อีเอสอาร์ไอเผยทั่วโลกเริ่มใช้งาน GIS มากขึ้น และมีมากกว่า 3 แสนรายแล้วที่แชร์ข้อมูลระหว่างกัน เผยเมืองไทยเริ่มมีการใช้งานเพิ่ม และมีแนวโน้มที่จะลงทุนทางด้าน GIS มากขึ้น แต่ยังมีปัญหาด้านการเก็บข้อมูลที่เป็นไซโลทำให้ไม่เกิดการแชร์ระหว่างกัน เผยการดำเนินธุรกิจปีนี้เติบโตได้ดีสวนกระแสเศรษฐกิจ เพราะมีการนำมาใช้ในการทางโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจเพิ่มขึ้น พร้อมเปิดบริการใหม่ทั้ง Web GIS และโซลูชันที่หลากหลาย
นายแจ็ค แดนเจอร์มอนด์ (คนขวา) ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท อีเอสอาร์ไอ อิงค์ (สหรัฐอเมริกา) กล่าวว่า อีเอสอาร์ไอได้ทำการผลักดันการใช้งาน GIS หรือภูมิสารสนเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้งาน GIS หลักๆใน 3 หน่วยงานประ กอบด้วย 1.ราชการหรือรัฐวิสาหกิจ 2.ภาคธุรกิจหรือองค์กรใหญ่ๆ และ 3.กลุ่มเอ็นจีโอ และมีจำนวนประมาณ 3 แสน-4 แสนองค์กร ที่แชร์การใช้งานข้อมูล GIS ร่วมกันแล้ว
สำหรับในเมืองไทยปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐได้เริ่มมีการใช้งาน GIS กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำโซนนิงการเกษตร การจัดทำแนวเขตที่ดินแบบบูรณาการ ส่วนในภาคเอกชนนั้นได้มีการนำ GIS มาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีการลงทุนทางด้าน GIS ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านบุคลากร ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์มากขึ้น
โดยเมื่อเทียบสัดส่วนกันแล้วภาครัฐมีการใช้งาน GIS มากกว่า 70-80% ในขณะที่เอกชนอยู่ที่ประมาณ 20-30% แต่ก็เริ่มมีการใช้งานเพิ่มขึ้นในกลุ่มของธุรกิจขนาดใหญ่ อาทิ กลุ่มธนาคาร ที่นำมาใช้เรื่องหลักประกัน ลอจิสติกส์ การขนส่ง โดยเฉพาะการเปิดเออีซีที่จะมีการขนส่งมากขึ้น และกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภค ซึ่งปัจจุบันอีเอสอาร์ไอมีส่วนแบ่งการตลาด GIS อยู่ประมาณ 80%
นายแจ็ค กล่าวว่า GIS มีความพิเศษตรงที่ต้องนำข้อมูลหลายๆ ชั้นมาวิเคราะห์ เริ่มจากการรวบรวมข้อมูลจากหลายๆ แห่ง แล้วนำมาวิเคราะห์ และนำมาแบ่งปัน ซึ่งการจะใช้งาน GIS ที่มีประสิทธิภาพนั้นจะต้องมีเทคโนโลยีที่ดี มีผู้นำที่มีความมุ่งมั่น และต้องมีการวางแผนที่ดี ส่วนประโยชน์ที่เห็นได้ชัดคือ การช่วยค้นพบและค้นหาวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น การบริหารหรือใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัด มลภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือแม้แต่การประยุกต์ใช้สำหรับการช่วยเหลือผู้อพยพ
“UPS นำ GIS ไปใช้ในธุรกิจขนส่งสามารถช่วยประหยัดได้ถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ และ Bank of America นำมาใช้ในการหาตำแหน่งการเปิดตู้เอทีเอ็ม หรือเปิดสาขาที่จะสามารถให้บริการได้เหมาะกับพื้นที่ และประชากร หรือแม้แต่สตาร์บักส์ และไนกี้ เองก็ใช้ GIS ในการวิเคราะห์ว่าจะเปิดร้านสาขาที่ไหน และจะนำผลิตภัณฑ์แบบใดลงไปในกลุ่มลูกค้าที่มีความแตกต่างกัน”
ด้านนายไกรภพ เหลืองอุทัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันข้อมูลของ GIS ในเมืองไทยมีประสิทธิภาพดีขึ้น และมีหน่วยงานเอกชนหลายแห่งได้นำไปใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารในเมืองไทยนำไปใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฐานข้อมูลที่เอกชนเป็นผู้เก็บข้อมูล และในบางองค์กรเองก็เพิ่มข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าเข้าไปในฐานข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ทางธุรกิจเพิ่มเติมอีกด้วย
ปัญหาเรื่องการใช้งาน GIS ในเมืองไทยนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การยังไม่สามารถแชร์ข้อมูลระหว่างกันได้ เพราะยังเป็นไซโล และยังไม่ได้ทำเป็นระบบเปิดในข้อมูลที่จำเป็น ทำให้ยังไม่สามารถเข้าถึงกันได้ ซึ่งการทำดิจิตอลอีโคโนมีนั้นปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การนำข้อมูลต่างๆ แชร์ร่วมกันให้ได้ ประกอบกับปัจจุบันเทคโนโลยีของ GIS ไม่ใช่แค่การมองเรื่องภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมองไปเรื่องของการพัฒนาประเทศ และสังคมที่ดีขึ้น
“ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ภาครัฐต้องลงทุน ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้มีความต้องการใช้ GIS เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีกับอีเอสอาร์ไอ ทำให้ธุรกิจเติบโตทั้งผู้ใช้งาน และรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีเอกชนที่ทำการลงทุนด้านเทคโนโลยีในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีตลาดที่อีเอสอาร์ไอเข้าไปทำในเขมร ลาว พม่า เวียดนามก็เติบโตขึ้นด้วย”
สำหรับแผนธุรกิจในปี 2016 นั้น อีเอสอาร์ไอจะจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน ทำ Web GIS และ GIS แพลตฟอร์ม ทำ เอ็นเทอร์ไพร์ซ โซลูชัน โมบายแอป ต่อยอดจากวันแมปโปรเจกต์ ส่วนการให้บริการเอกชนนั้นเตรียมจัดทำโซลูชันสำหรับงานขาย และการตลาดอย่างเต็มรูปแบบ และมีการนำเสนอโซลูชันสำหรับการประเมินราคาหลักประกันสินทรัพย์
“เว็บ GIS เป็นคอนเซ็ปต์จะนำฐานข้อมูลต่างๆ ใส่ลงไปในเว็บ เพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ง่ายขึ้น เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล และสามารถนำไปทำแอปพลิเคชันได้ ซึ่ง อีเอสอาร์ไอ สามารถให้บริการได้ตามที่ลูกค้าต้องการ และคาดว่าจะสามารถขยายเข้าสู่ตลาดรีเทลได้มากขึ้น”
Company Related Link :
ESRI