงใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ หรือ โรมมิ่ง บนคลื่น 900 MHz บนคลื่นย่านความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHzของ ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.เพื่อรองรับการใช้งานของผู้ให้บริการของกลุ่มบริษัทเอไอเอสในบางส่วนตามความเหมาะสม จนกว่าระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการตามมาตรการเยียวยาจะสิ้นสุดลง ทั้งนี้ให้ผู้แทนทั้งสองฝ่ายเจรจาร่วมกันให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 15 วัน โดยมี รองเลขาธิการ กสทช.สายงานกิจการโทรคมนาคม เป็นผู้กำกับดูแลการเจรจาในเรื่องนี้ และรายงานต่อเลขาธิการกสทช.ทราบเป็นระยะ
'ว่ากันว่าในการประชุมร่วมกันจะไม่ให้เอไอเอสโรมมิ่งกับดีแทคด้วยซ้ำ โดยหันมาใช้บริการทรูแทน ทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เลขาฯพูดไม่หมด'
นอกจากนี้แหล่งข่าวจากกระทรวงไอซีที ให้ข้อมูลว่าในที่ประชุมที่มี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี , อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ,ทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงไอซีที ,ฐากร ,สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส และ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมประชุมเพื่อหาทางออกในมาตราการเยียวยาลูกค้านั้น ฐากรได้พยายามโน้มน้าวให้ เอไอเอส ลงนามในเอ็มโอยู ซึ่งได้จัดเตรียมไว้แล้ว ขณะที่ สมชัยเอง ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่าปัจจุบันเอไอเอสได้มีแผนการดูแลลูกค้า 2G ของบริษัทอยู่แล้ว โดยได้โรมมิ่งกับดีแทค ซึ่งจะสามารถรองรับลูกค้าได้ประมาณ 8 ล้านราย ในส่วนของลูกค้าที่ยังเหลืออยู่ราว 4 แสนรายนั้น ก็ได้มีคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 ให้มีการใช้งานต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.59 ซึ่งเมื่อถึงเวลาดังกล่าวก็จะได้ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz รอบใหม่อยู่แล้ว
โดยในกลุ่มลูกค้าจำนวน 4 แสนรายดังกล่าวปัจจุบันได้ใช้ช่วงคลื่นที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ชนะการประมูล และกำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดการประมูลใหม่ ซึ่ง เอไอเอส เองก็เข้าร่วมประมูลด้วย จึงยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องลงนามในร่างเอ็มโอยู เพื่อโอนย้ายลูกค้าไปยัง ทรู แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการชี้แจงจาก เอไอเอส แล้ว ที่ประชุม นำโดย ฐากร ก็ยังพยายามโน้มน้าวให้ เอไอเอส ลงนามในข้อตกลงดังกล่าวอยู่ โดย สมชัย ได้กล่าวว่า เอไอเอส จะต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ของเอไอเอส ก่อนจึงจะสามารถให้คำตอบได้
เมื่อเอ็มโอยู ถูกแฉผ่านโซเชียล ทำให้ ฐากร ออกมาแถลงข่าวด่วนเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยได้กล่าวปฎิเสธข้อกล่าวหาแต่ก็ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเนื้อหาเอ็มโอยูที่ปรับปรุงใหม่ได้ กลับโยนให้ เอไอเอส เป็นผู้ชี้แจงเอง อีกทั้งยังชี้แจงด้วยว่าเอกสารที่เห็นนั้นเป็นเอกสารเก่าที่กสทช.เป็นผู้ยกร่างให้ทั้ง 2 ฝ่ายดู แต่ทั้ง 2 ฝ่ายได้แก้ไขเอกสารกันทั้งคู่แล้วจนเรียกได้ว่าไม่ต้องเซ็นเอ็มโอยู ก็ได้ เพราะเนื้อหาเบาจนไม่มีอะไรน่ากลัวอย่างที่เป็นข่าว ขออย่าให้กังวล และกสทช.ไม่ได้ต้องการทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับใครทั้งสิ้น แต่เป็นการทำเพื่อผู้บริโภค
