เอไอเอส เดินหน้าเปิดให้บริการ 4G หลังรับใบอนุญาตแล้ว ขณะที่ทรูขอดูฤกษ์นัดจ่ายแต่เงินค่าประมูลก่อนยังไม่วางหลักทรัพย์ค้ำประกัน สยบข่าวลือไม่มีเงินจ่าย
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.58 เวลา 8.30 น. สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดพิธีมอบใบอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และใบอนุญาตโทรคมนาคมประเภทที่ 3 ให้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส โดยมี พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. และ นายวิทิต ลีนุตพงษ์ ประธานกรรมการ เอไอเอส เป็นผู้รับมอบ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปภายหลังจากมอบใบอนุญาตให้แก่ทางผู้ประกอบการแล้ว ทางผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องเสนอแผนการขออนุญาตนำเข้า และติดตั้งอุปกรณ์สถานีฐานต่างๆ มายัง กสทช.ซึ่งทาง กสทช.จะรีบดำเนินการอนุมัติในเรื่องดังกล่าวให้โดยเร็วที่สุด โดยในส่วนของ กสทช. ขั้นตอนต่อจากนี้จะทำหนังสือไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อขอข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับกลุ่มคนด้อยโอกาส และผู้มีรายได้น้อย เพื่อจัดทำฐานข้อมูลขอกลุ่มดังกล่าวว่ามีจำนวนเท่าใด ก่อนส่งให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจัดทำแพกเกจพิเศษให้แก่กลุ่มดังกล่าวตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต
ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า ภายหลังจากที่ทางเอไอเอสได้รับอนุญาต เอไอเอสจะนำเรื่องเข้าประชุมคณะกรรมการบริษัท ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ เพื่อกำหนดจำนวนเงินที่ใช้ในการลงทุนโครงข่ายของคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และกำหนดวันเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นภายในปีนี้หรือไม่ จากนั้นต้องแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อีกทั้งหลังจากนั้น จะมีการหารือกับทางฝ่ายวิศวกรรม เพื่อกำหนดพื้นที่ในการวางโครงข่าย และส่งหนังสือขอนำเข้าอุปกรณ์ติดตั้งโครงข่ายตามลำดับ โดยเบื้องต้น ในการลงทุนโครงข่ายคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz อาจจะลงทุนไม่สูงเท่ากับ 3G บนคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz เนื่องจากคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz สามารถใช้เสาสัญสัญญาณ และไฟเบอร์ออปติกเดียวกันกับคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ได้ ดังนั้น สิ่งที่ลงทุนเพิ่มจึงมีเพียงอุปกรณ์เพิ่มเติมสำหรับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เท่านั้น
ส่วนกรณีที่ กสทช. ได้มีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องจัดทำแพกเกจพิเศษสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ทางเอไอเอสยินดีอย่างยิ่งในการปฏิบัติตาม ทั้งนี้ การดำเนินการแพกเกจพิเศษให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ปัจจุบันเอไอเอสมีการดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว แต่การที่ กสทช. ออกกติกามากำชับจะทำให้การออกแพกเกจดังกล่าวมีการกระจายเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น
สำหรับการจ่ายเงินค่าประมูลของบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์เซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น นายฐากร กล่าวว่า เมื่อเวลา 10.30 น. นายธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ ผู้อำนวยการบริหาร ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ในฐานะตัวแทนบริษัทได้เข้ามาเจรจากับ กสทช.เพื่อนัดมาชำระเงินค่าประมูล 50% ก่อนในวันเดียวกัน (25 พ.ย.) เวลา 16.00 น.ด้วยตนเอง แต่ยังไม่มีหนังสือหลักทรัพย์ค้ำประกันจากธนาคารในส่วนที่เหลือ เนื่องจากทางทรู แจ้งว่า ต้องการดูฤกษ์ในการรับใบอนุญาตประกอบกิจการก่อนจึงจะนำเอกสารดังกล่าวมาให้ เพื่อให้ กสทช.นำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และอนุมัติให้มารับในฤกษ์ที่ต้องการพอดีกัน แต่การมาจ่ายเฉพาะเช็คเงินสดก่อนนั้นเพื่อเป็นการยืนยันว่าบริษัทมีเงินจ่าย ไม่ได้เป็นไปตามกระแสข่าวลือที่ว่าไม่มีเงินจ่าย จนทำให้หุ้นตกลงแต่อย่างใด
นายธิติฏฐ์ กล่าวว่า ทรูฯ ชนะการประมูลในราคา 39,792 ล้านบาท และได้ เข้ามาชำระเงินประมูลงวดแรก จำนวน 50% เป็นเงินจำนวน20,492,720,000 ล้านบาท (ไม่รวมค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม )
การชำระในวันนี้(25 พ.ย.)นั้นเนื่องจากบริษัทเป็นคนไทยต้องดูฤกษ์ยาม ซึ่งทางบริษัทก็ได้แสดงเจตนารมณ์ให้เห็นแล้วว่ามีเงินชำระ และไม่ได้เป็นไปตามกระแสข่าวลือ ทั้งนี้เมื่อบริษัททำตามเงื่อนไขก็จะสามารถเปิดให้บริการ 4 จีอย่างเร็วที่สุดในขณะที่ 4 จี ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ของบริษัททำมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีที่ยังไม่มีหนังสือหลักทรัพย์ค้ำประกันจากธนาคารงวดที่ 2 และงวดที่ 3 นั้น เนื่องจากต้องการดูฤกษ์ในการรับใบอนุญาตประกอบกิจการก่อนจึงจะนำเอกสารดังกล่าวมาให้