SIPA แนะรัฐตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษซอฟต์แวร์ พร้อมกำหนดกฎหมาย และระบบการจัดการแบบพิเศษขึ้นมาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง หลังพบที่ผ่านมายังไปไม่ถึงไหนเพราะข้อจำกัดเยอะ ชี้อีก 2 เรื่องที่ควรทำคือ การสนับสนุนซอฟต์แวร์ในกลุ่ม IOT และการสนับสนุนซอฟต์แวร์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยไม่จำเป็นต้องกลัวว่าเมื่อสนับสนุนแล้วบางตัวอาจไม่ประสบความสำเร็จ
นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA กล่าวว่า SIPA ได้เสนอ 3 เรื่องให้แก่ภาครัฐนำไปพิจารณา โดยเรื่องที่สำคัญคือ 1.การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษซอฟต์แวร์ โดยมีลักษณะเดียวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ที่จะต้องมีกฎหมาย และการจัดการพิเศษขึ้นมาเพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาพบว่า ยังมีข้อกำหนด และกฎหมายบางอย่างที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการที่ธุรกิจซอฟต์แวร์ของไทยยังไม่สามารถสร้างการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างแท้จริงนั้น เพราะยังมีเรื่องของกฎระเบียบต่างๆ ที่ซับซ้อน และไม่ทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้ไม่ก่อให้เกิดบรรยากาศของการลงทุน ซึ่งการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติแล้ว ยังถือเป็นการรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพให้ทำงานอยู่ในประเทศ ไม่เกิดการสมองไหลอีกด้วย
“ทั้งนี้ก ารจะส่งเสริมให้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษซอฟต์แวร์นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยทั้งกระบวนการ เป็นการปรับเปลี่ยนแบบก้าวกระโดด และถือเป็นหน้าที่ใหม่ของ SIPA ที่จะเข้าไปอยู่ในโครงสร้างใหม่ในกระทรวงเศรษฐกิจดิจิตอล หรือ DE ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนจากเดิมที่เคยเน้นการสนับสนุนด้านซอฟต์แวร์ มาเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานซอฟต์แวร์ และดิจิตอลแทน”
นายฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับเรื่องที่ 2 นั้น รัฐจะต้องทำการสนับสนุนผู้ผลิตซอฟต์แวร์ในกลุ่ม IOT (Internet of Thing) ที่จะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังจะมาในอนาคตอันใกล้นี้ นอกเหนือไปจากการสนับสนุนผู้ผลิตซอฟต์แวร์แบบปกติ เพราะซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้จะเข้าไปฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ตู้เย็น ทีวี เพื่อที่จะทำให้อุปกรณ์เหล่านี้สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และส่งต่อข้อมูลไประหว่างผู้ใช้ ผู้ผลิต รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง และเกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันได้
เรื่องที่ 3 ภาครัฐต้องหันมาสนับสนุนซอฟต์แวร์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยไร้ข้อจำกัดที่ว่าการสนับสนุนนั้นอาจจะมีบางส่วนที่ประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ รวมไปถึงต้องมีกฎหมายที่เอื้อต่อการสนับสนุนในเรื่องนี้ด้วย เพื่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวนี้น่าจะเป็นการสนับสนุนธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยในระยะสั้น และระยะยาว
ด้าน นายมนู อรดีลดลเชษฐ์ คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายดิจิตอล อีโคโนมี และที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า ประเทศไทยมีการลงทุนด้านไฟเบอร์ออปติกสำหรับการทำบรอดแบนด์ไปแล้วกว่า 310,000 กิโลเมตร และประชากรมีการตื่นตัวด้านการใช้งานโซเชียลมีเดียมากที่สุด รวมไปถึงยังติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนประเทศด้วยดิจิตอลค่อนข้างสูง
แต่ที่ผ่านมาพบว่า ศักยภาพการแข่งขันของไทยยังไม่เคยติดอยู่ในประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงเลย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชากรในประเทศยังใช้ดิจิตอลเทคโนโลยีในด้านการใช้งานด้านสังคมมากกว่า ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านใช้ดิจิตอลในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านการผลิต ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการเข้าสู่ดิจิตอลอีโคโนมี คือ การจัดระบบต่างๆ ใหม่เพื่อลดต้นทุน สร้างความรวดเร็ว และไม่เสียโอกาสทางด้านการแข่งขัน
“ทั้งนี้ การกระตุ้นด้วยดิจิตอลอีโคโนมีของภาครัฐที่ผ่านมานั้นถือได้ว่าเป็นการกระตุ้นให้คนไทยใช้งานดิจิตอลอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐได้นำ 36 หน่วยงานเริ่มหันมาใช้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และในเดือน ก.ค.จะมีกฏหมายออกมาให้หน่วยงานต่างๆ ให้บริการต่อประชาชนด้วยดิจิตอลได้รวดเร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ในส่วนของตัวธุรกิจเองต้องสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านไซเบอร์ไม่ใช่นวัตกรรมด้านกายภาพ เพราะในปัจจุบันการสร้างนวัตกรรมทางกายภาพนั้นจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อต่อยอดทางธุรกิจได้ยากกว่าการสร้างนวัตกรรมด้านไซเบอร์”