ภูมิภาคเอเชียกำลังกลายเป็นตลาดที่เอชทีซีให้ความสำคัญมากที่สุด เห็นได้จากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ล่าสุดของแบรนด์อย่าง HTC Butterfly 2 ที่ซีอีโอของเอชทีซีขึ้นเวทีเปิดตัวที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ในเวลาเดียวกันกับที่ฝั่งสหรัฐฯ เอชทีซี ร่วมมือกับไมโครซอฟท์ในการเปิดสมาร์ทโฟนที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน
จุดที่ทำให้เอชทีซีมั่นใจว่าตลาดในภูมิภาคเอเชียกำลังเติบโตอย่างเต็มที่มาจากการแข่งขันที่เริ่มรุนแรงขึ้นในท้องตลาด ทั้งจากแบรนด์ใหญ่อย่างแอปเปิล และซัมซุง ยังไม่นับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากจีนอย่างเลอโนโว หัวเว่ย รวมถึงเสี่ยวหมี่ ที่กำลังร้อนแรงในโลกออนไลน์
ปีเตอร์ ชู ซีอีโอ เอชทีซี กล่าวย้อนถึงความสำเร็จในการทำตลาด HTC Butterfly และ HTC J Butterfly หรือที่รู้จักกันในรุ่นที่ทำตลาดทั่วโลกอย่าง Butterfly S ว่า ถือเป็นสมาร์ทโฟนที่ทำยอดขายได้มากที่สุดทั้งในญี่ปุ่น และไต้หวัน และมั่นใจว่าด้วยความสามารถที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับนวัตกรรมของ HTC Butterfly 2 จะช่วยให้สมาร์ทโฟนรุ่นนี้กลายเป็นอีกหนึ่งสมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด
“HTC Butterfly ถือเป็นหนึ่งในรุ่นที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของเอชทีซี เพราะนอกจากยอดขายที่ทำได้ดีแล้ว ตัวเครื่องยังสามารถวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดได้ต่อเนื่องกว่า 18 เดือน ซึ่งถือว่าสูงมากในสภาพตลาดปัจจุบัน และเชื่อมั่นว่าในรุ่นใหม่นี้ก็จะสามารถอยู่ในท้องตลาดได้ใกล้เคียงกัน”
ในส่วนของภาพรวมการแข่งขันในตลาดโลกตอนนี้ จีนได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศสำคัญ และในขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นกำลังผลิตหลักของหลายๆ แบรนด์ด้วย ทำให้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง แต่ก็ยอมรับว่าเป็นตลาดที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว
“การออกแบบ และอินเตอร์เฟส จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นขึ้นมาในตลาด เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผู้ผลิตทุกรายต่างมุ่งไปที่จุดหมายเดียวกันคือ Internet of things แต่อย่างไรก็ตาม เอชทีซีเชื่อว่า สมาร์ทโฟน จะกลายเป็นศูนย์กลางของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในอนาคต”
พร้อมกับให้ข้อมูลย้อนไปถึงช่วงหลายปีที่ผ่านมา เอชทีซี จะให้ความสำคัญต่อกล้อง และเสียง โดยในส่วนของกล้องก็มีการพัฒนาเรื่องอัลตราพิกเซลขึ้นมาใช้ ส่วนในเรื่องของเสียงก็เข้าไปซื้อกิจการของ Beats by Dr.Dre เข้ามาพัฒนา แม้ว่าปัจจุบันจะขายหุ้นออกไปหมดแล้ว แต่ประสบการณ์ที่เคยร่วมงานกันยังคงอยู่
แจ็ค ตัน ประธานบริหาร บริษัท เอชทีซี จำกัด ภาคพื้นเอเชียเหนือ ให้ข้อมูลเสริมว่า เหตุผลสำคัญที่ทางเอชทีซี เลือกญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ทำการเปิดตัว HTC J Butterfly HTL23 (HTC Butterfly 2) เนื่องจากมองว่าญี่ปุ่น ถือเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ ดูได้จากการที่เป็นหนึ่งในประเทศท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวในเอเชียนิยม
“เชื่อว่าด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นของญี่ปุ่นที่ถูกนำไปใช้เป็นแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ออกมาเป็น Butterfly 2 ทำให้ตัวผลิตภัณฑ์มีกลิ่นอายที่ผู้บริโภคชาวเอเชียชื่นชอบ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิง ที่นิยมสมาร์ทโฟนที่มีสีสันสวยงาม รวมไปถึงกล้องที่มีลูกเล่นให้เลือกใช้”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เอชทีซี มองว่าค่อนข้างสำคัญในการทำตลาดผลิตภัณฑ์ในภูมิภาคนี้ คือ วิธีการทำตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานให้กว้างมากที่สุด อย่างในญี่ปุ่น ทางเอชทีซียังคงเลือกใช้เกิร์ลกรุ๊ป Nigizaka46 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ HTC J Butterfly ที่ใช้ความสดใสน่ารักของนักร้องสาว ในการแนะนำฟังก์ชันต่างๆ ของตัวสมาร์ทโฟน
