ส่องเทรนด์ 4G LTEเมื่อโอเปอเรเตอร์พร้อมให้บริการ ลูกค้าพร้อมใช้งาน และ กสทช.เปิดประมูลคลื่นความถี่เพื่อนำมาให้บริการ 4G LTE โดยทางหัวเว่ย หนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการโครงข่ายแก่โอเปอเรเตอร์ได้มีการเปิดเผยถึง 5 ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการใช้งาน LTE
นายวรกาน ลิขิตเดชาศักดิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายเนทเวิร์คโซลูชัน บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (ยืนคนที่ 2 จากซ้าย) กล่าวถึงแนวโน้มการใช้งานอุปกรณ์เชื่อมต่อที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุค LTE เนื่องมาจากปัจจัยหลัก 5 ส่วนด้วยกัน ซึ่งถือเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการให้บริการ LTE ก่อนที่จะก้าวเป็น LTE-A (LTE Advance) จนถึง 4.5G และ 5G ในอนาคต
“สิ่งที่จะเห็นต่อไปในระยะเวลาอันใกล้นี้คือ รูปแบบการเชื่อมต่อจะมีหลากหลายมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่เห็นเป็นการเชื่อมต่อระหว่างบุคคลเป็นหลัก กลายเป็นการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องจักรมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทคาร์ หรือรถไร้คนขับ ระบบสมาร์ทโฮม รวมถึงอุปกรณ์อย่าง Wearable Device ที่เป็นการเชื่อมต่อระหว่างสมาร์ทโฟนกับอุปกรณ์สวมใส่อื่นๆ”
ดังจะเห็นได้จากการพกพาอุปกรณ์ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อได้ มากกว่า 3 ชิ้น ยกตัวอย่างเช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก และอุปกรณ์สวมใส่อื่นๆ ซึ่งการเชื่อมต่อเหล่านี้จะเข้ามาช่วยผลักดันให้เข้าสู่ยุคของการเชื่อมต่อบนเทคโนโลยี 4G LTE
***ผู้บริโภคเปลี่ยนเครื่องรับ 4G แน่ถ้าเครือข่ายพร้อม
ด้วยราคาสมาร์ทโฟนที่ปัจจุบันลงมาอยู่ในระดับ 2,000-3,000 บาท กลายเป็นอุปกรณ์เริ่มต้นในการเข้าถึงการเชื่อมต่อ จนสร้างความคุ้นเคยต่อผู้บริโภคในการใช้งาน เมื่อมีการอัปเดตเทคโนโลยีกลายเป็น 4G ผู้ใช้กลุ่มนี้ก็จะมองเห็นถึงประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้น และเลือกอัปเกรดสมาร์ทโฟนให้รองรับการเชื่อมต่อ 4G ในท้ายที่สุด
ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนเดิมที่มีเครื่องที่รองรับ 4G อยู่แล้วก็จะมีการใช้งานดาต้าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการเติบโตของบริการนอนวอยซ์ให้แก่ผู้ให้บริการเครือข่าย และกลายเป็นรายได้หลักต่อไปในอนาคต
อย่างในประเทศจีน มีการคาดการณ์ว่าในสิ้นปีนี้จะมีปริมาณผู้ใช้งานเครื่องที่รองรับ 4G กว่า 450 ล้านเครื่อง จากผู้ให้บริการเครือข่ายหลักทั้ง 3 ราย ที่จะมีสถานีฐาน 4G ทั้งหมด 2 ล้านสถานีฐานครอบคลุมทั่วประเทศจีน
“เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน สัดส่วนการซื้อสมาร์ทโฟนระหว่าง 3G และ 4G ก็เปลี่ยนด้วยเช่นเดียวกัน โดยในปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวจีนเลือกซื้อสมาร์ทโฟนที่รองรับ 4G ราว 18.8 ล้านเครื่องเท่านั้น ในขณะที่เครื่องรองรับ 3G สูงถึง 108.6 ล้านเครื่อง แต่ในปีนี้คาดการณ์ว่า จะมีผู้บริโภคซื้อเครื่องรับ 3G เพียง 11.4 ล้านเครื่อง และอีก 124 ล้านเครื่องเลือกสมาร์ทโฟนที่รองรับ 4G ถือเป็นสัดส่วนกว่า 90%”
