โอ้โหบายปูนิ่ม ร้องทุกข์หลังโดนมิจฉาชีพออนไลน์ปลอมเพจเฟซบุ๊กดึงเงินลูกค้าหายไปเดือนละกว่า 10 ล้านบาท ชี้กลโกงดังกล่าวส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าออนไลน์ และชื่อเสียงของบริษัท แนะลูกค้าให้ไปแจ้งความเพื่อนำใบแจ้งความมารับสินค้า ก่อนที่บริษัทจะรวบรวมเป็นหลักฐานส่งให้ตำรวจฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีต่อไป
นายธนคินทร์ ศิริดุสิตวงศ์ กรรมการผู้จัดการส่วนการตลาด บริษัท โอ้โห บายปูนิ่ม จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทพบว่ามีมิจฉาชีพออนไลน์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก และสร้างความเสียหายให้แก่บริษัทเดือนละประมาณ 10 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มักจะปลอมเพจเฟซบุ๊กของโอ้โห แล้วหลอกให้ลูกค้าโอนเงินเข้าไป แต่สุดท้ายลูกค้าก็ไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่ง ซึ่งขณะนี้ ทางบริษัทกำลังหาทางดำเนินการทางด้านกฎหมายต่อกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวอยู่
ในปีที่ผ่านมา โอ้โหมีรายได้ประมาณ 700 ล้านบาท ส่วนในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มขึ้นของมิจฉาชีพออนไลน์ดังกล่าวส่งผลกระทบให้แก่ธุรกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบัน โอ้โหขายสินค้าออนไลน์ และส่งให้ลูกค้ามากกว่าวันละ 3,000 ราย การหลอกลวงดังกล่าวมีผลต่อความเชื่อมั่น และทำให้ลูกค้าไม่กล้าซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้
“สำหรับลูกค้าที่โดนหลอกลวงนั้นทางบริษัทจะให้นำหลักฐานไปแจ้งความต่อตำรวจ จากนั้นให้นำใบแจ้งความมาให้แก่ทางบริษัท ซึ่งบริษัทจะได้ชดใช้เป็นสินค้าตามจำนวนที่ลูกค้าสั่งมา แต่ทั้งนี้ ยังมีลูกค้าอีกหลายรายที่ไม่ไปแจ้งความเนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินที่สั่งไม่มากเท่าไร ทำให้ขณะนี้ยังไม่สามารถเอาผิดต่อผู้กระทำผิดได้ เนื่องจากต้องได้รับหลักฐานจากผู้เสียหายโดยตรง ก่อนที่บริษัทจะรวบรวมเป็นหลักฐานไปเอาผิดต่อผู้กระทำผิดต่อไป”
นายธนคินทร์ กล่าวว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่โดนหลอกลวงมักจะเป็นลูกค้าต่างจังหวัด ซึ่งเป็นลูกค้าส่วนใหญ่ของโอ้โห เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้ยังขาดความรู้ และความเข้าใจในเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินที่ชัดเจน ปัจจุบันโอ้โหมีฐานลูกค้าประมาณ 1 ล้านราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็นลูกค้าต่างจังหวัด 80% และลูกค้าในกรุงเทพฯ 20% โดยมีการซื้อโฆษณาผ่านทางเฟซบุ๊กปีละประมาณ 60 ล้านบาท
สำหรับการป้องกันการหลอกลวงนั้น ลูกค้าควรจะต้องมีการตรวจสอบให้ละเอียดว่าจะต้องโอนเงินเข้าบริษัท หรือพนักงานขาย และอย่าโอนเงินโดยไม่เห็นชื่อบัญชี เพราะจะไม่รู้ว่าปลายทางที่โอนไปนั้นเข้าบัญชีถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีวิธีใหม่ด้วยการติดต่อโดยตรงผ่านทางกล่องข้อความเพื่อขายสินค้า และให้โอนเงินให้ ซึ่งลูกค้าควรจะต้องระมัดระวัง และทำตามคำแนะนำของทางบริษัทอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การสั่งสินค้านั้นได้รับสินค้าอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ผลการศึกษาจาก PayPal พบว่า ปัจจุบันการซื้อขายออนไลน์ของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 14.7 พันล้านบาท มียอดค่าใช้จ่ายเงินเฉลี่ยต่อคนถึง 13,181 บาท และ 71% ของยอดรวมซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมดมาจากกลุ่มคนที่มีรายได้ในระดับปานกลาง