xs
xsm
sm
md
lg

Digital Economy ล่ม!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
“สิทธิชัย” ชี้นโยบาย Digital Economy ล่มแน่ หลังปรับ ครม. ชี้ทีมบอร์ดดีอีชั่วคราวหมดใจทำงาน และไม่มั่นใจว่านโยบายจะถูกขับเคลื่อนต่อหรือไม่ เหตุ กม.ขับเคลื่อน Digital Economy ถูกดองอยู่สำนักนายกฯ ทุกโปรเจกต์ถูกพับ คาดกระทรวงดีอีไม่เกิดแน่นอน

นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้เชื่อว่าจะกระทบต่อนโยบาย Digital Economy ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจมีนโยบายไว้อย่างแน่นอน โดยคณะทำงานเตรียมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) ที่ตั้งขึ้นมาชั่วคราวระหว่างรอร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมผ่าน และมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นประธานนั้นคงไม่มีการประชุมอีกต่อไป และมั่นใจว่าทีมบอร์ดดีอีชั่วคราวจะออกกันหมด เพราะไม่มั่นใจว่าการทำงานตามนโยบายเดิมจะเป็นแนวคิดที่ถูกใจ และเป็นไปในแนวทางเดียวกับ ครม.ชุดใหม่หรือไม่

สำหรับเหตุผลที่สนับสนุนให้ตนเองคิดเช่นนั้นเพราะว่าเรื่องการพิจารณากฎหมายในการขับเคลื่อนนโยบาย Digital Economy กลับถูกดองไว้ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามกระบวนการที่ควรจะเป็น รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนชื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เป็นกระทรวงใหม่ให้สอดรับต่อนโยบายดังกล่าวก็คงไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่นโยบาย Digital Economy กำหนดให้เกิดโครงการต่างๆ ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 5 คณะทำงาน คือ 1.คณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ 2.คณะทำงานศูนย์ข้อมูลในประเทศ (Data Center) 3.คณะทำงานด้านการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิตอล การส่งเสริมธุรกิจดิจิตอลเกิดใหม่ และการส่งเสริมเนื้อหาดิจิตอล 4.คณะทำงานการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และ 5.คณะทำงานติดตามกฎหมายเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้สอดคล้องต่อการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจ และสังคมดิจิตอลของประเทศไทยก็คงไม่เกิดขึ้น

“โครงการต่างๆ ที่พวกเราอุตส่าห์ตั้งใจทำกันมา มันคงไม่เกิด น่าเสียดาย อย่างการนำเสาโทรคมนาคมลงดิน ซึ่งต้องมีความคืบหน้าก็เงียบหายไป ทำให้มั่นใจได้เลยว่าโครงการอื่นๆ คงไม่เกิด ทั้งโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติ หรือโครงการดาต้า เซ็นเตอร์แห่งชาติ คนที่เป็นบอร์ดดีอีชั่วคราวก็หมดแรงทำงาน เพราะไม่มั่นใจว่าเขาจะเอาเราไหม จะแต่งตั้งเราไหม หรือถ้าเอาแล้วเขาจะฟังเราหรือไม่ อย่างรัฐมนตรีไอซีทีถูกปรับออกผมก็แปลกใจมาก เพราะตอนแรก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร แกต้องการให้อยู่ต่อเพื่อสานต่อนโยบาย คุยกับท่านนายกฯ ให้แล้ว ท่านทำงานได้ดีมาก กระทรวงใหม่ก็ยังไม่คืบ มันคงไม่เกิดแล้ว แผนแม่บทไอซีทีที่จะทำให้สอดคล้องต่อนโยบาย Digital Economy เขาก็คงไม่เอา”

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ได้เตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Digital Economy ตามนโยบายรัฐบาล ด้วยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ กลุ่มกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ได้แก่ กฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม กฎหมายการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้รวมกฎหมาย 3 ฉบับไว้ในฉบับเดียวกัน คือ กฎหมายการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล และกฎหมายกองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ได้แก่ กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้มีการแยก พ.ร.บ.เป็น 2 ฉบับ คือ กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และกฎหมายจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ.กสทช.) และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มกฎหมายด้านความมั่นคง ได้แก่ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งตามกำหนดการเดิมต้องเสร็จภายในเดือน พ.ค.แต่ก็ถูกเลื่อนมาโดยตลอด ขณะที่กำหนดการเดิมของการปรับเปลี่ยนกระทรวงใหม่ต้องเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

นอกจากนี้ นายพรชัย ยังได้เตรียมจัดทำแผนแม่บทดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปี 59-63 เพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว และเป็นแผนแม่บทให้กระทรวงอื่นๆ นำไปใช้ อีกทั้งได้เตรียมโครงการ 21 โครงการ ในการขับเคลื่อนกระทรวงดีอีที่จะเกิดขึ้นใหม่ด้วย ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่

ทั้งนี้ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงไอซีที ได้จัดทำทั้ง 21 โครงการดังกล่าว โดยแบ่งตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ทั้ง 5 ด้าน คือ 1.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1.แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล ประกอบด้วย โครงการย่อย 2 โครงการ คือ การพัฒนาและบริหารจัดการโครงข่ายหลักเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศ และการจัดตั้งศูนย์รวมนวัตกรรมและศูนย์ข้อมูล 2.การพัฒนาอินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ (National Single Internet Gateway) 3.การพัฒนาดาวเทียมสื่อสารภาครัฐ และ 4.การพัฒนาระบบการสื่อสารในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต

2.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐาน จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1.การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2.การพัฒนาศักยภาพการป้องกัน ปราบปรามการกระทำความผิดทางอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (Cyber Crime) และสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ (Cyber Security) โดยการจัดตั้งหน่วยงานด้านบริหารจัดการป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 3.การสนับสนุนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลอย่างมั่นคงปลอดภัย 4.การพัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ 5.การส่งเสริมความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

3.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการ จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อเป็นบริการกลางให้แก่หน่วยงานภาครัฐ โดยการให้บริการซอฟต์แวร์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 2.ศูนย์กลางบริการภาครัฐ 3.การเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิตอล 4.การพัฒนาระบบความปลอดภัยสาธารณะ 5.การจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางของประเทศ 6.การพัฒนาระบบลอจิสติกส์ 7.การพัฒนากิจการไปรษณีย์ และ 8.การพัฒนาประสิทธิภาพการอุตุนิยมวิทยาและการเตือนภัยเพื่อสนับสนุนการบริการภาครัฐ และเอกชนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

4.ด้านการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิตอลมี จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1.การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดิจิตอล 2.การพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรสำหรับหน่วยงานภาครัฐ และ 3.การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลและนวัตกรรม และสุดท้าย คือ 5.ด้านการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากดิจิตอล จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ การส่งเสริม และพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลชุมชน
กำลังโหลดความคิดเห็น