ทีโอที กางแผน 3G คลื่น 2100 MHz หลังเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส ลั่นไม่สู้กับเอกชน หันให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ และซิมการ์ดสำหรับข้าราชการระดับล่าง ขณะที่ข้อพิพาทเรื่องเสาโทรคมนาคมกับเอไอเอสได้ข้อยุติแล้ว เตรียมเปิดกว้างให้เอกชนเช่าใช้ มั่นใจต้องได้ราคาสูงขึ้น ด้านคลื่น 2300 MHz ฟันธงใช้เพิ่มศักยภาพการขยายไฟเบอร์ทูโฮม ช่วยลดต้นทุน สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ ยิ้มรับผลประกอบการไม่ถูกด้อยค่ากว่าหมื่นล้านบาท
นายชิต เหล่าวัฒนา กรรมการบริหาร บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนในการให้บริการ 3G คลื่น 2100 MHz หลังจากที่เลือกบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ว่า จากข้อตกลงที่จะให้เอไอเอสลงทุนขยายเครือข่ายเพิ่มเติมอีกประมาณ10,000 สถานีฐาน จากเดิมที่มีอยู่ 5,320 สถานีฐาน โดยต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายและส่วนแบ่งรายได้อย่างน้อยให้ทีโอทีประมาณ 4 พันล้านบาทต่อปี แลกต่อการได้ความจุของระบบ 3G คลื่น2100 Mhz ของทีโอที 80% มาทำการตลาด โดยเบื้องต้น จะมีเลขหมายให้บริการประมาณ 7 ล้านเลขหมาย และสามารถขยายได้จนถึง 14 ล้านเลขหมายนั้น ส่วนที่เหลืออีก 20% ทีโอทีไม่มีแผนในการทำธุรกิจแข่งกับเอกชนแน่นอน เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทีโอทีทำการตลาดเองมากว่า 10 ปี มีเหลือลูกค้าไม่ถึงแสนรายเท่านั้น
ดังนั้น แผนของทีโอทีที่จะให้บริการในสิทธิความจุที่เหลือ 20% นั้น มีแนวทางจะให้บริการ 2 ลักษณะ คือ 1.การให้บริการ Remittance หรือการโอนเงินระหว่างเมืองหลวงกับต่างจังหวัด หรือการโอนเงินไปยังต่างประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากพบว่าโดยทั่วไปแล้วหากโอนเงินจำนวนน้อยๆ โดยใช้บริการจากธนาคาร หรือการโอนเงินจากแหล่งอื่นๆ อาจเสียค่าธรรมเนียมมากกว่าจำนวนเงินที่โอนด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการโอนเงินจากแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่มักนิยมใช้บริการนอกระบบ ทำให้ตรวจสอบได้ยาก และ 2.การให้บริการโทรศัพท์มือถือสำหรับข้าราชการระดับไม่สูงมากนัก อย่างเช่นระดับซี 5 ลงมา ในราคาประหยัดอย่างเช่นเดือนละ 200 บาท
“ในเมื่อมีพันธมิตรมาทำการตลาดไป 80% แล้ว ทีโอทีก็ไม่ควรมุ่งเชิงพาณิชย์เต็มที่ในอีก 20% ที่เหลือ แต่ทีโอทีควรมองถึงบริการที่จะมาช่วยแก้ปัญหา และตอบแทนสังคมด้วย”
ส่วนกรณีพิพาทเรื่องเสาโทรคมนาคมระหว่างทีโอทีกับเอไอเอส ประมาณ 13,000 เสาโทรคมนาคม ก็ได้ข้อยุติแล้ว โดยทีโอทีในฐานะเป็นเจ้าของเสาโทรคมนาคมก็จะให้สิทธิพื้นที่บนเสาโทรคมนาคมแก่เอไอเอสมาเช่าใช้ ซึ่งทีโอทีเปิดกว้างไม่จำกัดเฉพาะเอไอเอสรายเดียว รวมทั้งอุปกรณ์ 2G คลื่นความถี่ 900 MHz ที่เป็นทรัพย์สินของทีโอทีก็เช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ก็มีการเจรจากับบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด อีกราย ทั้งนี้ เข้าใจว่าเรื่องการเช่าอุปกรณ์ 2G นั้นเอกชนคงมีการพูดคุยกันเองแล้ว ซึ่งหากได้ข้อสรุปอย่างไรก็มาเจรจากับทีโอทีได้ โดยตามหลักการแล้วทีโอทีก็ควรได้ค่าเช่าที่มากขึ้น
สำหรับคลื่นความถี่ 2300 MHz หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อนุมัติให้ทีโอทีปรับปรุงการใช้งานให้สามารถเปลี่ยนเทคโนโลยี และมาให้บริการเชิงพาณิชย์ได้จนถึงปี 2568 แล้วนั้น ทีโอทีมีแผนนำมาเปิดให้บริการ open wi-fi ในการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการไฟเบอร์ทูโฮม จากเดิมที่ทีโอทีมีปัญหาเรื่องการลงทุนในการวางสายเคเบิลใยแก้วให้เข้าถึงทุกบ้าน ก็สามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อช่วยขยายโครงข่ายได้เร็ว และต้นทุนต่ำ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับภาคเอกชน
“จากการเลือกเอไอเอส เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ทำให้ทีโอทีมั่นใจว่าผลประกอบการปี 2558 จะมีทิศทางดีขึ้น เพราะไม่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ประเมินด้อยค่ากว่าหมื่นล้านบาทจากโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G คลื่น 2100 MHz”
Company Related Link :
ทีโอที