xs
xsm
sm
md
lg

ทรู ชี้แจงบริษัทฯ ดำเนินการถูกต้องตามเงื่อนไขการรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รอฤกษ์รับใบอนุญาต - ธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการบริหาร ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรูฯ เข้าชำระเงินค่าประมูลงวดแรก จำนวน 50% เป็นเงินจำนวน 20,492.72ล้านบาท (ไม่รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ) พร้อมทั้งย้ำว่าเนื่องจากบริษัทเป็นคนไทยต้องดูฤกษ์ยาม ซึ่งทางบริษัทก็ได้แสดงเจตนารมณ์ให้เห็นแล้วว่ามีเงินชำระ และไม่ได้เป็นไปตามกระแสข่าวลือ ทั้งนี้เมื่อบริษัททำตามเงื่อนไขก็จะสามารถเปิดให้บริการ 4G อย่างเร็วที่สุดในขณะที่ 4Gก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ของบริษัททำมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีที่ยังไม่มีหนังสือหลักทรัพย์ค้ำประกันจากธนาคารงวดที่ 2 และงวดที่ 3 นั้น เนื่องจากต้องการดูฤกษ์ในการรับใบอนุญาตประกอบกิจการก่อนจึงจะนำเอกสารดังกล่าวมาให้กสทช.
ตามที่มีรายงานข่าวที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงหลายประเด็นเกี่ยวกับกรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 9/2558 เพื่อพิจารณาวาระสำคัญเรื่องบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทฯ จึงขอเรียนชี้แจงข้อมูลในประเด็นที่ถูกต้อง ดังนี้

1.รายงานข่าวที่ว่า บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ยังไม่จัดส่งหนังสือค้ำประกันให้แก่สำนักงาน กสทช. ถือว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตามประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz จึงคาดว่า กทค. ยังไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้

บริษัท ขอเรียนชี้แจงว่า “บริษัทได้ดำเนินการถูกต้องตามเงื่อนไขการรับใบอนุญาตของ กสทช. ซึ่งมีกำหนดเวลาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล คือ ต้องชำระภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นวันสุดท้าย อีกทั้งการที่บริษัท ได้ชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz งวดที่หนึ่งเป็นเงินสดในจำนวนร้อยละ 50 ของราคาที่ประมูลได้ตามเงื่อนไขการชำระเงินในบ่ายวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 20,492.72 ล้านบาท

ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการดำเนินการตามเงื่อนไขของ กสทช. อีกทั้งประเทศชาติจะได้นำเงินสดดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ โดยบริษัทมีเจตนาที่ไม่ส่งมอบหนังสือค้ำประกันในส่วนที่เหลือ เพราะจะทำให้เกิดการอนุมัติออกใบอนุญาตในทันที เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทไทยให้ความสำคัญต่อเรื่องฤกษ์ที่เหมาะสมในการรับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ เพื่อความก้าวหน้า และเจริญรุ่งเรืองในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ บริษัท ตระหนักดีว่าการขอรับใบอนุญาตจะต้องมีการจัดส่งหนังสือค้ำประกันให้แก่สำนักงาน กสทช. ซึ่งยังคงอยู่ในระยะเวลาที่กำหนดคือ 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล”

2.สำหรับประเด็นที่กล่าวว่า “เหตุผลที่ทรูมูฟกล่าวอ้างเพื่อขอให้ กทค. ยืดระยะวันสิ้นสุดการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวออกไปอีก ดูไร้น้ำหนักแทบจะสิ้นเชิง” อีกทั้งกล่าวว่า “บริษัทส่งหนังสือเข้ามาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ก่อนกำหนดวันสิ้นสุดการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว ก็ย่อมไม่อาจยับยั้ง “ซิมดับ” ได้ ต่อให้ กทค. เปลี่ยนแปลงมติก็ตาม”

บริษัทขอเรียนว่า “บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ได้ส่งหนังสือเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558 ให้ กทค. พิจารณาทบทวนคำสั่งสิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 MHz และที่ประชุมบอร์ด กทค.นัดพิเศษ ครั้งที่ 9/2558 บ่ายวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 ได้พิจารณาเหตุผลต่างๆ แล้วได้มีมติรับคำขอทบทวนของบริษัทไว้พิจารณา โดยให้รวบรวมข้อเท็จจริง และวิเคราะห์ผลกระทบเพิ่มเติมในประเด็นดังต่อไปนี้ 1.รัฐได้รับความเสียหายหรือไม่ 2.ประชาชนได้รับผลกระทบหรือไม่ 3.บริษัทที่ชนะการประมูลในคลื่นความถี่ดังกล่าวได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นหรือไม่ 4.บริษัทผู้ชนะการประมูลอีกรายได้รับผลกระทบหรือไม่ ดังนั้น การนำเสนอข่าวในประเด็นนี้จึงไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และไม่ตรงตามมติของที่ประชุมบอร์ด กทค. ด้วย”

บริษัทจึงขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงตามประเด็นต่างๆ ข้างต้น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ให้เกิดความสับสน หรือสร้างความตื่นตระหนกต่อผู้ใช้บริการ อันอาจมีผลกระทบต่อชื่อเสียง และความเชื่อมั่นในการให้บริการของบริษัทได้
กำลังโหลดความคิดเห็น