ETDA เผยไทยจำเป็นต้องมีหน่วยงาน Nation Trade Board เพื่อเข้ามาจัดการระบบการค้าทั้งหมดของประเทศ ชี้แม้จะทำการค้ากับต่างประเทศอยู่แล้วแต่ยังขาดรหัสที่จะสามารถสื่อสารได้ในระดับสากล ส่งผลให้สินค้า และบริการบางประเภทยังไม่ได้รับการยอมรับ แนะต้องเริ่มต้นจัดการในอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบก่อน อย่าง ยานยนต์ ท่องเที่ยว และบริการ เช่นเดียวกับด้านการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับต่อเศรษฐกิจดิจิตอล รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากคลาวด์
นายวรรณวิทย์ อาขุบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA กล่าวว่า ประเทศไทยต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า NTB (Nation Trade Board) ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่จะเข้ามาช่วยจัดการระบบการค้าของไทยทั้งหมดให้เป็นระบบเดียวกับต่างประเทศ ใช้ภาษาเดียวกันในการสื่อสาร รวมไปถึงการพัฒนาให้ธุรกิจต่างๆ ก้าวขึ้นสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ผ่านมา แม้ว่าไทยจะมีการค้ากับต่างประเทศแต่ในระดับโลก ไทยยังไม่มีภาษากลางที่สามารถสื่อสารกันได้อย่างเป็นทางการ
“อย่างเช่นในเรื่องของกะทินั้น หากเราจะทำการส่งออกก็จะไม่มีภาษาที่เป็นมาตรฐานมาระบุว่าคือ มะพร้าวคั้นน้ำ เพราะในต่างประเทศนั้นจะไม่มีสินค้าประเภทกะทิ แต่จะเป็นพวกมะพร้าวแช่แข็งแทน เช่นเดียวกับงานบริการต่างๆ ที่ไทยเรามีค่อนข้างหลากหลาย แต่ในต่างประเทศบางอย่างที่เรามีจะไม่มีการระบุเช่นกัน ดังนั้น หากจะมีการโปรโมตบริการต่างๆ ไปยังต่างประเทศ ยังจำเป็นต้องกำหนดภาษาใหม่ที่เป็นระดับสากล ให้เป็นรหัสเดียวกันสามารถรับรู้ได้ทั่วกันว่าสิ่งที่ระบุนี้คืออะไร ไม่ใช่รู้เพียงประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น”
โดย NTB ที่จัดตั้งขึ้นนี้จะมีหน้าที่สำคัญใน 3 เรื่อง คือ 1.ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทั้งในระดับ Operation ระดับ Tactical และระดับ Policy 2.ทำหน้าที่กำหนดวิธีการรูปแบบการทำงาน และ 3.ทำหน้าที่กำหนดความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อสร้างความได้เปรียบในสิ่งที่ถนัดจึงต้องทำมาตรฐานกลางให้ทั่วโลกได้รับรู้ นอกจากนี้ ต้องสนับสนุนให้ธุรกิจนำมาตรฐานเหล่านี้เข้าไปใช้กับสินค้าและบริการที่ทำอยู่อีกด้วย
นายวรรณวิทย์ กล่าวว่า การกำหนดมาตรฐานนั้นจะเลือกอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทยก่อน อย่างเช่น อุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำร่วมกับญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมองไปถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ไทยมีข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของงานด้านบริการที่มีความโดดเด่น ในขณะเดียวกัน ก็มีความซับซ้อน ดังนั้น จึงต้องทำให้เป็นระบบกลาง และต้องทำให้ละเอียด เพราะบริการเรามีแยกย่อยมาก ที่สำคัญคือต้องทำสิ่งที่เรามีอยู่ขายกับเขาให้ได้ด้วยมาตรฐานเดียวกันแบบสากล
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้ มีความสำคัญสำหรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลมาก เนื่องจากจะทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และช่วยลดขั้นตอนในการดำเนินการทางธุรกรรมต่างๆ ให้น้อยลง ประหยัดค่าใช้จ่ายที่อาจจะขึ้นจากงานด้านเอกสารที่เป็นกระดาษ เช่นเดียวกับการใช้งานคลาวด์ที่จะต้องนำมาให้บริการได้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะถือเป็นเป้าหมายหลักของประเทศที่จะใช้งานด้านนี้ในการสนับสนุนการค้า และบริการ รวมไปถึงในเรื่องของข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำ e-Business ซึ่งทำให้ไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อม
ทั้งนี้ ทาง ETDA ได้เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการด้านการค้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Council for Trade Facilitation and Electronic Business หรือ AFACT) ซึ่งอยู่ภายใต้การส่งเสริมจาก United Nation Center for Trade Facilitation and Electronic Business หรือ UN/CEFACT ในการสนับสนุนนโยบาย และกิจกรรมการพัฒนาวิธีการและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศให้แก่สมาชิกในด้านการค้า ทำให้ไทยต้องมีความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น
นอกจากนี้ AFACT ยังได้ให้ ETDA เป็นเจ้าภาพในงาน EDICOM 2014 ซึ่งเป็นงานสัมมนาเชิงวิชาการให้ความรู้แก่หน่วยงานราชการ และผู้ประกอบการไทย โดยจะเป็นเวทีที่ให้ข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในด้านการค้าแก่หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งมีเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจอย่างเช่น NSW (National Single Window) เรื่องมาตรฐานข้อความชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (National Payment Message Standard : NPMS) และมาตรฐานการส่งต่อข้อมูลด้านสุขภาพ (Health Exchange Information Standard) เป็นต้น
Company Related Link :
ETDA