พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีที่เข้ามา ไม่ได้เพียงแต่จะส่งผลเฉพาะตัวผู้รับสื่อเท่านั้น แต่สำหรับผู้ผลิตสื่อหรือเจ้าของคอนเทนต์เอง ก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการดังกล่าวเช่นกัน เพราะแม้จะมีสื่อดี แต่ไม่สามารถตอบสนองให้เท่าทันกับความล้ำสมัยที่เปลี่ยนไปได้ ก็ยากที่จะนำเสนอสื่อเหล่านั้นให้แพร่หลาย และอาจจะกลายเป็นเพียงข้อมูลที่ไม่สามารถนำมาสร้างมูลค่าใดๆ ได้
ศุภชัย นิลวรรณ กรรมการผู้อำนวยการธุรกิจเพลง บริษัท อาร์เอส กล่าวว่า ปัจจุบันรสนิยมของคนฟังเพลงในเมืองไทยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย และเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการฟังเพลงไปสู่สื่อใหม่ๆ มากขึ้น อย่างเช่น สื่อดิจิตอลที่มาแรงมาก ทำให้ธุรกิจเพลงของอาร์เอสต้องปรับรูปแบบใหม่ ตามกระแสที่เข้ามา ผ่านการบริหารงานแบบ 360 องศา
ธุรกิจ ดิจิตอลของอาร์เอส เริ่มขึ้นตั้งแต่มีดาวน์โหลดริงโทนเมื่อประมาณ 7 ปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจเพลงในกลุ่มอาร์เอสนั้น ประกอบด้วย สื่อและคอนเทนต์เพลง โดยรายได้จะมาจากสื่อ 60% ซึ่งประกอบไปด้วย สบายดีทีวี ยูชาแนล และสบายดีเรดิโอ และขายคอนเทนต์ 40% (ในจำนวนนี้แบ่งเป็นรายได้จากดิจิตอล 40% ส่วนที่เหลือเป็นค่าลิขสิทธิ์ และรายได้จากสื่ออื่น)
ธุรกิจเพลงของอาร์เอสนั้นมีการปรับตัวมาโดยตลอดเริ่มตั้งแต่ยุคของแผ่นเสียง เทปคลาสเซท ดีวีดี พอดิจิตอลเข้ามาในช่วงแรกก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะดิจิตอลทำการปลอมแปลงได้ง่าย แต่ต่อมาก็มองว่าวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นนั้นน่าจะเป็นโอกาสที่จะทำให้อาร์เอสสามารถสร้างรายได้ จึงเกิดการดาวน์โหลดเป็นริงโทน เสียงรอสาย โดยมีพาร์ทเนอร์อย่างโอเปอเรเตอร์ ซึ่งในระยะแรกนั้นค่อนข้างไปได้ด้วยดีและได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นของใหม่
แต่พอหลังจากยุค 3G เข้ามาการให้บริการดาวน์โหลดริงโทนเริ่มอิ่มตัว ประกอบกับมือถือมีพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เป็นสมาร์ทโฟน ก็เริ่มเข้าสู่ยุคการสตรีมมิง ฟังเพลงแบบเรียลไทม์ จึงเริ่มกระทบกับรายได้ดาวน์โหลดอีกครั้ง ทำให้อาร์เอสต้องปรับตัวตาม และก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ดิจิตอลเต็มรูปแบบ และเริ่มทำสตรีมมิงเพลงด้วยการจับมือกับยูทูป และไลน์มิวสิค
***ยอดดาวน์โหลดหด เริ่มเข้าสู่ยุคสตรีมมิง
'เมื่อก่อนช่วงแรกที่เราขายแผ่น ยูทูปเข้ามาก็เป็นอุปสรรคของเรา เพราะสามารถดูฟรี ฟังเพลงฟรีได้ แต่ขณะนี้เรามองว่าเป็นช่องทางใหม่ ใช้ในการโปรโมตเผยแพร่คอนเทนต์เรา พอเปิดเป็นทางการเริ่มมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รายได้มาจากการลงโฆษณากับยูทูป ปัจจุบันรายได้จากริงโทนเหลือเพียง 30-40% เมื่อเทียบกับประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา'
