xs
xsm
sm
md
lg

“สมเกียรติ” ข้องใจเงื่อนไขประมูล 4G

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)
ประธานทีดีอาร์ไอ ชี้ ราคาเริ่มต้นประมูล คลื่น 1800 MHz ต่ำเกินไปเปิดช่องฮั้ว แนะเร่งเคลียร์ปัญหากับ กสท โทรคมนาคม และ ทีโอที ให้ชัด หวั่นถูกล้มประมูล

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ภายหลังที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติให้นำร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นหรือประชาพิจารณ์นั้น ตนเองไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศฯ ดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก การกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลที่ 13,920 ล้านบาทต่อใบอนุญาต มีราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจาก กสทช. ได้ยึดผลการศึกษามูลค่าคลื่นความถี่ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ที่ศึกษาไว้ในปี 57 สำหรับอายุใบอนุญาต 15 ปี แต่ กสทช. กลับให้อายุใบอนุญาต 19 ปี ซึ่งจากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอเองก็พบว่า ไม่ว่าราคาตั้งต้นการประมูลจะสูงหรือต่ำ ประชาชนที่ใช้งานก็จะยังคงต้องใช้ในราคาเดิม เพียงแต่ราคาประมูลสูงหรือต่ำเป็นการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชนว่า ใครจะได้มากน้อยกว่ากันเท่านั้น

ประเด็นที่สองในการที่ กสทช. จัดให้มีการเสนอราคาการประมูลพร้อมกันทั้ง 2 ย่าน ความถี่ในวันที่ 11 พ.ย.แบ่งเป็นคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ในช่วงเช้า และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ในช่วงบ่ายโดยทั้ง 2 ย่านความถี่ดังกล่าวเมื่อนำมารวมกันแล้วจะมีจำนวนใบอนุญาตทั้งสิ้น 4 ใบอนุญาต ในกรณีนี้หากมีผู้เข้าประมูลเพียง 3 ราย หรือมีรายที่ 4 แต่รายที่ 4 ไม่ได้เข้มแข็งด้านการเงินพอที่จะสู้กับรายอื่นๆ ได้ การประมูลลักษณะนี้ก็จะเข้าข่ายเปิดช่องให้เกิดการสมยอมราคา หรือฮั้วประมูลระหว่างผู้ประกอบการได้

กรณีดังกล่าว หากในช่วงเช้ามีผู้ประกอบการ 2 ราย ประมูล ได้มาคนละ 1 ใบอนุญาต ช่วงบ่ายผู้ประกอบการในรายที่ไม่ต้องการเอาใบอนุญาตเพิ่ม ก็เป็นไปได้ว่าจะเข้าไปร่วมการเคาะราคาเพื่อช่วยผู้ประกอบการที่เหลือให้มีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่าจำนวนใบอนุญาต เพื่อที่ กสทช. จะได้ไม่ต้องเพิ่มราคาตั้งต้นการประมูล จากเดิมที่กำหนดไว้ 70% ของมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริง ให้ขึ้นไปเป็น 100% ของมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริง ในกรณีที่มีผู้เข้าประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต ฉะนั้นจึงควรเลื่อนเวลาการประมูลคลื่นความถี่อีกย่านหนึ่งออกไป 2-3 เดือน เพื่อปิดช่องว่างการทุจริตดังกล่าว

ประเด็นสุดท้าย คือ การที่ กสทช. กำหนดให้ผู้ที่ชนะการประมูลต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของการเข้าถึงของประชากรในประเทศภายใน 4 ปี และหลังจากนั้นจะไม่มีการบังคับเพิ่มเติม ถือว่าต่ำเกินไป ฉะนั้นจึงอยากให้มีการบังคับการขยายโครงข่ายเช่นเดียวกับคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz หรือ 3G ที่กำหนดให้ขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ภายใน 2 ปีแรก และ 80% ภายใน 4 ปี ซึ่งประโยชน์จากการที่โครงข่ายขยายไปได้เร็ว คือ การที่ผู้ให้บริการจะมีการแข่งขันในเรื่องของคุณภาพการให้บริการ และราคาเครื่องรับ เช่น สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ที่รองรับ 4G จะมีราคาถูกลง

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังต้องการให้ กสทช. เร่งเจรจากับ 2 รัฐวิสาหกิจ ทั้ง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างความกระจ่างในเรื่องสิทธิการใช้งานคลื่นความถี่ และหาทางออกร่วมกัน ในการที่ กสทช. นำคลื่นความถี่ของทั้ง 2 หน่วยงานหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานมาประมูล เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงอันจะนำไปสู่การฟ้องร้องกัน และอาจจะมีผลทำให้การประมูลเลื่อนออกไปได้ เพราะหากการประมูลต้องเลื่อนออกไปประชาชนก็จะเสียประโยชน์จากการมี 4G ใช้ช้าลงอีก ขณะที่รัฐบาลเองก็จะยากลำบากมากขึ้นในการขับเคลื่อนนโยบาย Digital Economy เพราะหัวใจหลักในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบัน คือ การเชื่อมต่อแบบไร้สายผ่านสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต เป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น