ส่วนในแง่ของช่องทางการจำหน่าย ในญี่ปุ่นทางเอชทีซีร่วมทำตลาดกับ KDDI ที่เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของญี่ปุ่น เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่ทางเอชทีซี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับดีแทค เพียงแต่จากเทรนด์ของช่องทางการจำหน่ายที่เปลี่ยนไป ผู้บริโภคนิยมใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ในอนาคตอาจจะมีการปรับตัวเพื่อให้ครอบคลุมทุกช่องทางมากยิ่งขึ้น
“ในมุมของโอเปอเรเตอร์เมื่อจำหน่ายสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ สิ่งที่ได้รับกลับมาคือ ค่าบริการเฉลี่ยต่อคนต่อเดือน (ARPU) ที่เพิ่มขึ้น ส่วนช่องทางการจำหน่ายผ่านรีเทล ก็จะช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เอชทีซีจึงให้อิสระแก่แต่ละประเทศในการทำตลาด”
แจ็ค ตัน ยังกล่าวถึงการแข่งขันในตลาดจีนด้วยว่า ผู้ผลิตจีนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้เช่นเดียวกับแบรนด์ใหญ่ๆ ในระดับราคาที่ใกล้เคียงกัน เพียงแต่สิ่งที่ทำให้เอชทีซี รวมถึงอินเตอร์แบรนด์รายอื่นๆ ได้เปรียบกว่าแบรนด์เหล่านั้นคือ เรื่องของนวัตกรรม สิทธิบัตร และประสบการณ์ที่ยาวนานในการทำตลาด ที่จะกลายเป็นจุดต่างให้แก่ผู้บริโภค
***2 เทคโนโลยีกล้องในแบรนด์เดียว
ความสงสัยที่เกิดขึ้นหลังจากการเปิดตัว Butterfly 2 ที่นำกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซล มาใส่เป็นกล้องคู่ แทนที่การใช้กล้องแบบอัลตราพิกเซลที่เคยใช้ใน One M8 แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคว่า ท้ายที่สุดแล้วเอชทีซีจะผลักดันเทคโนโลยีใดต่อไปในอนาคต
จุดนี้ ดา เร็น ซัง ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์อาวุโส บริษัท เอชทีซี ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นว่า ระบบกล้องที่เอชทีซีให้ความสำคัญมากที่สุดยังคงเป็น อัลตราพิกเซล เพราะถือว่ามีจุดเด่นในการถ่ายภาพในสภาวะที่มีแสงน้อยได้ดีที่สุดในปัจจุบัน ในขณะที่กล้องที่ใช้ความละเอียดแบบทั่วไปไม่สามารถบันทึกภาพให้เห็นรายละเอียดที่ชัดเจนได้
เพียงแต่เมื่อเทคโนโลยีของกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซล เอื้ออำนวยให้เอชทีซี นำมาใช้งานกับระบบกล้องคู่ เพื่อให้ได้ภาพที่มีขนาดใหญ่ กับความละเอียดที่มากขึ้น เอชทีซีก็ไม่รีรอที่จะนำมาเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ต้องการความคมชัด เพื่อให้สามารถซูมดูรายละเอียดของภาพได้มากขึ้น
***ย้อนคอนเซ็ปต์การออกแบบ
แนวคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของเอชทีซีในปี 2012 จะเน้นไปที่ 3 แนวทางหลักๆ คือ สะดวก (Simple) กล่าวคือ สามารถถือใช้งานได้ง่าย และไร้รอยต่อ (Unibody) ถัดมาคือ คงทน (Crafted) จากวัสดุที่มีความแข็งแรง และหลักการออกแบบเพื่อรับน้ำหนัก สุดท้ายคือ อารมณ์ (Emotional) ด้วยความโค้งมนของตัวเครื่องที่ให้ความรู้สึกที่ดี จนท้ายที่สุดกลายมาเป็น HTC One (M7) และพัฒนามาจนเป็น One M8
ขณะที่ Butterfly 2 จะใช้แนวคิดการออกแบบจากวัฒนธรรม และสีสันของญี่ปุ่น โดยใช้แนวโค้งตัดกัน 2 แนว เพื่อให้รับกับการถือใช้งาน ในขณะเดียวกัน ยังใส่ใจในรายละเอียดของสีที่แบ่งออกเป็น 3 สี คือ สีแดง (Rouge) สีน้ำเงินอมม่วง (Indigo) และสีขาวเซรามิก (Canvas)
โดยในสีแดง และน้ำเงินอมม่วง ตัวพื้นผิวของฝาหลังจะออกแนวมัน เงา (Glossy) เพื่อจับตลาดกลุ่มผู้หญิง ส่วนสีขาว จะมีลักษณะเป็นพื้นด้านที่มีการเคลือบสารป้องกันคราบสกปรก ที่เอชทีซี เคลมว่า สีขาวที่ใช้งานเมื่อใช้ไปนานๆ แล้วจะไม่เหลืองอย่างแน่นอน พร้อมกับทดลองนำดินสอมาเขียนบนฝาหลัง และเช็ดออกให้ดู (เหมือนสารที่เคลือบฝาหลังของ Sony Xperia S)
