xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม “Apple” ต้องเลือกหนุนเกมไร้ in-app purchase?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดแอปพลิเคชันเกมแน่นอนเมื่อวันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แอปเปิล (Apple) เริ่มจุดพลุฟีเจอร์ใหม่ “เพย์วันซ์แอนด์เพลย์ (Pay Once & Play)” ในร้านแอปสโตร์ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้แอปกลุ่มนี้สามารถ “จ่ายเงินครั้งเดียว” โดยไม่ต้องวุ่นวายใจกับการขายสินค้าและบริการในแอป (in-app purchase) เพราะนี่ถือเป็นการเปิดกลยุทธ์ใหม่เพื่อแก้ปัญหาเสียงบ่นหนาหูจากผู้ใช้แอปที่รำคาญใจกับ in-app purchase ซึ่งปรากฏทั่วไปในทุกแอปพลิเคชัน แม้แต่แอปพลิเคชันที่เสียเงินซื้อมาแล้ว

ผู้นิยมแอปพลิเคชันเกมทั่วโลกมักจะคุ้นเคยดีกับ in-app purchase ซึ่งเป็นการเรียกเก็บเงินเพิ่มหากผู้ใช้ต้องการความสามารถพิเศษในเกม ที่ผ่านมา ผู้พัฒนาเกมและแอปพลิเคชันอื่นๆสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากการแนบ in-app purchase ในแอปพลิเคชันที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรี ทำให้วงการ in-app purchase ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอเกมจำนวนมากยินยอมจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตเพื่อแลกกับไอเท็มใหม่เพราะความสนุกสนานที่เพิ่มขึ้น

แต่หลายคนรู้สึกหงุดหงิดที่ต้องเสียเงินไม่รู้จบ เสียงบ่นนี้ทำให้แอปเปิลตัดสินใจเพิ่มประเภทเกมใหม่ในชื่อ ‘Pay Once & Play’ ซึ่งเรียกว่าเป็นการโปรโมทเกมที่ชำระเงินค่าโหลดครั้งเดียวและไม่มี in-app purchase โดยเฉพาะ หมวดเกมนี้สามารถตอบความต้องการของผู้ใช้อย่างได้ผล ขณะเดียวกันก็ดึงดูดใจนักพัฒนาให้หันมาสร้างเกมที่ไร้ in-app purchase ได้อย่างฉลาด

เกมหมวด ‘Pay Once & Play’ จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทย่อย เช่น เกมออกใหม่ เกมฮิต และเกมอมตะ ทั้งหมดนี้ Apple การันตีว่าเกมในหมวดใหม่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเพลิดเพลินกับแอปได้ต่อเนื่องโดยไม่สะดุด

แน่นอนว่าแอปพลิเคชันกลุ่มนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต และ ‘Pay Once & Play’ อาจเป็นแนวทางที่ผู้ให้บริการร้านแอปพลิเคชันทั่วโลกเดินตาม เนื่องจาก in-app purchase นำไปสู่การฟ้องร้องหลายคดีเหลือเกิน โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องรับกรรมจากบุตรหลานที่คลิกซื้อสินค้าในเกมเป็นเงินมหาศาลโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ตัวอย่างเช่นกูเกิล (Google) ที่ถูกปรับเงินมากกว่า 19 ล้านเหรียญสหรัฐฐานให้บริการ in-app purchase โดยไม่ชอบ ผลจากคำตัดสินของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมสหรัฐฯหรือ US Federal Communications Commission ทำให้ทุกวันนี้ กูเกิลต้องแจ้งเตือนให้ผู้ใช้แอนดรอยด์ทราบว่าแอปพลิเคชันใดมี in-app purchase แฝงอยู่ ซึ่งร้านแอปพลิเคชันทั้งหมดก็ปรับเพิ่มให้มีการแจ้งเตือนนี้แล้วถ้วนหน้าเพื่อบอกให้ผู้ใช้รู้ตัวก่อนดาวน์โหลด

ดังนั้น บทสรุปบรรทัดสุดท้ายของเรื่องนี้ คือวงการแอปพลิเคชันเกมกำลังถูกปฏิวัติ ซึ่งไม่เพียงแอปพลิเคชันเกม ผู้ใช้และผู้ขายแอปพลิเคชันประเภทอื่นในอนาคตจะมองระบบ in-app purchase ในความรู้สึกที่ต่างจากวันนี้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น