***คอนเทนต์วิดีโอ เติบโตแน่นอน
จุดต่อมาคือ เรื่องของการเสพคอนเทนต์จากการอ่านเป็นการรับชมวิดีโอที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนมายิ่งขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสามารถเข้าถึงวิดีโอความละเอียดสูงผ่านอุปกรณ์พกพาได้รวดเร็วขึ้นจากความเร็วของ 4G ทำให้เลือกที่จะรับคอนเทนต์ที่สะดวกเพื่อตอบการใช้งานของไลฟ์สไตล์
“จะเห็นว่าต่อไปพฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว คือ ไม่ต้องรีบกลับบ้านไปดูละครหลังข่าว เพราะมีช่องทางในการติดตามละครย้อนหลังผ่านยูทิวบ์ หรือเว็บไซต์อื่นๆ ที่สำคัญคือการที่สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ยิ่งทำให้เกิดการใช้งานที่ต่อเนื่องตามมา”
ในมุมของผู้ให้บริการ เมื่อผู้บริโภคหันมารับชมวิดีโอผ่านอุปกรณ์พกพามากยิ่งขึ้นก็ยิ่งช่วยเพิ่มปริมาณการใช้งานดาต้าของเครือข่ายที่จะสร้างเป็นรายได้ให้แก่ผู้ให้บริการต่อไป เนื่องจากในอนาคตบริการเหล่านี้จะกลายเป็นรายได้สำคัญของผู้ให้บริการ
***VoLTE ต้องมาเมื่อใช้ 4G
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่เทคโนโลยี 4G LTE ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ใช้งานเสียง (วอยซ์) แต่ถูกพัฒนามาใช้สำหรับการรับ-ส่งข้อมูลเพียงอย่างเดียว ทำให้ผู้ให้บริการจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมในการนำเทคโนโลยีอย่าง VoLTE มาใช้งานควบคู่กันไปในอนาคต
“ปัจจุบันถ้าสมาร์ทโฟนเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่านระบบเครือข่าย เมื่อมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตจะใช้การเชื่อมต่อบน 4G แต่ถ้ามีการใช้สายโทรศัพท์ระบบจะสลับกลับไปใช้งานบน 3G แทน เนื่องจากเครือข่าย 4G ไม่ได้รองรับการโทรศัพท์ ดังนั้น ในอนาคตถ้ามีการเปิดใช้งาน VoLTE ก็จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้”
โดยปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนที่รองรับการใช้งาน VoLTE มากกว่า 186 รุ่นในท้องตลาด ในขณะที่มีผู้ให้บริการเครือข่ายที่เปิดใช้บริการ VoLTE แล้วทั่วโลก 16 ราย และอีกกว่า 100 เครือข่ายที่มีแผนจะเปิดให้บริการในอนาคต
***คลื่นความถี่สำคัญสุด
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือคงหนีไม่พ้นในแง่ของคลื่นความถี่ เนื่องมาจากต้องมีคลื่นความถี่ที่เหมาะสมไว้ให้บริการ ดังนั้น เทคโนโลยี 4G จึงถูกพัฒนามาให้รองรับการใช้งานหลายย่านความถี่ ไม่เหมือนสมัย 2G หรือ 3G ที่สามารถใช้งานได้บนคลื่นจำกัด
โดยคลื่นที่ได้รับความนิยมในการให้บริการ 4G LTE มากที่สุดในปัจจุบันคือ 1800 MHz โดยมี 176 เครือข่ายทั่วโลกใช้งาน ถัดมาเป็น 2600 MHz จำนวน 97 เครือข่าย อย่างไรก็ตาม ถ้าในอนาคตมีคลื่นความถี่อื่นที่ว่างเข้ามาก็จะมีเทคโนโลยีที่รวบรวมความถี่จากหลายย่านมาใช้ร่วมกัน เพื่อให้โอเปอเรเตอร์สามารถนำคลื่นมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายพชรธรรม์ พลอัครวัตน์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายโซลูชันไร้สาย หัวเว่ย (ยืนคนที่ 1 จากซ้าย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการให้บริการ 4G LTE ก็จะมีแบ่งออกเป็นหลายช่วง โดยเริ่มต้นจากระบบ LTE มาตรฐานที่จะให้ความเร็วในการเชื่อมต่อประมาณ 100 Mbps ภายใต้การใช้งานบนแบนด์วิธเดียว แต่ด้วยข้อจำกัดของปริมาณคลื่นความถี่ ทำให้ปัจจุบันหลายๆ โอเปอเรเตอร์ต้องนำคลื่นความถี่ที่หลากหลายมาให้บริการร่วมกัน
