ประธาน กทค. เดินหน้ารับความสำเร็จหลังจัดการประมูล ทั้ง 3G 2100 MHz และ 4G 1800 MHz ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการเชื่อมต่อได้อย่างรวดเร็วที่สุดในโลกจากทาง ไอทียู พร้อมหารือต่อยอดบริการด้านการเงิน และความพร้อมในการป้องกันภัยคุกคามที่มุ่งโจมตีโครงสร้างพื้นฐาน
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และรองประธาน กสทช. ได้เข้าพบ ดร. อึน จู คิม, Chief of Innovation and Partnership Department ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดย ดร. คิม ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในเรื่อง ICT และทาง ITU ได้ยกประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาที่สำเร็จในรายงาน Measuring the Information Society Report 2015
โดย ITU ได้ติดตามพัฒนาการของประเทศไทยมาตั้งแต่หลังการประมูลคลื่น 2100 MHz มาจนการประมูลคลื่น 1800 MHz ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ 3G และ 4G ได้อย่างทั่วถึง และกว้างขวางรวดเร็วที่สุดในโลก พร้อมการหารือเห็นตรงกันว่าประเทศไทยควรมีการผลักดันต่อยอดจากโครงข่าย 3G และ 4G ที่มีอยู่ และกำลังจะขยายต่อเนื่องต่อไป
สำหรับเรื่องการขยายบริการการเงินโดยทั่วถึง (Financial Inclusive) จะสามารถสนับสนุนธุรกิจ SME และประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ห่างไกลได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลในเรื่องนี้จะต้องมีความร่วมมือกันของธุรกิจการเงินการธนาคารกับธุรกิจโทรคมนาคม การกำกับดูแลจะต้องระวังไม่ให้เกิดการทับซ้อนอันนำไปสู่อุปสรรคในการดำเนินการได้
ทั้งนี้ ทางสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศจะให้ความร่วมมือกับ กสทช. ในการนำผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์เข้ามาให้ความรู้ให้คำปรึกษาในการกำหนดนโยบายเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้จริง ซึ่งได้เคยดำเนินการที่ประสบความสำเร็จกับประเทศอื่นๆ มาแล้ว
นอกจากนี้ หัวข้อการหารืออื่นๆ เช่น การสร้างโปรแกรม Young Innovation เพื่อสนับสนุนเยาวชนให้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆบนโครงข่ายโทรคมนาคม หรือการสร้างนโยบายนวัตกรรม เพื่อให้มีผู้ประกอบรายใหม่ รายย่อย เพื่อต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่
หลังจากนั้น ประธาน กทค. ได้พบกับ Mr. Kemal HUSEINOVIC, Chief of Infrastructure, Enabling Environment and E-Applications (IEE) ของ ITU เพื่อหารือในการสร้างการเตรียมพร้อมการถูกโจมตีทางไซเบอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการโจมตีต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง (Critical Infrastructure) ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และเป็นวงกว้างต่อสังคม และเศรษฐกิจของประเทศ หากไม่มีการวางยุทธศาสตร์ในด้านนี้
โดยที่ผ่านมา ทางสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมายังประเทศไทยในการให้ความรู้สร้างความตระหนักถึงภัยไซเบอร์ ผ่านการสัมมนา และการสร้างแบบการจำลองสถานการณ์ต่อการโจมตีไซเบอร์ที่เข้าสู่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง โดยทั้งนี้ สองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าควรมีการเดินหน้าในเรื่องนี้ โดยจะมีโครงการในการประเมินความสามารถในการรับมือภัยไซเบอร์ของภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำมาเป็นข้อมูล ในการกระตุ้นเตือนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมมือกันในการรับมือต่อการโจมตีไซเบอร์ และมีการนำมาสร้างยุทธศาสตร์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับชาติต่อไป
Company Relate Link :
กสทช.