กลุ่มสามารถเตรียมมุ่งเข้าสู่ธุรกิจพลังงานด้วยการวางแผนเข้าทำธุรกิจโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน ชี้กำลังเจรจาอยู่ หากสำเร็จจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้ปีละ 3-40,000 ล้านบาท และจะดันให้ยอดรายได้รวมในปี 63 ทะลุ 1 แสนล้านบาท เผยปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ตามเป้าแต่ก็โตได้ 10-20% ส่วนปีนี้ขอโตขึ้น 20% หรือมีรายได้ 30,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมรุกธุรกิจที่จะสร้างรายได้แบบเต็มๆ อย่าง U-Trans ที่เตรียมจะลงทุนเพิ่มขึ้นอีกหลายธุรกิจในปีนี้ ปรับโครงการสร้างธุรกิจไอซีทีใหม่ให้รองรับกับนโยบายดิจิตอลอีโคโนมีของภาครัฐ ส่วนไอโมบาย จะจับมือกับพันธมิตรเพิ่มมากขึ้น
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจของสามารถนับจากนี้มุ่งสู่ธุรกิจที่มีความเสี่ยงทางด้านปัจจัยแวดล้อมน้อยที่สุด โดยจะเน้นในกลุ่มธุรกิจพลังงานที่คาดว่าจะสร้างรายได้ และความยั่งยืน ซึ่งล่าสุด ได้วางแผนที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในประเทศกัมพูชา กำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้ปีละประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท และจะสามารถผลักดันให้สามารถมีรายได้รวมประมาณ 100,000 ล้านบาท ในปี 2563
โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 1 แห่ง ในประเทศกัมพูชา สำหรับการลงทุนในรูปแบบนี้ในเมืองไทยนั้นคาดว่าไตรมาส 1 และ 2 จะเห็นโรงงานในลักษณะนี้ 2-3 จังหวัด โดยจะบริหารงานโดย บริษัท สามารถเวสต์ เพาเวอร์
“สำหรับปี 2557 กลุ่มสามารถ มีรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10-20% ซึ่งการที่ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าเนื่องจากปัญหาทางด้านการเมืองส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็ว ส่วนในปี 2558 นี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้รวมในปี 2558 จำนวน 30,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 20% ปี 58 จะเป็นปีแห่งการลงทุนครั้งสำคัญ และสูงสุดนับจากการก่อตั้ง โดยรายได้รวม 30,000 ล้านบาท จะมาจากสาย ICT Solutions 10,000 ล้านบาท Mobile Multi-media 13,000 ล้านบาท U-Trans และ Related Businesses รวมกันอีก 7,000 ล้านบาท”
นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า สำหรับในปีนี้กลุ่มสามารถมีแผนจะขยายการลงทุนในธุรกิจ Utilities & Transportations อย่างชัดเจน ครอบคลุมเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องต่อโครงสร้างพื้นฐาน การเดินทาง และระบบสาธารณูปโภค ส่วนไอโมบาย เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ใหม่ และต้องมีพาร์ตเนอร์มากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่ม ICT Solution ที่จะกำหนดโครงสร้างทางธุรกิจใหม่ให้สามารถรับมือต่อโครงการต่างๆ ของภาครัฐตาม Digital Economy การเข้าสู่ AEC อย่างเต็มรูปแบบ รวมไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ CLMV รวมทั้งประเทศไทย ตลอดจนแนวโน้มการขยายเครือข่ายการสื่อสารจาก 3G สู่ 4G รวมถึงการขยายเครือข่ายดิจิตอลทีวีที่ครอบคลุม และกว้างขวาง
ทั้งนี้ การกำหนดโครงสร้างธุรกิจใหม่ของธุรกิจ ICT Solutions ประกอบด้วย 1.โซลูชันโครงสร้างเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม Network Infrastructure Solutions 2.โซลูชันเทคโนโลยีประยุกต์ Enhanced Technology Solutions และ 3.แอปพลิเคชันสนับสนุนการประกอบธุรกิจ Business ซึ่งทั้ง 3 ธุรกิจจะช่วยให้สามารถเข้าถึงลูกค้าภาคธุรกิจเอกชนมากยิ่งขึ้น จากการให้บริการ ICT ที่ครบวงจร เช่น การขยายโครงข่ายการสื่อสาร การส่งเสริมธุรกิจ e-Commerce ตลอดจนการพัฒนา e-Government Services เป็นต้น
“ปัจจุบัน สายงานไอซีทีมีงานในมือแล้ว 7,200 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมา ได้ลงนามในสัญญาให้บริการระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่องกับท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย มูลค่า 2,279 ล้านบาท และยังได้งานเพิ่มอื่นๆ อีกจำนวน 60 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 7,000 ล้านบาท สำหรับปี 2558 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ 10,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 40% โดยนอกเหนือจากงานโครงการซึ่งอยู่ในแผนที่จะเข้าประมูลในปี 58 รวมมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาทแล้ว”