จุดเด่นของคลื่นความถี่ต่ำ (คลื่นที่ต่ำกว่า 1000 MHz) จะส่งสัญญาณได้ไกลทำให้พื้นที่ให้บริการครอบคลุม เหมาะต่อการนำมาใช้งาน VoLTE การให้บริการภายในตึก และ IoT ขณะที่คลื่นความถี่สูง (สูงกว่า 1000 MHz) จะเหมาะต่อการนำไปให้บริการด้านการเชื่อมต่อข้อมูลความเร็วสูง โดยเฉพาะการรับชมวิดีโอความละเอียดสูง รวมถึงการออฟโหลดลูกค้าที่ใช้งานดาต้าบน 3G มาใช้งาน 4G แทน
“ท้ายที่สุดโอเปอเรเตอร์ก็ต้องมีการใช้งานคลื่นความถี่ทั้งสูง และต่ำพร้อมกันเพื่อนำมาให้บริการได้ครอบคลุม ภายใต้เทคโนโลยี LTE-A ในการนำคลื่นความถี่ที่มีทั้งหมดมารวมกันเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า”
เมื่อเกิดการประมูลคลื่นความถี่แล้ว โอเปอเรเตอร์ที่เคยลงทุนเครือข่าย 4G LTE ไว้แล้วก็สามารถอัปเกรดซอฟต์แวร์ให้รองรับการใช้งาน LTE-A ได้ทันที เพื่อให้ประสิทธิภาพในการใช้งานสูงยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้มีเครื่องที่รองรับการใช้งาน LTE-A ก็จะไม่ได้รับประสิทธิภาพในส่วนที่เพิ่มขึ้น เพราะตัวเครื่องรองรับการเชื่อมต่อกับคลื่นความถี่เดียว
หลังจาก LTE-A ก็จะมีเทคโนโลยีอย่าง 4.5G ที่จะเพิ่มในส่วนของความเร็วในการเชื่อมต่อจะลดลงมาอยู่ที่ 0.01 วินาที รองรับ 3 หมื่นล้านการเชื่อมต่อ รวมไปถึงการนำคลื่นความถี่ที่ไม่ต้องขออนุญาตมาร่วมให้บริการด้วย (การใช้งาน 4G ร่วมกับ WiFI ในชื่อ LTE-U) ให้ได้ประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อสูงขึ้น ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นเทคโนโลยี 5G
นายวรกาน ให้ข้อมูลต่อว่า ในตลาดการให้บริการ LTE ในปัจจุบัน ผู้ที่มีคลื่นความถี่สูงที่สุดในตลาดจะอยู่ที่ราว 80-90 MHz เท่านั้นก็เพียงพอต่อการให้บริการแล้ว แต่ถ้าในอนาคตเมื่อผู้บริโภคมีความต้องการในการเชื่อมต่อความเร็วสูงมากยิ่งขึ้น ก็จำเป็นต้องหาทางนำคลื่นความถี่ทั้งหลายมารวมกันเพื่อใช้งาน
“เชื่อว่าการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ที่ถูกจำกัดไว้จะหายไปในอนาคต เพราะปัจจุบันมีการกำหนดไว้เพื่อให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรม ไม่ให้เครือข่ายที่มีเงินลงทุนได้ความถี่มากกว่าเพราะจะสามารถครองตลาดได้ ดังนั้น ถ้ามีความต้องการมากขึ้นผู้กำกับดูแลก็จะมีการเปลี่ยนแปลงการถือครองให้เหมาะสมต่อไป”
***วิน-วิน โอเปอเรเตอร์-ลูกค้า
ในฝั่งของผู้ให้บริการเมื่อลูกค้าหันมาใช้งานเครือข่าย LTE มากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนของลูกค้าให้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากเมื่อมีความเร็วในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูง พฤติกรรมการใช้งานก็จะมีการเสพติดอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีการใช้งานเพิ่มขึ้นตามมา
“ในการให้บริการของไชน่าโมบายจะมีกลุ่มลูกค้าที่มีค่าบริการต่อเดือนราว 800-1,000 บาท ประมาณ 20-30% แต่เมื่อมีการใช้งาน LTE ลูกค้าในกลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในขณะที่สัดส่วนของลูกค้าในกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 45-50% จากการที่ผู้บริโภคหันมาใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสมาร์ทโฟนมากยิ่งขึ้น”
ส่วนในมุมของคอนซูเมอร์ เมื่อมีการให้บริการ LTE เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน การใช้ชีวิตก็จะมีความเป็นดิจิตอลมากยิ่งขึ้นจากอุปกรณ์ IoT ที่จะทยอยเข้ามาในท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นบ้านอัจฉริยะ ที่ผู้ใช้สามารถควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านได้จากสมาร์ทโฟน
Company Related Link :
หัวเว่ย