ตอนนี้อาร์เอสจับมือกับไลน์เป็นสตรีมมิงแบบออฟฟิศเชียลที่แรกของโลก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเพลงแบบสตรีมมิงเข้ามาในเมืองไทย 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ดีพอเพราะเข้าไปฟังยากและระบบเครือข่ายเดิมยังไม่พร้อม แต่ปัจจุบันระบบต่างๆ ดีขึ้นและไลน์ได้เข้ามาทำการพัฒนาช่องทางนี้ในชื่อไลน์มิวสิค ที่จะกระตุ้นให้การฟังสตรีมมิงได้รับความนิยมมากขึ้น และขยายตัวได้ลึกขึ้นไปถึงระดับรากหญ้าที่มีการใช้ไลน์กันอย่างแพร่หลาย โดยในปัจจุบันไลน์มีฐานลูกค้าในเมืองไทยทั้งสิ้น 33 ล้านคน
'ตอนนี้เราเน้นการผลิตคอนเทนต์ที่โดนใจผู้บริโภคในทุกกลุ่ม เรามีข้อมูลผู้บริโภคที่ชัดเจนขึ้น จากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม เราใช้สถิติที่เก็บจากโซเชียลมีเดียต่างๆ มีการแยกแยะจากข้อมูลดิจิตอล นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลลูกค้าจากสื่ออื่นๆ อย่างเช่น ทีวี วิทยุ เพื่อผลิตคอนเทนต์ตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้ากลุ่มต่างๆ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักนั้นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มเพลงลูกทุ่ง และกลุ่มเพลงสตริง โดยกลุ่มเพลงลูกทุ่งนั้นจะเป็นกลุ่มแมส ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ยากสำหรับเราและมีสัดส่วนถึง 70% ของลูกค้าทั้งหมด'
การพัฒนาลูกทุ่งผ่านช่องทางดิจิตอลนั้น ค่อนข้างมีความท้าทาย อาร์เอสจึงนำเสนอความเป็นลูกทุ่งสมัยใหม่ที่ผสมผสานกัน อาร์เอสต้องการขยายฐาน ใส่สีสันเข้าไปให้คนรุ่นใหม่เปิดรับได้มากขึ้น เพราะคนที่เข้าโซเชียลก็เริ่มมาฟังลูกทุ่งผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น รวมไปถึงคนที่เป็นสตริงก็เริ่มมาฟังเพลงลูกทุ่งมากขึ้นเช่นกัน ในส่วนเพลงสตริงนั้นจะใช้ช่องทางดิจิตอลเป็นหลักอยู่แล้ว แต่อาจจะแยกย่อยออกไปเป็นเซ็กเมนต์ อาทิ อาร์แอนด์บี ร็อก ป๊อบ ตามรสนิยมของผู้ฟัง
***สื่อรูปแบบเก่ายังไม่ทิ้ง แค่ปรับการขาย
ในส่วนของสื่อแบบเก่าแบบฟิสิคอลนั้นจะยังคงประคองไว้ แม้จะเริ่มสร้างรายได้ที่ลดลง อย่างเช่น แผ่นซีดี อาร์เอสขายโรงงานปั้มแผ่นทิ้งแล้วสั่งทำเฉพาะที่ผลิต เน้นเจาะเฉพาะกลุ่ม จากเดิมที่วางขายเป็นแสนแผ่น ตอนนี้เริ่มวางน้อย เพราะกันการรีเทิร์นแผ่น และเริ่มมองช่องทางอย่างโมเดิร์นเทรด อย่างเซเว่นที่อยู่ตามปั๊มน้ำมัน การฟังซีดีจะเป็นกลุ่มขับรถจึงเข้าไปอยู่ในเซเว่นในปั้มน้ำมัน มีจำหน่ายทั้งออดิโอและเอ็มพี 3 การที่ต้องขายควบคู่กันเพราะไม่สามารถต่อต้านเทคโนโลยีได้ ส่วนการทำเป็นเอ็มพี 3 ขึ้นมานั้น ก็เป็นการทำให้วิกฤติเป็นโอกาส เพื่อทำมาแข่งกับของเถื่อนซึ่งขายดีมากในส่วนของสินค้าแบบฟิสิคอล
'การทำธุรกิจเพลงแบบ 360 องศานั้น จะเน้นการกระจายความเสี่ยงออกเป็นขาต่างๆ ประกอบด้วย ฟิสิคอล 20% ดิจิตอล 40% ที่เหลือเป็นโชว์บิส ไลเซนซิ่ง และมิวสิคมาร์เก็ตติง 40% ซึ่งการจะพึ่งพาดิจิตอลเพียงอย่างเดียวนั้นยังค่อนข้างจะยาก เพราะสื่อเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา'