ทางด้านธุรกิจ Mobile Multi-media นั้น ในส่วนของธุรกิจ Mobile Multi-Media จากบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย ตั้งเป้ารายได้ในปี 2558 ไว้ที่ 13,000 ล้านบาท โดยจะเน้นกลยุทธ์การร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เป็นหลัก เพื่อขยายตลาดผ่านเครือข่ายพันธมิตร ทั้งสโมสรฟุตบอล ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และพันธมิตรด้านสื่ออย่างสยามสปอร์ต
“การเข้าไปร่วมกับพันธมิตรเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าแบบใกล้ชิดมากขึ้น อย่างการเข้าร่วมกับสโมสรฟุตบอลก็จะมีแฟนบอลที่มีจำนวนค่อนข้างเยอะ เมื่อเข้าไปร่วมก็จะมีการให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมอย่าง การใส่แอปพลิเคชันติดตามข้อมูลข่าวสารของทีมฟุตบอล และให้สิทธิพิเศษอื่นๆ”
ส่วนความร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์ ก็จะนำสมาร์ทโฟนเข้าไปร่วมวางจำหน่าย เพื่อให้สอดรับต่อการเปลี่ยนผ่านโทรศัพท์จาก 2G ไปสู่ 3G รวมไปถึงการนำเครื่องในระบบ 4G ในระดับราคาไม่เกิน 7,000 บาท เข้ามาวางจำหน่ายด้วย เพื่อขยายตลาดผู้ใช้บริการ 4G ให้เพิ่มมากขึ้น รับต่อการประมูลที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ อีกส่วนหนึ่งคือ สมาร์ทโฟน ที่รองรับการชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล (ทีวีดิจิตอล) ที่ในอนาคตจะมีการขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ก็จะเปิดโอกาสให้ตลาดสมาร์ทโฟนไอ-โมบาย ดีทีวี (i-Mobile DTV) มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น
โดยรวมแล้ว ไอ-โมบายวางแผนจะเปิดตัวมือถือทั้งหมด 25 รุ่น โดยมีเป้าหมายในการจำหน่ายอยู่ที่ 5.5 ล้านเครื่องในปีนี้ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตราว 30% จากปีที่ผ่านมา จำหน่ายไปราว 4.23 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2557 14% สำหรับจุดเด่นของสมาร์ทโฟนไอ-โมบาย ที่จะเริ่มทยอยวางจำหน่ายในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 คือ การพัฒนาในส่วนของเทคโนโลยีกล้อง ที่จะนำซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยทำให้กล้องสามารถถ่ายภาพได้ชัดเจนขึ้น ใส่กล้องหน้าฟรุ้งฟริ้ง รวมถึงการนำเทคโนโลยีกล้องหลัง 2 เลนส์เข้ามาใช้ เพื่อช่วยให้สามารถโฟกัสได้รวดเร็วขึ้น ในขณะเดียวกัน ยังสามารถนำมาปรับแต่งเลือกจุดโฟกัสทีหลังได้
นายวัฒน์ชัย กล่าวต่อว่า ในส่วนของธุรกิจ Utilities & Transportations หรือ U-Trans ซึ่งเป็นความหวังใหม่ของกลุ่มสามารถนั้น จะอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท SAMART U-Trans ซึ่งประกอบด้วย บริษัทลูกคือ Cambodia Air Traffic Services, Kampot Power Plant และ Teda บริษัทผู้เชี่ยวชาญในการวางเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า ซึ่งล่าสุด ได้เซ็นสัญญากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในการปรับปรุงสถานีไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี มูลค่า 483 ล้านบาท ซึ่งในปี 2558 จะเป็นปีแห่งการลงทุนครั้งสำคัญ และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของ “สามารถ” ในธุรกิจพลังงาน โดยมีกำหนดจะประกาศเกี่ยวกับแผนการลงทุนอย่างชัดเจนในไตรมาสแรกปีนี้
สำหรับผลการดำเนินธุรกิจในปี 2557 โดยสรุปว่าทุกสายธุรกิจเดินหน้าไปได้ด้วยดี แม้จะได้รับผลกระทบบ้างจากการชะลอโครงการภาครัฐ แต่ ICT Solutions ก็ยังได้งานเพิ่มกว่า 60 โครงการ มูลค่ารวมเกือบ 7,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับสามารถไอโอมบาย มียอดจำหน่ายในปี 57 ทั้งสิ้น 4.2 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 14% ส่วนบริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ ก็ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และขยายฐานธุรกิจสู่ประเทศกัมพูชา
ด้านธุรกิจ U-Trans ได้ทำการเซ็นสัญญาโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการจราจรทางอากาศกับกรมการบินพลเรือน ของประเทศสหภาพพม่า มูลค่าประมาณ 120 ล้านบาท และได้เซ็นสัญญากับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย เพื่อติดตั้งระบบอุปกรณ์บริการการจราจรทางอากาศของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่า 465 ล้านบาท ส่วนเทด้า ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในกลุ่มนี้ ก็ประสบความสำเร็จในการเซ็นสัญญาโครงการใหม่ๆ กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมมูลค่า 1,200 ล้านบาท โดยรวมแล้วกลุ่ม U-Trans ได้งานใหม่เพิ่มเติมในปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าถึง 1,800 ล้านบาท
Company Relate Link :
SAMART