***ต่อยอดจาก One M8
HTC Butterfly 2 ถือเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นที่ 3 ที่นำความสามารถของ HTC One M8 มาต่อยอดเฉพาะตัว เพื่อให้กลายเป็นรุ่นแฟลกชิปในการทำตลาดช่วงปลายไตรมาส 3 ไปจนถึงไตรมาส 4 ในระดับราคาที่ใกล้เคียงจาก One M8 ในตอนที่เปิดตัว เพราะปัจจุบัน One M8 ที่เข้าสู่ตลาดในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ล่าสุด มีการปรับราคาลงมาเล็กน้อย
สิ่งที่เพิ่มขึ้นในจาก One M8 ใน Butterfly 2 คือ การเพิ่มความสามารถกันน้ำกันฝุ่นมาตรฐาน IP57 สามารถกันน้ำได้ 1 เมตร ไม่เกิน 30 นาที พร้อมกับเปลี่ยนเลนส์กล้อง Duo Camera เป็น 13 ล้านพิกเซล แทนที่กล้องอัลตราพิกเซลเดิม ในส่วนของลำโพงคู่หน้าก็ได้มีการจับมือกับทาง Harman ในการนำเทคโนโลยีเสียงของ JBL มาใส่ ที่เหลือยังคงฟังก์ชันเด่นๆ ของ M8 มาทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ ในส่วนของรุ่นที่ 2 ที่นำ One M8 มาต่อยอดคือ HTC One E8 ที่กำลังจะวางจำหน่ายในประเทศไทยภายในไตรมาสนี้ โดยเป็นการนำความสามารถของ M8 ทั้งหมด มาปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้เพื่อให้ต้นทุนถูกลง หันกลับไปใช้กล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซลแบบปกติ เพื่อทำตลาดในระดับราคาที่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ในราคา 17,900 บาท
ส่วนรุ่นที่ 4 ที่นำ One M8 มาใช้งาน และเพิ่งเปิดตัวในสหรัฐฯ ไปก็คือ HTC One (M8) for Windows ที่นำระบบปฏิบัติการวินโดวส์โฟน 8.1 มาใส่ใน One M8 และยังคงความสามารถเดิมอยู่ทั้งหมด เพื่อช่วยไมโครซอฟท์ในการทำตลาดสมาร์ทโฟนในสหรัฐฯ ภายใต้ความร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่อย่าง เวอไรซอน (Verizon)
***วินโดวส์โฟน ยังไม่เหมาะกับเอเชีย
แม้จะมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในสหรัฐฯ แต่ความคิดเห็นของผู้บริหารเอชทีซีในภูมิภาค เอเชีย ยังมองว่า กลุ่มผู้บริโภคในภูมิภาคนี้ยังคงให้ความสนใจกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มากกว่า จึงยังไม่มีแผนที่จะนำ One (M8) for Windows เข้ามาทำตลาดในช่วงเวลานี้ แต่ในอนาคตถ้าไมโครซอฟท์มีทิศทางที่สดใสขึ้น และโอกาสเอื้ออำนวยก็พร้อมที่จะนำเข้ามาทำตลาด
ทั้งนี้ Butterfly 2 จะเริ่มวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 29 สิงหาคม 2014 และจะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดอื่นในภูมิภาคเอเชีย อย่าง ไต้หวัน ในวันที่ 2 กันยายน ตามด้วย ฮ่องกง อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงช่วงต้นเดือนตุลาคม
***Zoe โซเชียลแพลตฟอร์ม
ก่อนหน้านี้ เอชทีซี ได้แนะนำโหมดถ่ายภาพภายใต้ชื่อ Zoe ที่แปลว่า มีชีวิต หรือคอนเซ็ปต์ของการใช้กล้องบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหวช่วงเวลาสั้นๆ แล้วเลือกออกมาเป็นภาพนิ่งในช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพื่อแชร์ หรือนำไปใช้งาน ทำให้ภายในอัลบั้มภาพของเอชทีซีที่ถูกถ่ายด้วยโหมด Zoe นั้นจะมีการเคลื่อนไหวให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวา และน่าสนใจมากขึ้น
แต่จากแผนการทำตลาดล่าสุดของ Zoe ทางเอชทีซี ได้มีการแยกบริษัทออกมาโดยเฉพาะ และปั้นให้ Zoe กลายเป็นโซเชียลแพลตฟอร์มสำหรับการแชร์ภาพเคลื่อนไหว โดยจะปล่อยให้ผู้ใช้งานแอนดรอยด์ เวอร์ชัน 4.4 ขึ้นไปดาวน์โหลดไปใช้งานได้ทันที
จุดเด่นของ Zoe ที่เป็นแพลตฟอร์มคือ ผู้ใช้จะสามารถเลือกชุดภาพที่ต้องการ ตัวแอปจะนำมาร้อยเรียงให้กลายเป็นเรื่องราวขึ้นมา โดยเปิดให้สามารถเลือกเพลงประกอบ เลือกธีม ใส่ตัวอักษรได้เอง หลังจากนั้น ก็สามารถแชร์ไปยังเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ ได้ด้วย
CyberBiz Social