อาร์เอสจะผลิตคอนเทนต์ พัฒนาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ นโยบายการทำเพลงลูกทุ่งจะเน้นครอบคลุมทั้ง วัย ภูมิภาค รสนิยม ส่วนของสตริง ก็จะปรับเปลี่ยนจากเดิมที่อาร์เอสเป็นผู้นำในตลาดเพลงวัยรุ่น แต่นับจากนี้จะขยายแนวเพลงออกไป เพื่อที่จะตอบโจทย์ให้ได้ทุกกลุ่ม นอกจากนี้อาร์เอสยังมีสื่อแบบครบวงจรให้พาร์ทเนอร์เข้ามาทำธุรกิจร่วมกัน เรียกได้ว่าเป็นการสร้างคอนเทน์แล้วไปปลั๊กอินกับพาร์ทเนอร์ และยินดีที่จะเปิดให้พาร์ทเนอร์เข้าร่วมมากที่สุด
***นักร้อง เพลง ทุกสิ่งคือคอนเทนต์ที่สร้างรายได้
จุดเด่นของธุรกิจเพลงของอาร์เอสนั้นอยู่ที่ ทุกวันนี้เพลงไม่มีกำแพงในแนวเพลงแล้ว เพราะเกิดจุดขายใหม่ เช่นเอาเพลงลูกทุ่งมาผสมฮิปฮอบ หรือลูกทุ่งผสมแนวเพลงอื่นๆ คนฟังเพลงจะถูกผสมผสานกันไปโดยปริยาย
อาร์เอสมองวงดนตรีต่างๆ เป็นพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นวงอินดี้ที่มีกระแสอยู่แล้ว ก็ดึงให้เข้ามาร่วมงาน เป็นเสมือนเวทีหนึ่งในการนำเสนอผลงาน ให้คนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมงาน เพื่อให้เกิดเป็นโซเชียลที่คนเข้ามาชมส่วนทางด้านกลุ่มเป้าหมายนั้นอาร์เอสจะมองว่าเป็นกลุ่มเดียวกันหมด ไม่ว่าจะรับชมในช่วงเวลาแตกต่างกัน ก็สามารถตอบสนองได้ทุกสื่อที่มีอยู่ให้ครอบคลุมทั้งหมด ทุกช่วงเวลา ทุกช่องทางที่จะสามารถเข้าถึง เป็นพอร์ทัลดิจิตอลใหม่ที่ครบวงจร
เพลงลูกทุ่งถ้าเอามาปัดฝุ่นใหม่ แล้วสร้างกระแส ก็จะทำให้สามารถสร้างรายได้ใหม่ บางเรื่องเป็นการให้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นให้กลายเป็นกระแส อย่างเช่น เพลงเมรี ที่นำเสนอแบบใหม่ ทำให้เกิดหลายมิติ ทั้ง สินค้า พาร์ทเนอร์ มิวสิคมาร์เก็ตติงเข้ามา ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับอาร์เอสได้ทั้งหมด
ส่วนการทำเพลงของอาร์เอสให้อินเตอร์ คือต้องเอาความเป็นไทยออกมานำเสนอในรูปแบบสากล ให้เขายอมรับเรา ต้องรักษารากเหง้าของเราไว้ด้วย เน้นวิธีการนำเสนอ จังหวะ ต้องมีกลิ่นอายของไทยผสม ปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอใหม่ให้เป็นอินเตอร์ สื่อสารกับคนต่างชาติได้ในรูปแบบของเราให้เขารับรู้และชื่นชม ไม่ใช่เอานักร้องเราออกไปต่างประเทศ แล้วบอกว่าตัวเองเป็นอินเทอร์แล้ว
หรือแม้แต่ใช้นักร้องเป็นสื่อเข้าไปในโฆษณาให้กับแบรนด์ต่างๆ ที่ต้องการสื่อสารให้ตรงกับคอนเซปต์ของตัวนักร้อง ทุกคอนเทนต์ที่ผลิตขึ้นต้องสร้างมูลค่าได้เรื่อยๆ ปัจจุบันอาร์เอสมีศิลปินประมาณ 200 คน แบ่งเป็นลูกทุ่ง 120 คน ซึ่งการคัดเลือกศิลปินในยุคดิจิตอลนั้นจะต้องปั้นให้กลายเป็นไอดอลให้ได้ ส่วนแนวเพลงจะเน้นแสดงการเป็นตัวตนของเขาชัดเจน และถ้าเขาทำเองได้ยิ่งดี เพราะจะดูเป็นตัวของตัวเองและมีคาแรกเตอร์ชัดเจน ซึ่งจะตรงใจกับแฟนเพลงในปัจจุบันมากที่สุด
'เราทำให้เพลงเป็นสื่อหนึ่ง ซึ่งเพลงจะสามารถสร้างรายได้ เมื่อก่อนรายได้มาจากแผ่น รายได้ต้องรอการขาย แต่ตอนนี้มีรายได้ตั้งแต่ยังไม่ได้ทำเพลง บางเพลงมีรายได้ตั้งแต่ก่อนที่จะออกไป นโยบายทำเพลง กระจายให้ครบกลุ่มเป้าหมาย เพลงบางเพลงอาจจะไม่ตอบโจทย์ในเรื่องสร้างรายได้ แต่ตอบโจทย์ในการดึงให้คนเข้ามาชมเข้ามาฟังถือเป็นการสร้างการรับรู้แล้ว ซึ่งคนทั่วไปมองว่าธุรกิจเพลงจะขายได้แค่เพลง แต่อาร์เอสมองว่าเพลงเป็นคอนเทนต์ต้นน้ำ ในการผลิตสิ่งต่างๆ เช่น ศิลปิน และจะต่อยอดให้เกิดประโยชนในทุกช่องทาง'
Company Related Link :
RS