รายงานจากสื่ออเมริกันระบุ ชาวอเมริกันมากกว่า 3.1 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อถูกขโมยสมาร์ทโฟนในช่วงปี 2013 ที่ผ่านมา ถือเป็นข่าวส่งท้ายปี 2014 ที่ตอกย้ำว่า ตลาดมืดสมาร์ทโฟนยังทรงอิทธิพล และเติบโตชัดเจน
นิตยสารไอทีอเมริกัน “ไวร์ด (Wired)” ตีพิมพ์รายงานเรื่อง “The Secret World of Stolen Smartphones, Where Business is Booming,” ในฉบับเดือนมกราคม 2015 เพื่อโชว์ความลับของธุรกิจสมาร์ทโฟนที่ถูกขโมยไว้อย่างน่าสนใจ โดยนอกจากสถิติเหยื่อที่ถูกขโมยสมาร์ทโฟนมากกว่า 3 ล้านราย ในปี 2013 รายงานยังระบุว่า จำนวนเหยื่อชาวอเมริกันนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว จาก 1.6 ล้านคน ในปี 2012
รายงานชี้ว่า การเติบโตของภัยขโมยสมาร์ทโฟนนี้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อธุรกิจตลาดมืดสมาร์ทโฟนในประเทศกลุ่มเอเชีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตลาดจำหน่ายสมาร์ทโฟนมือ 2 ในราคาสบายกระเป๋านั้นกำลังเติบโตก้าวกระโดด
สำนักไวร์ดยังเชื่อมโยงภัยขโมยสมาร์ทโฟนเข้ากับสถิติการใช้งานสมาร์ทโฟนโลกในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยระบุว่า ปี 2009 ยอดการใช้งานสมาร์ทโฟนโลกนั้นอยู่ที่ 5% ของประชากรทั้งหมด คาดว่าในปี 2015 สัดส่วนนี้จะเพิ่มเป็น 35% หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่า 2,500 ล้านคน
สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการวิเคราะห์จากบริษัทรักษาความปลอดภัย (ไม่ระบุชื่อบริษัท) ว่าเจ้าของสมาร์ทโฟนอเมริกันราว 1 ใน 10 มีความเสี่ยงถูกขโมยสมาร์ทโฟน โดย 68% ของเหยื่อกลุ่มนี้จะไม่มีทางได้รับสมาร์ทโฟนคืน จุดนี้ทำให้ยอดขายประกันสมาร์ทโฟนอเมริกันเติบโตตามไปด้วย สถิติล่าสุดคือ ชาวอเมริกันใช้งานมากกว่า 4,800 ล้านเหรียญต่อปีในการซื้อประกันสมาร์ทโฟนชั้นหนึ่ง
ที่สำคัญยอดเงินในการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่แทนเครื่องเดิมของชาวอเมริกันนั้นมีมูลค่ามากกว่า 580 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ตัวเลขดังกล่าวเป็นผลการศึกษาของวิลเลียม ดัคเวิร์ธ (William Duckworth) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเครกตัน (Creighton University)
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีปิดการทำงานของเครื่องจากระยะไกล หรือคิลสวิตช์ (kill-switch) จะมีส่วนช่วยให้ภัยขโมยสมาร์ทโฟนลดจำนวนลง จุดนี้รายงานระบุว่าคุณสมบัติแอคติเวชันล็อก (Activation Lock) ของแอปเปิลนั้นทำให้ภัยขโมยไอโฟนในสหรัฐฯลดลงราว 38% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2014
เฉพาะในนิวยอร์ก ซิตี การสำรวจพบว่าภัยขโมยสินค้าที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์แอปเปิลนั้นลดลงมากกว่า 19% แม้โจรขโมยอุปกรณ์ไอทีเหล่านี้จะสามารถจำหน่ายสมาร์ทโฟนที่ขโมยมาในรูปชิ้นส่วนก็ตาม