'เมื่อเช้าวันที่ 25 เม.ย. เอไอเอสได้เข้าพบกับผมและบอกว่าเรื่องนี้ซีอีโอของเอไอเอสจะเป็นผู้ชี้แจงเอง ผมจึงไม่ได้ซักว่าใครเป็นคนปล่อยเอกสาร เพราะตรวจสอบกันแล้วพบว่าเป็นเอกสารเก่า จึงขอให้อย่ากังวล ไม่ได้มีอะไรใหญ่โต กสทช.ไม่ได้บังคับให้เซ็น จะเซ็นหรือไม่เซ็นก็แล้วแต่ ยืนยันว่าทุกอย่างทำโปร่งใส ไม่มีอะไรอยู่ในที่มืด ตอนนี้ปรับเอ็มโอยูใหม่เบาจนเป็นปุยนุ่นแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้เพราะเข้าใจว่าเป็นความลับทางธุรกิจที่เอไอเอสเองก็คงไม่อยากเปิดเผย'
ด้านเอไอเอสกลับชี้แจงแบบเป็นกลางๆว่า ได้มีการหารือระหว่างภาครัฐ และเอกชนจริง ถึงเรื่องการดูแลลูกค้า 900 MHz และคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในด้านการใช้งานโทรคมนาคมในช่วงรอการประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งใหม่ ซึ่งขณะนี้การหารือในเรื่องการดูแลลูกค้า และคุ้มครองประโยชน์ประชาชนยังอยู่ในระหว่างการเจรจาร่วมกันในรายละเอียด เพื่อประโยชน์ของลูกค้า และประชาชนในช่วงเปลี่ยนถ่ายระหว่างรอการประมูล
โดยเอไอเอสมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในเรื่องต่างๆแต่ต้อง เป็นไปอย่างโปร่งใสถูกต้องตามหลักธรรมภิบาลของบริษัทฯที่อยู่ในตลาดหลัก ทรัพย์ และจะต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารก่อนหากบริษัทฯจะดำเนินการใดๆ
ด้านศุภชัย เองกล่าวถึงเอ็มโอยูนี้ว่าเป็นแค่หลักการกว้างๆเรื่องการโอนย้ายเลขหมายมากลุ่มทรู และ เอไอเอสต้องโรมมิ่งกับทรูบ้าง เพราะเอไอเอสใช้ความถี่ต่อในช่วงเยียวยา ขณะที่ทรูก็ต้องมีภาระจ่ายค่าความถี่ 900 MHzไปแล้ว
ขณะที่ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน และ กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าไม่เคยเห็นเอกสารดังกล่าวเลย แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นคนในสำนักงานกสทช.ปล่อยออกมา ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเซ็นเอ็มโอยูดังกล่าวว่า หากการเจรจามีผู้ใหญ่ทางการเมืองนั่งหัวโต๊ะก็น่าจะเป็นเรื่องแปลก ไม่ธรรมดา เพราะมีการเซ็นในช่วงที่จะเกิดการประมูล ทั้งๆที่ คสช.ได้ใช้มาตรา 44 ในการขยายมาตรการเยียวยาออกไปถึงวันที่ 30มิ.ย.แล้ว เอ็มโอยูนี้หากมีการเซ็นร่วมกันจะเข้าข่ายฮั้วการประมูลหรือไม่ คือ ทรูไม่เข้าร่วมประมูลให้เอไอเอสได้ไปรายเดียว หรือไม่
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเอ็มโอยูฉบับนี้ คือ การใช้อำนาจผ่านร่างทรง ที่กุมอำนาจรัฐในมือ เพื่อให้กระทำบางสิ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ อย่างไร้ยางอาย ประโยชน์ของโซเชียลเน็ตเวิร์กครั้งนี้ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นเส้นสายการทำธุรกิจที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย จะเป็นรัฐบาลการเมืองหรือ รัฐบาลท็อปบูต ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากนัก แม้กระทั่งการอ้างคำว่าทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ และ ประชาชน